Home คดีแพ่ง ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ในการรักษาพยาบาล โดยไม่ได้จ่ายจริงมีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่

ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ในการรักษาพยาบาล โดยไม่ได้จ่ายจริงมีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่

6079

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8467/2559

ปัญหาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจำนวน 758,467 บาท เพราะเหตุที่โจทก์ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ในการรักษาพยาบาล โดยไม่ได้จ่ายจริง หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่ได้ให้การไว้ ก็ย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้ ในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามใบแจ้งค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาล อันเนื่องจากการใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อันเป็นสิทธิของโจทก์ตามที่กฎหมายกำหนดให้ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลได้

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสี่ ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทน 1,091,267 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 มิถุนายน 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระต่อศาลในนามของโจทก์

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ขับรถบรรทุกสิบล้อพ่วง หมายเลขทะเบียน 70 – 3245 สระบุรี อันมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถคันนี้ไว้จากจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่ว่าจ้างเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่มีโจทก์นั่งซ้อนท้ายมาล้มลงที่บริเวณสะพานน้ำน้อย ถนนกาญจนวนิช ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ระหว่างพิจารณาในคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแขวงสงขลา จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 วางเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 250,000 บาท และ 300,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งโจทก์ได้รับเงินดังกล่าวไปแล้ว ในคดีนี้ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าสินไหมทดแทนตรงกันให้โจทก์ได้รับเป็นค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นเงิน 758,467 บาท ค่านวดคลายเส้นและจัดกระดูก ยาหม้อ ค่าพาหนะในการเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อการรักษาต่อเนื่อง เป็นเงิน 250,000 บาท ค่ารักษาแพทย์แผนโบราณเป็นเงิน 32,800 บาท และค่าขาดความสามารถในการประกอบการงานเป็นเงิน 600,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,641,267 บาท โดยให้หักเงินที่โจทก์ได้รับชดใช้ในคดีอาญาออกแล้วคงเหลือ 1,091,267 บาท สำหรับจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยต้องร่วมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นเงิน 100,000 บาท และตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก เป็นเงิน 250,000 บาท เมื่อหักเงินที่จำเลยที่ 4 วางชดใช้ในคดีแล้ว คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 4 ต้องรับผิด 50,000 บาท ซึ่งหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 4 ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยมาวางศาลในคดีนี้แล้ว โดยไม่ติดใจอุทธรณ์

มีปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาเพียงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจำนวน 758,467 บาท เพราะเหตุที่โจทก์ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ในการรักษาพยาบาล โดยไม่ได้จ่ายเงินจริง ปัญหานี้สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองว่า แม้โจทก์จะไม่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับตามโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ผู้ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดต้องระงับไป เพราะเป็นสิทธิของโจทก์ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 อันเป็นการวินิจฉัยสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจำนวนนี้ว่ามีหรือไม่ จึงเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่ได้ให้การไว้ ก็ย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้ ในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามใบแจ้งค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์อันเนื่องจากการใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อันเป็นสิทธิของโจทก์ตามที่กฎหมายกำหนดให้ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดด้วยโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่า หากรัฐบาลเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลในส่วนนี้จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็จะทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องรับผิดซ้ำซ้อนกันอีก ทำนองว่าเมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้สิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประสบภัยจากรถใช้สิทธิรับบริการเอาจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 12 ซึ่งจะทำให้สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 นั้น ก็เห็นได้ว่า การจ่ายเงินจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถนั้นเป็นเพียงการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น ข้อเท็จจริงตามท้องสำนวนไม่ปรากฏว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้สิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขที่โจทก์รับบริการเอาจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยตามภาระหน้าที่ที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย และสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีข้ออ้างกรณีจะต้องรับผิดซ้ำซ้อนกันมาเป็นข้อแก้ตัวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลได้นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ค่ารักษาพยาบาลตามใบแจ้งมีจำนวน 753,467 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองกล่าวมาในคำวินิจฉัยว่ามีจำนวน 758,467 บาทแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระเงินไปตามนั้น จึงไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 เมื่อค่ารักษาพยาบาลมีจำนวนที่ถูกต้อง 753,467 บาท จึงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องร่วมกันรับผิดทั้งหมด 1,086,267 บาท

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทน1,086,267 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ความรับผิดของจำเลยที่ 4 และนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments