Home คดีครอบครัว เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ชวนเด็กต่ำกว่า 15 เข้าห้องนอน ผู้ชวนและเจ้าของบ้านมีความผิดหรือไม่

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ชวนเด็กต่ำกว่า 15 เข้าห้องนอน ผู้ชวนและเจ้าของบ้านมีความผิดหรือไม่

12732

คำถาม

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ชวนเด็กต่ำกว่า 15 เข้าห้องนอน ผู้ชวนและเจ้าของบ้านมีความผิดหรือไม่

มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2560

การกระทำที่เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลนั้นต้องมีลักษณะเป็นการพาไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีผลกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิในลักษณะเดียวกับสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 ได้แก่ กำหนดที่อยู่ของเด็ก ทำโทษเด็กตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ให้เด็กทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถ เรียกเด็กคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักเด็กไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่อหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กตามมาตรา 1567 เป็นต้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านของจำเลย เป็นเพราะ ม. ชักชวนไป โดยจำเลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แม้เหตุคดีนี้จะเกิดขึ้นภายในบ้านของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 หรือมีการกระทำอันเป็นการกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายของผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยกระทำความผิดก็ด้วยเรื่องที่ชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนของตนเพื่อการอนาจารนั้น ก็ต้องแยกเจตนาและการกระทำออกเป็นสองส่วน ได้แก่ จำเลยชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนส่วนหนึ่ง และจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารอีกส่วนหนึ่ง โดยต้องพิจารณาเสียก่อนว่าจะชวนเข้าไปในห้องนอนดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปได้ว่าจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารที่มีผลให้ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 317 วรรคสามหรือไม่ ความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเพียงเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปโดยปราศจากเหตุอันสมควรหรือความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ย่อมเป็นความผิดสำเร็จได้ในตัวเอง หาจำต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจารอันเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของความผิดตามมาตรา 317 วรรคสามประกอบด้วยไม่ กล่าวคือ แม้ไม่มีการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ก็มีความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกได้โดยสมบูรณ์ จึงจะนำเรื่องเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสาม ย้อนกลับมาถือเป็นเหตุให้การกระทำนั้นปราศจากเหตุอันสมควรหรือต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามมาตรา 317 วรรคแรกหาได้ไม่ กรณีเห็นได้ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเพียงการชวนให้บุคคลใดเข้าไปในห้องนอนของตนเท่านั้น เมื่อไม่เอาองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ที่ว่าเป็นไปเพื่อการอนาจารมาพิจารณาประกอบด้วย ก็ย่อมถือไม่ได้อยู่เองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร กลับกันเป็นว่าผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปโดยไม่ถือว่าปราศจากเหตุอันสมควรอีกต่างหาก ในกรณีผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีอายุ 14 ปีแล้วจะเข้าไปหรือไม่ ย่อมมีอิสระตัดสินใจได้เองตามสมควร มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าไม่ว่าผู้ใดชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ใดหรือเข้าไปภายในหรือบริเวณใดของบ้านหรือสถานที่ธรรมดาทั่วไป ก็ต้องขอหรือกลับไปขอความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 2 ทุกครั้งไป ซึ่งขัดต่อสภาพความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรก เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเสียแล้ว ย่อมไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสามหรือไม่อีกต่อไป

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 283 ทวิ, 317

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุกกระทงละ 6 ปี และปรับกระทงละ 10,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสามหรือไม่นั้น โจทก์มีนางสาว ว. ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 ช่วงเวลาเช้า นางสาว ม. ไม่ทราบชื่อสกุล คนรักของน้องชายจำเลย ชวนพยานไปบ้านของจำเลย พยานนั่งเล่นที่บ้านของจำเลยจนถึงช่วงเย็น จำเลยก็มาชวนพยานเข้าไปในห้องนอนของจำเลย พยานรู้สึกรักจำเลยจึงตามจำเลยไปและยินยอมร่วมประเวณีกับจำเลย วันนั้นพยานกลับบ้านโดยบิดามารดาของจำเลยไปส่ง ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2552 นางสาว ม. ชวนพยานไปบ้านของจำเลยอีก พยานไปนั่งเล่นบ้านของจำเลยเช่นเดิม จำเลยชวนพยานเข้าไปร่วมประเวณีในห้องนอนของจำเลยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นพยานนอนค้างที่บ้านของจำเลยเป็นเวลา 2 ถึง 3 คืน นางสาว ม. จึงพาพยานกลับบ้าน เห็นว่า การกระทำที่เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลนั้นต้องมีลักษณะเป็นการพาไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีผลกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิในลักษณะเดียวกับสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 ได้แก่ กำหนดที่อยู่ของเด็ก ทำโทษเด็กตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ให้เด็กทำการงาน ตามสมควรแก่ความสามารถ เรียกเด็กคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักเด็กไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่อหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กตามมาตรา 1567 เป็นต้น คดีนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านของจำเลย เป็นเพราะนางสาว ม. ชักชวนไป โดยจำเลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แม้เหตุคดีนี้จะเกิดขึ้นภายในบ้านของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 หรือมีการกระทำอันเป็นการกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายของผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยกระทำความผิดก็ด้วยเรื่องที่ชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนของตนเพื่อการอนาจารนั้น ก็ต้องแยกเจตนาและการกระทำออกเป็นสองส่วน ได้แก่ จำเลยชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนส่วนหนึ่ง และจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารอีกส่วนหนึ่ง โดยต้องพิจารณาเสียก่อนว่าจะชวนเข้าไปในห้องนอนดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปได้ว่าจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารที่มีผลให้ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 317 วรรคสามหรือไม่ ความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเพียงเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปโดยปราศจากเหตุอันสมควรหรือความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ย่อมเป็นความผิดสำเร็จได้ในตัวเอง หาจำต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจารอันเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของความผิดตามมาตรา 317 วรรคสามประกอบด้วยไม่ กล่าวคือ แม้ไม่มีการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ก็มีความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกได้โดยสมบูรณ์ จึงจะนำเรื่องเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสาม ย้อนกลับมาถือเป็นเหตุให้การกระทำนั้นปราศจากเหตุอันสมควรหรือต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามมาตรา 317 วรรคแรกหาได้ไม่ กรณีเห็นได้ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเพียงการชวนให้บุคคลใดเข้าไปในห้องนอนของตนเท่านั้น เมื่อไม่เอาองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ที่ว่าเป็นไปเพื่อการอนาจารมาพิจารณาประกอบด้วย ก็ย่อมถือไม่ได้อยู่เองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร กลับกันเป็นว่าผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปโดยไม่ถือว่าปราศจากเหตุอันสมควรอีกต่างหาก ในกรณีผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีอายุ 14 ปีแล้วจะเข้าไปหรือไม่ ย่อมมีอิสระตัดสินใจได้เองตามสมควร มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าไม่ว่าผู้ใดชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ใดหรือเข้าไปภายในหรือบริเวณใดของบ้านหรือสถานที่ธรรมดาทั่วไป ก็ต้องขอหรือกลับไปขอความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 2 ทุกครั้งไป ซึ่งขัดต่อสภาพความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรก ส่วนที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่าค้างอยู่ที่บ้านของจำเลยอีก 2 ถึง 3 คืนภายหลังจากนั้น นอกจากไม่ปรากฏว่าเกิดจากการกระทำของจำเลยหรือไม่ โดยอาจเกิดจากนางสาว ม.หรือบุคคลอื่นในครอบครัวของจำเลยก็ได้ โจทก์ยังระบุในฟ้องว่า จำเลยพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 และกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ครั้งที่สองในวันที่ 27 เมษายน 2552 เท่านั้น หาได้รวมถึงการค้างที่บ้านของจำเลยภายหลังจากนั้นไม่ ทั้งโจทก์เองก็ไม่ได้ฎีกาในปัญหาส่วนนี้มาอีกด้วย แสดงว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษสำหรับการกระทำส่วนนี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ และในเมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเสียแล้ว ย่อมไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสามหรือไม่อีกต่อไป ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments