คำถาม
สามีภริยาตกลงกันในรายงานกระบวนพิจารณาคดีที่ฟ้องกัน ว่าจะคืนเงินที่มีบัญชีร่วมกันให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อไม่ปฎิบัติตามฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่
คำตอบเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4211/2531
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาทำร้ายร่างกาย ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์จำเลยตกลงกัน ศาลได้บันทึกข้อตกลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า “จำเลยรับว่าได้ทำร้ายร่างกายโจทก์จริง โจทก์ว่าเมื่อจำเลยรับแล้ว ก็ไม่ติดใจจะว่ากล่าวกับจำเลย เงินในบัญชีธนาคารซึ่งใส่ชื่อร่วมกันอยู่ จำเลยจะคืนให้โจทก์และจะให้อีก400,000 บาท โดยจะชำระให้ภายใน 6 เดือนแรก 200,000 บาท ที่เหลือภายใน 6 เดือนหลัง นอกจากข้อตกลงนี้แล้วคู่ความไม่ติดใจเรียกร้องอะไรต่อกัน โจทก์ขอถอนฟ้อง จำเลยไม่ค้านจำหน่ายคดี” ดังนี้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวที่โจทก์ไม่ติดใจว่ากล่าวกับจำเลยเพราะจำเลยรับว่าได้ทำร้ายโจทก์ ไม่มีเงื่อนไขหรือมีความหมายว่าจำเลยจะให้เงินโจทก์เมื่อโจทก์ถอนฟ้อง และเป็นบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 และมิได้เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาโดยตรง ซึ่งจำเลยมีสิทธิบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1469 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงใช้บังคับได้
สรุป ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ให้แก่โจทก์รวมทั้งค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ในระหว่างแยกกันอยู่นั้นด้วย จึงย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย หาได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา113 หรือเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาโดยตรงซึ่งจำเลยมีสิทธิจะบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1469 ดังที่จำเลยฎีกาไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าว และไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกเงิน 500,000บาทคืนจากโจทก์”‘
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th
ฎีกายาว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4211/2531
-
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาทำร้ายร่างกาย ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์จำเลยตกลงกัน ศาลได้บันทึกข้อตกลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า “จำเลยรับว่าได้ทำร้ายร่างกายโจทก์จริง โจทก์ว่าเมื่อจำเลยรับแล้ว ก็ไม่ติดใจจะว่ากล่าวกับจำเลย เงินในบัญชีธนาคารซึ่งใส่ชื่อร่วมกันอยู่ จำเลยจะคืนให้โจทก์และจะให้อีก400,000 บาท โดยจะชำระให้ภายใน 6 เดือนแรก 200,000 บาท ที่เหลือภายใน 6 เดือนหลัง นอกจากข้อตกลงนี้แล้วคู่ความไม่ติดใจเรียกร้องอะไรต่อกัน โจทก์ขอถอนฟ้อง จำเลยไม่ค้านจำหน่ายคดี” ดังนี้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวที่โจทก์ไม่ติดใจว่ากล่าวกับจำเลยเพราะจำเลยรับว่าได้ทำร้ายโจทก์ ไม่มีเงื่อนไขหรือมีความหมายว่าจำเลยจะให้เงินโจทก์เมื่อโจทก์ถอนฟ้อง และเป็นบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 และมิได้เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาโดยตรง ซึ่งจำเลยมีสิทธิบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1469 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงใช้บังคับได้
-
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาทำร้ายร่างกายในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยยอมรับว่าได้กระทำความผิดและขอประนีประนอมยอมความ ตกลงชำระเงินให้โจทก์ โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระเงินตามข้อตกลง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา จำเลยบอกล้างแล้ว ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์คืนเงินในบัญชีฝากที่มีชื่อร่วมกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยและยกฟ้องแย้งจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาที่ว่า “ข้อตกลงของโจทก์จำเลยเป็นโมฆะหรือมีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์จำเลยจะเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย แต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะทำร้ายร่างกายและหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้โจทก์เสื่อมเสียเสรีภาพได้ การที่จำเลยทำร้ายร่างกายและหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ จึงเป็นการกระทำความผิดอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวและเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ตามบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 5 สิงหาคม 2526 มีข้อความชัดเจนในตอนแรกว่า “จำเลยยอมรับว่าได้ทำร้ายโจทก์จริง โจทก์ว่าเมื่อจำเลยรับแล้ว โจทก์ไม่ติดใจจะว่ากล่าวกับจำเลย จำเลยแถลงว่าเงินในบัญชีธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาเอกมัย ซึ่งใส่ชื่อร่วมกันอยู่ทางจำเลยขอคืนให้โจทก์ และจะให้อีก 400,000 บาท แต่ขอเวลารวบรวมชั้นนี้ให้ทั้งคู่แยกกันอยู่เป็นเวลา 1 ปี แล้วจะมาตกลงว่าจะจดทะเบียนหย่ากันหรือไม่ ระหว่างนี้จำเลยรับจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับโจทก์อีก ทางโจทก์รับเรื่องเงินแต่เรื่องหย่าขอเวลาตัดสินใจไปคิดก่อนโดยขอศาลนัดมาพูดจากันวันที่ 9 สิงหาคม 2526 เวลา 13.30นาฬิกา” ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงฉบับแรกนี้ ไม่มีข้อความใดว่า โจทก์จะยอมถอนฟ้องคดีอาญาให้จำเลย และมีข้อความชัดว่าเมื่อจำเลยรับว่าทำร้ายโจทก์แล้วโจทก์ก็ไม่ติดใจจะว่ากล่าวกับจำเลย ดังนั้นการที่โจทก์ไม่ติดใจว่ากล่าวกับจำเลยก็เพราะจำเลยรับว่าได้ทำร้ายโจทก์ ไม่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินและเรื่องหย่าต่อมามีบันทึกข้อตกลงในวันที่ 9 สิงหาคม 2526 ว่า “คู่ความแถลงตกลงรอการไปจดทะเบียนหย่าไว้ 2 ปี และจะพูดจากันใหม่เมื่อครบกำหนด ชั้นนี้ให้ทั้งคู่ทำการค้า ทำนิติกรรมใด ๆ เป็นการส่วนตัวได้ โดยถือว่าอีกฝ่ายยินยอม แต่ทั้งสองฝ่ายจะไม่ผูกพันตามนิติกรรมที่ฝ่ายใดทำขึ้นระหว่างนี้ ทางจำเลยยอมให้ศาลมีหนังสือแจ้งไปยังธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาเอกมัย ให้โจทก์ถอนเงินในบัญชีที่มีชื่อร่วมกันแต่ฝ่ายเดียว โดยจำเลยไม่มีสิทธิในเงินนี้อีกต่อไป ส่วนเงิน 400,000 บาท ที่จำเลยจะให้โจทก์ จำเลยจะมอบให้200,000 บาท ภายใน 6 เดือนแรกที่เหลือภายใน 6 เดือนหลัง นอกจากข้อตกลงดังกล่าวคู่ความไม่ติดใจเรียกร้องอะไรต่อกัน และถือว่าไม่มีใครมีทรัพย์สินอยู่ในความครอบครองของอีกฝ่ายหนึ่ง ในเรื่องนิติกรรม หากครบ 1 ปีแล้วคู่ความประสงค์จะอยู่กินอย่างสามีภรรยากัน ข้อตกลงระหว่างปีนี้ก็หมดสิ้นไป ส่วนความยินยอมการทำนิติกรรมนั้นให้ถือบันทึกนี้เป็นหนังสือยินยอมเมื่อตกลงแล้ว โจทก์ขอถอนฟ้อง จำเลยไม่ค้าน ศาลอนุญาต จำหน่ายคดี” ซึ่งตามบันทึกฉบับหลังนี้ เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาการแยกกันอยู่เพื่อจะดูว่าจะจดทะเบียนหย่าหรือไม่ และเวลาจ่ายเงิน 400,000 บาทที่จำเลยจะให้โจทก์ ไม่มีเงื่อนไขหรือมีความหมายว่า จำเลยจะให้เงิน 400,000บาท แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ถอนฟ้อง แต่เหตุผลที่โจทก์ถอนฟ้องก็เพราะจำเลยยอมรับว่า จำเลยทำร้ายโจทก์จริง โจทก์จึงไม่ติดใจว่ากล่าวกับจำเลย ส่วนเงิน 400,000 บาท ที่จำเลยจะให้โจทก์และยอมให้โจทก์มีสิทธิถอนเงินฝากในธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาเอกมัยที่มีชื่อร่วมกันแต่เพียงผู้เดียวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ให้แก่โจทก์รวมทั้งค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ในระหว่างแยกกันอยู่นั้นด้วย จึงย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย หาได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา113 หรือเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาโดยตรงซึ่งจำเลยมีสิทธิจะบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1469 ดังที่จำเลยฎีกาไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าว และไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกเงิน 500,000บาทคืนจากโจทก์”
พิพากษายืน