Home คดีครอบครัว ฝ่ายชายจ่ายค่าเทอมลูกแล้ว ฝ่ายหญิงมีสิทธิฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตรอีกหรือไม่ และศาลมีหลักการและวิธีคิดอย่างไร

ฝ่ายชายจ่ายค่าเทอมลูกแล้ว ฝ่ายหญิงมีสิทธิฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตรอีกหรือไม่ และศาลมีหลักการและวิธีคิดอย่างไร

16746

-คำแนะนำเกี่ยวกับค่าเลี้ยงดูบุตร

หลายคนอาจไม่ทราบว่าการฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้น ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการฟ้องร้องและการพิจารณาคดีไว้เป็นพิเศษซึ่งค่อนข้างแตกต่างกับคดีแพ่งทัวไป ซึ่งมีสาระสำคัญพิเศษแค่ไหน ทีมงานทนายกฤษดา ขออนุญาตนำท่านไปให้ความรู้ด้วยกันหากใครยังไม่เคยอ่านคลิก 8เรื่องต้องรู้ พร้อมวิธีฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

-ในประเด็นปัญหาเรื่องที่ว่า

ค่าเลี้ยงดูบุตร ฝ่ายชายจ่ายค่าเทอมลูกแล้ว ฝ่ายหญิงมีสิทธิฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตรอีกหรือไม่ และศาลมีหลักการและวิธีคิดอย่างไร เคยมีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

-หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 296, 1564, 1598/38, 1598/39

บทวิเคราะห์คำพิพากษาฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7108/2551

(หลักการและข้อกฎหมาย)

     ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า บิดาและมารดามีหน้าที่ร่วมกันในการให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะทำนองเป็นลูกหนี้ร่วมกัน หาใช่เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวไม่ ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 การกำหนดความรับผิดเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายดังกล่าวอาจกำหนดโดยนิติกรรมสัญญาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ถึงแม้โจทก์และจำเลยจะแยกกันอยู่และโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยกับโจทก์ก็ตาม

(ประเด็นความลับผิดเมื่อมีข้อต่อสู้ว่าตนชำระไปแล้ว)

           เมื่อมิได้ตกลงกันให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเพื่อแบ่งส่วนตามความรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดชำระค่าค่าเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มีทรัพย์สินมากกว่าและโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยเพื่อปฏิเสธที่จะไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ แม้จำเลยจะได้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ดังที่จำเลยอ้างก็เป็นเรื่องให้การศึกษาซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่าอุปการะเลี้ยงดู จำเลยก็จะนำมาอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่

(หลักการการวินิจฉัย)

          ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเห็นสมควรเป็นจำนวนเพียงใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดโดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/2538 ทั้งศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกในภายหลังได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/2539

ทุนทรัพย์ที่จะนำมาคำนวณในการชำระค่าขึ้นศาลแต่ละชั้นศาลตามตาราง 1 (1) ท้าย ป.วิ.พ. ต้องเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในแต่ละชั้นศาล ส่วนทุนทรัพย์หรือจำนวนเงินที่จะต้องชำระหลังจากวันฟ้องในศาลชั้นต้นเป็นหนี้ในอนาคตไม่ถือเป็นทุนทรัพย์ที่จะนำมาคิดคำนวณเพื่อชำระค่าขึ้นศาล เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์คนละ 8,000 บาท ต่อเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้เป็นการพิพากษาให้ชำระหนี้ในอนาคตจึงไม่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาที่จะนำมาคิดคำนวณเป็นค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ การที่จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่าไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นระยะเวลาในอนาคตที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ก็ไม่ต้องด้วยตาราง 1 (4) ท้าย ป.วิ.พ. เพราะกรณีตามตาราง 1 (4) เป็นกรณีที่ขอให้ชำระ ดังนั้น อุทธรณ์และฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องชำระค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (2) (ก) คือ 200 บาท เท่านั้น แต่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาเกินมา เห็นสมควรคืนค่าขึ้นส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลย

คำพิพากษาฎีกาเต็ม

            โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลย ให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองอยู่กับโจทก์แต่เพียงผู้เดียว ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรทั้งสองจะเรียนจบชั้นอุดมศึกษา และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

           จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์ คนละ 8,000 บาท ต่อเดือนนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 สิงหาคม 2545) จนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

           โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

             ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2529 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กหญิงปีย์วรา และเด็กชายวารมาฆ ระหว่างอยู่กินด้วยกันโจทก์และจำเลยมีปัญหาขัดแย้งและทัศนคติไม่ตรงกัน เคยมีปากเสียงและทะเลาะกัน ระหว่างปี 2539 ถึงปี 2542 โจทก์ได้ออกจากบ้านพักอาศัยไปอยู่ที่อื่นตามลำพัง ต่อมาปี 2545 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ออกจากบ้านไปพักอาศัยอยู่ที่อื่นอีกครั้งโดยพาบุตรทั้งสองไปด้วย และคดีเป็นยุติว่าไม่มีเหตุหย่าตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยไม่จำต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์

              ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองหรือไม่เพียงใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าบิดาและมารดามีหน้าที่ร่วมกันในการให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะทำนองเป็นลูกหนี้ร่วมกันหาใช่เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวไม่ ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 296 การกำหนดความรับผิดเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายดังกล่าวอาจกำหนดโดยนิติกรรม สัญญาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ถึงแม้โจทก์และจำเลยจะแยกกันอยู่และโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยกับโจทก์ก็ตาม เมื่อมิได้ตกลงกันให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 296 จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดชำระค่าเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง

           จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มีทรัพย์สินมากกว่าและโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยเพื่อปฏิเสธที่จะไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ แม้จำเลยจะได้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียนดังที่จำเลยอ้างก็เป็นเรื่องให้การศึกษาซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่าอุปการะเลี้ยงดู จำเลยก็จะนำมาอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่

            ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเห็นสมควรเป็นจำนวนเพียงใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดโดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38 ทั้งศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกในภายหลังได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/39 ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอายุ 14 ปี และ 10 ปี อยู่ระหว่างการศึกษาเล่าเรียนย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ และระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอายุ 19 ปีเศษ และ 16 ปีเศษ โดยบุตรผู้เยาว์คนโตกำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย โจทก์และจำเลยต่างมีรายได้ประจำโดยโจทก์เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับเงินเดือน เดือนละประมาณ 37,000 บาท ส่วนจำเลยมีเงินเดือน เดือนละประมาณ 60,000 บาท ประกอบกับระหว่างที่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่อาศัยกับโจทก์นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้แก่โจทก์เลย ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนละเดือนละ 8,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏตามฎีกาของจำเลยว่า บุตรผู้เยาว์คนเล็กคือ นายวารมาฆ ได้กลับมาอยู่อาศัยกับจำเลยแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 โดยมีหนังสือของ นายวารมาฆ ยืนยันว่าได้มาอยู่กับจำเลยแล้ว ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับในคำแก้ฎีกาโดยไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน จึงถือว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนไปตามมาตรา 1598/39 สมควรที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู นายวารมาฆ แก่โจทก์ นับแต่เดือนมีนาคม 2550 เป็นต้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน

            อนึ่งทุนทรัพย์ที่จะนำมาคำนวณในการชำระค่าขึ้นศาลแต่ละชั้นศาลตามตาราง 1 (1) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต้องเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในแต่ละชั้นศาล ส่วนทุนทรัพย์หรือจำนวนเงินที่จะต้องชำระหลังจากวันฟ้องในศาลชั้นต้นเป็นหนี้ในอนาคตไม่ถือเป็นทุนทรัพย์ที่จะนำมาคิดคำนวณเพื่อชำระค่าขึ้นศาล คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์คนละ 8,000 บาท ต่อเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ เป็นการพิพากษาให้ชำระหนี้ในอนาคตจึงไม่มีจำนวนทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาที่จะนำมาคิดคำนวณเป็นค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ การที่จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่าไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นระยะเวลาในอนาคตตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ก็ไม่ต้องด้วยตาราง 1 (4) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเพราะกรณีตามตาราง 1 (4) เป็นกรณีที่ขอให้ชำระ ดังนั้น อุทธรณ์และฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องชำระค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (2) (ก) คือ 200 บาท เท่านั้น แต่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกามาจำนวน 22,560 บาท และ 35,100 บาท ตามลำดับ จึงเกินมา เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลย”

          พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดู นายวารมาฆ บุตรผู้เยาว์คนเล็กนับแต่เดือนมีนาคม 2550 จำเลยไม่ต้องชำระ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาจำนวน 22,360 บาท และ 34,900 บาท ตามลำดับแก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

มีปัญหาคดีความค่าเลี้ยงดูบุตร ปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

 

Facebook Comments