Home คดีอาญา เรื่องควรรู้เกี่ยวกับฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

7387

หลากหลายปัญหาไม่ว่าจะเกิดจากตัวความหรือตัวจำเลยเอง หรือทนายความในคดีที่ประมาทเลินเล่อในการทำงาน ทำคำฟ้องฎีกาที่แถบจะคัดลอกมาจากคำอุทธรณ์ ทำให้เป็นปัญหาต่อตัวความหรือจำเลยในคดีมานักต่อนัก คำถามที่ว่า หากคำฟ้องฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เพียงแต่เปลี่ยนจากศาลอุทธรณ์เป็นศาลฎีกา คำฟ้องฎีกาดังกล่าวชอบกฎหมายที่ศาลฎีกาจะรับไว้วินิจฉัยหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6410/2559

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 352 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 535,877 บาท แก่ผู้เสียหายและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 1,490,203.75 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก และจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี คำให้การของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 2 ปี 2 กระทง รวมจำคุก 4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 535,877 บาท แก่ผู้เสียหายและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,490,203.75 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เฉพาะข้อหาร่วมกันยักยอกอะไหล่ คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี และยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 1,490,203.75 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง เห็นว่า จำเลยทั้งสองฎีกาโดยคัดลอกข้อความมาจากอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองทั้งสิ้น คงมีการแก้ไขเฉพาะคำว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นศาลฎีกา และมีส่วนเพิ่มเติมหรือพิมพ์ตกหรือพิมพ์ผิดไปจากอุทธรณ์บ้างเล็กน้อยในรายละเอียด ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการโต้แย้งเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่าพิพากษาไม่ชอบอย่างไรหรือไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพราะเหตุใด ทั้งเหตุผลในการวินิจฉัยคดีของศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็แตกต่างกัน โดยเฉพาะในความผิดข้อหาร่วมกันยักยอกอะไหล่ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้โดยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ แต่จำเลยที่ 1 ยังคงฎีกาในข้อหาดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดอีก ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

สรุป ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี lawyers.in.th

Facebook Comments