คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8399/2559
ตามหนังสือของกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้แนบท้ายอุทธรณ์ระบุว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษได้หลายคน แต่ตามหนังสือดังกล่าวปรากฏว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในวันเวลาก่อนที่จำเลยจะถูกจับกุมดำเนินคดีนี้ และไม่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยถูกจับกุมเป็นคดีนี้แล้ว จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6160/2559
ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 นั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยเป็นผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ จนนำไปสู่การจับกุม ว. ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของกลางในคดีนี้ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 แม้จำเลยมิได้นำ พ.ต.ต. ส. ไปจับกุม ว. ก็ตาม หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลแล้วยากที่ พ.ต.ต. ส. จะสืบทราบว่า ว. จำหน่ายยาเสพติดให้โทษหรือไม่ ศาลจึงลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5898/2559
ข้อมูลที่ผู้กระทำความผิดให้ต่อเจ้าพนักงานตามที่กฎหมายบัญญัตินั้นต้องเป็นข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์ที่จะนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่นหรือนำไปสู่การยึดได้ยาเสพติดให้โทษจำนวนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของกลางในคดีนี้และเจ้าพนักงานไม่สามารถค้นพบหรือยึดได้หากไม่ได้รับข้อมูลจากผู้กระทำความผิด แม้หลังจากถูกจับกุมจำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมไปตรวจค้นเฮโรอีนของกลางที่ซุกซ่อนอยู่บริเวณกอกล้วยหลังบ้านจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่น ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมไปตรวจยึดเฮโรอีนของกลางได้ จึงมิใช่ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2559
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทที่ต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เท่ากับจำเลยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วย เพียงแต่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้” เมื่อความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษด้วย การที่จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2843/2559
การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม พ. ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 ได้ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะตามคำให้การของ น. ทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของ น. ที่ให้การเป็นขั้นเป็นตอนเกี่ยวกับการนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 มีน้ำหนักควรแก่การรับฟังยิ่งกว่าคำเบิกความของ น. ที่บ่ายเบี่ยงในทำนองช่วยเหลือจำเลยทั้งสองให้ไม่ต้องรับโทษ แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของ น. มีลักษณะเป็นพยานบอกเล่าและเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันแต่ก็ไม่ได้ให้การเพื่อปัดความรับผิดของตนเพียงแต่ให้การในรายละเอียดที่ตนเองประสบพบเห็นมา ส่วนที่ น. อ้างว่าเหตุที่ให้การซัดทอดถึงผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจพูดจูงใจเพื่อจะได้รับการบรรเทาโทษนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งให้ น. ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการให้หรือเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าพนักงานตำรวจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างของ น. จึงไม่อาจรับฟังได้
ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 หาได้ห้ามมิให้รับฟังพยานซัดทอดเลยเสียทีเดียวไม่ หากแต่ศาลพึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลยทั้งสอง เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานอื่นประกอบมาสนับสนุน คำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนต่อหน้าพันตำรวจโท ฉ. และทนายความ ซึ่งร่วมฟังการสอบสวนด้วยอันเป็นการตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน เชื่อว่าพนักงานสอบสวนจัดทำบันทึกคำให้การดังกล่าวถูกต้องตรงตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่ามีการจูงใจให้จำเลยที่ 2 ให้การซัดทอดบุคคลอื่นก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ แต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการให้หรือเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ดังเช่นกรณีของ น. ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าพนักงานตำรวจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้แจ้งให้ พ. สามีของจำเลยที่ 2 ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางจาก น. จึงมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อ พ. หยิบเมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจวางล่อไว้ในตู้โทรศัพท์สาธารณะ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด เมื่อปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางที่อยู่ในความครอบครองของ น. และ พ. กับจำเลยที่ 2 มีจำนวน 100 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 9.80 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.714 กรัม ซึ่งปริมาณของยาเสพติดดังกล่าวกฎหมายสันนิษฐานไว้เด็ดขาดว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1666/2559
การให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา ข้อมูลที่จำเลยอ้างว่าให้ข้อมูลแก่เจ้าพนักงานตำรวจจนสามารถจับกุมคนร้ายซึ่งเป็นเครือข่ายยาเสพติดให้โทษได้เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยจึงไม่อาจที่จะได้รับประโยชน์ตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9200/2558
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยเหตุผลสองประการ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงการให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดาที่มิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่ไม่ใช่ข้อมูลที่สำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหาได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ ดังนั้น แม้จำเลยได้ให้การเกี่ยวกับวิธีการที่กลุ่มนายทุนผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ในการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศ แต่ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนมีการสอบสวนขยายผลเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดอื่นโดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้กระทำความผิดอื่นที่จำเลยกล่าวอ้างมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ อีกทั้งการที่จำเลยให้ข้อมูลว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่บ้านของจำเลย พร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลาง แต่ของกลางถูกเก็บไว้อยู่ในบ้านของจำเลยเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าหลังจากจับกุมจำเลยแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจะต้องมีการสอบคำให้การถึงแหล่งที่มาของยาเสพติด และต้องติดตามไปตรวจค้นที่บ้านพักของจำเลยและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก การให้ข้อมูลของจำเลยจึงมิใช่เป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5415/2558
ระหว่างจำเลยต้องคุมขังอยู่ที่เรือนจำ จำเลยเขียนจดหมายถึงเจ้าพนักงานตำรวจว่า จำเลยมีความประสงค์แจ้งเบาะแสและข้อมูลเกี่ยวกับการลำเลียงยาเสพติดครั้งใหม่ ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ไปสอบคำให้การจำเลยเพิ่มเติม จำเลยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเท่านั้น โดยมิได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังที่จำเลยกล่าวอ้างในจดหมาย แม้จำเลยเบิกความว่าแจ้งเบาะแสแก่เจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับกลุ่มชาวเขาซึ่งใช้รถกระบะ 2 คัน มารับยาเสพติดตรงตามบันทึกการจับกุมผู้กระทำความผิดในช่วงเวลาเดียวกับที่จำเลยอ้างในจดหมาย แต่ตามบันทึกการจับกุมดังกล่าวได้ความว่า การจับกุมผู้ต้องหาสืบเนื่องมาจากการสืบสวน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าพนักงานผู้จับกุมและเจ้าพนักงานตำรวจตามบันทึกการจับกุมนั้นมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลในการจับกุมผู้กระทำความผิดโดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th