Home คดีอาญา เห็นบุตรถูกทำร้าย หยิบอาวุธปืนมาจากรถยนต์เพื่อป้องกันบุตรและกระสุนปืนลั่นระหว่างถูกแย่งอาวุธ ผิดฐานพยายามฆ่าหรือไม่

เห็นบุตรถูกทำร้าย หยิบอาวุธปืนมาจากรถยนต์เพื่อป้องกันบุตรและกระสุนปืนลั่นระหว่างถูกแย่งอาวุธ ผิดฐานพยายามฆ่าหรือไม่

14249

คำถาม

เห็นบุตรถูกทำร้าย หยิบอาวุธปืนมาจากรถยนต์เพื่อป้องกันบุตรและกระสุนปืนลั่นระหว่างถูกแย่งอาวุธ ผิดฐานพยายามฆ่าหรือไม่

คำตอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17391/2557

โจทก์ก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91, 288, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ริบอาวุธปืน ซองบรรจุเครื่องกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืนและซองพกแบบหนังที่ใช้ใส่อาวุธปืนของกลาง

ระหว่างพิจารณา นายอภิรักษ์ ผู้เสียหายที่ 3 โดยนายไพโรจน์ ผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่า และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 441,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันยื่นคำร้อง

จำเลยให้การปฏิเสธและให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72, 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าสองกระทง จำคุกกระทงละ10 ปี ฐานพยายามฆ่าโดยบันดาลโทสะ จำคุก 6 ปี ฐานพาอาวุธ จำคุก 6 เดือนรวมสี่กระทง เป็นจำคุก 26 ปี 6 เดือน ริบอาวุธปืน ซองบรรจุเครื่องกระสุนปืนปลอกกระสุนปืนและซองพกแบบหนังที่ใช้ใส่อาวุธปืนของกลาง ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ร่วม 240,000 บาท (สองแสนสี่หมื่นบาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันเกิดเหตุ (วันที่ 20 สิงหาคม 2552) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม

โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสและฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 และมาตรา 376 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 6,000 บาท ฐานพาอาวุธปืน ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 คืนของกลางแก่จำเลย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทน (วันที่ 11 สิงหาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนคดีแพ่งชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ในวันและเวลาตามฟ้อง จำเลย นายอัครวินท์ และนางวนิดา บุตรและภริยาของจำเลยเข้าไปในโรงอาหารของโรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม ที่โจทก์ร่วม ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และบุตรของจำเลยศึกษาอยู่ เมื่อจำเลยพบโจทก์ร่วมผู้เสียหายที่ 1และที่ 2 จำเลยได้สอบถามโจทก์ร่วมว่า ใครเป็นคนรุมทำร้ายบุตรจำเลย จากนั้นนายอัครวินท์ชกต่อยกับโจทก์ร่วมได้สักครู่หนึ่งก็มีนางภัทธิกานันท์ซึ่งเป็นครูเข้ามาห้าม และให้โจทก์ร่วมไปพบครูผู้ปกครองที่ห้องผู้บริหาร มีผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 กับพวกนั่งรออยู่ที่หน้าห้อง ส่วนจำเลยกับบุตรและภริยานั่งรออยู่ที่ม้าหินริมสนามฟุตบอลห่างจากห้องบริหารของโรงเรียนประมาณ 30 ถึง 40 เมตร ระหว่างโจทก์ร่วมอยู่กับนางขนิษฐาซึ่งเป็นครูผู้ปกครอง นางขนิษฐาได้กล่าวตำหนิโจทก์ร่วมอย่างรุนแรง โจทก์ร่วมวิ่งออกจากห้องดังกล่าวมีผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวกตามไปด้วย โจทก์ร่วมเข้าไปชกนายอัครวินท์ จำเลยจึงไปหยิบอาวุธปืนที่รถยนต์ของจำเลยออกมา ต่อมาโจทก์ร่วมแย่งอาวุธปืนจากจำเลย เป็นเหตุให้กระสุนถูกบริเวณโคนขาของโจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บตามรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วม ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ และค่าเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับมีเพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่าจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองได้ความว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อภยันตรายขึ้นก่อนโดยวิ่งเข้าไปชกนายอัครวินท์จนล้มลง และน่าเชื่อว่านอกจากมีผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวกวิ่งตามไปแล้วยังมีผู้อื่นวิ่งตามไปด้วยเพราะก่อนหน้านี้พวกของผู้เสียหายได้นั่งรอโจทก์ร่วมอยู่ จากคำเบิกความของร้อยตำรวจโทสมควรและบันทึกการจับกุม ก็ได้ความว่านายอัครวินท์บุตรของจำเลยถูกทำร้ายก่อน สอดคล้องกับคำเบิกความของนางบุญศิริ ครูโรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม พยานจำเลยซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่บุตรของจำเลยถูกทำร้ายว่า ขณะที่พยานเดินไปที่รถยนต์ของพยานเห็นเด็กถูกรุมทำร้ายด้วยของแข็งและท่อน้ำ พยานได้ตะโกนบอกให้ทุกคนหยุด แต่ไม่มีใครฟัง ซึ่งคนที่ถูกทำร้ายก็คือบุตรของจำเลย น่าเชื่อว่าพยานเบิกความไปตามจริงเพราะไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดเมื่อพิจารณารายงานตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ที่ได้ตรวจร่างกายนายอัครวินท์ บันทึกแจ้งความของจำเลย ว่าบุตรของจำเลยถูกรุมทำร้ายและภาพถ่ายบาดแผล สอดคล้องไปในทางเดียวกันว่านายอัครวินท์ถูกรุมทำร้ายจริงมีรอยฟกช้ำหลายแห่ง ดังนั้นการที่จำเลยไปหยิบอาวุธปืนจากรถยนต์มาเพื่อป้องกันบุตรของตน จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้เป็นบิดาและเหตุที่กระสุนปืนลั่นก็เกิดจากแย่งอาวุธปืนระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วมอันสืบเนื่องมาจากจำเลยใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันบุตรของตนดังกล่าว มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแต่ประการใด ตามหลักฐาน จำเลยเป็นสมาชิกวิสามัญชมรมยิงปืน ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ เชื่อว่าหากจำเลยประสงค์จะฆ่าโจทก์ร่วมย่อมกระทำได้ เพราะมีความรู้ความถนัดในการใช้อาวุธปืนการจ้องปืนไปที่โจทก์ร่วมไม่น่าจะมีเจตนาฆ่า เพียงแต่ต้องการยุติการที่บุตรของตนถูกทำร้าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันตนพอสมควรแก่เหตุ จึงไม่เป็นความผิดดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 และมาตรา 376 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาคดีส่วนอาญาต้องผูกพันคดีส่วนแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 449 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้หยิบยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ภาค 1 บางส่วน ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส และข้อหายิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมนุมชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 376 ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหายที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

สรุปเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773

Facebook Comments