Home คดีอาญา พกอาวุธปืนไปเพื่อการทำธุรกิจ มีความผิดหรือไม่

พกอาวุธปืนไปเพื่อการทำธุรกิจ มีความผิดหรือไม่

11632

คำถาม

พกอาวุธปืนไปเพื่อการทำธุรกิจ เป็นการพกเพื่อเหตุจำเป็นเร่งด่วนอันเป็นเหตุยกเว้นโทษหรือไม่

คำตอบ

เกี่ยวกับหลักกฎหมายในเรื่อง

พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490

มาตรา 8 ห้ามมิให้ผู้ใดมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้

มาตรา 8 ทวิ* ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ (ข้อยกเว้น)

ไม่ว่ากรณีใด ห้ามมิให้พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมชุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้น เพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพ หรือการอื่นใด

ความในมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับแก่

(1) เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหารและตำรวจ ซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

(2) ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) (ข) หรือ (ค) ซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการป้องกันประเทศหรือรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือรักษาทรัพย์สินอันสำคัญของรัฐ

(3) ประชาชนผู้ได้รับมอบให้มีและใช้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) (ง) ซึ่งอยู่ในระหว่างการช่วยเหลือราชการและมีเหตุจำเป็นต้องมี และใช้อาวุธปืนในการนั้น

อัตราโทษเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืน

มาตรา 72ทวิ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 มาตรา 12 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม มาตรา 20 มาตรา 58 มาตรา 59 มาตรา 65 มาตรา 66 หรือมาตรา 70 วรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8ทวิ วรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคักไม่เกินห้าปีหรือ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 8ทวิ วรรค สองด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาท ถึงหนึ่งหมื่นบาท

เคยมีคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับการพกพาไปเพื่อเก็บเงินและทำธุรกิจตัดสินไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2554
ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้พาอาวุธปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาต หรือเป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จากบทบัญญัติดังกล่าว การพาอาวุธปืนติดตัวไปได้ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หากมิได้รับใบอนุญาตจะต้องเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ การที่จำเลยนำอาวุธปืนติดตัวไปในการประกอบธุรกิจของจำเลยเป็นปกติ ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์แต่อย่างใด มิฉะนั้นเท่ากับว่าจำเลยสามารถพาอาวุธปืนไปได้ตลอดโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงาน


โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 391, 80, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ และริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายชัยณรงค์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 (ที่ถูก ต้องระบุมาตรา 391 แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษบทหนักตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ (ที่ถูก มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ลงโทษจำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยฝ่าฝืนกฎหมายเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี 3 เดือน ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงในความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยฎีกาของจำเลย จำเลยกระทำความผิดฐานพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยประกอบธุรกิจเปิดร้านเจ็ดสาขา มีรายได้เฉลี่ยวันละประมาณ 30,000 บาท จำเลยไปเก็บเงินแต่ละสาขาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเงินรวมกันครั้งละ 1,000,000 บาท จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีอาวุธปืนติดตัวเพื่อป้องกันตนเองและทรัพย์สิน จำเลยซุกซ่อนอาวุธปืนไว้ในที่ลับ และไม่แสดงให้ผู้คนอื่นรู้ว่าจำเลยพาอาวุธปืนติดตัว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้พาอาวุธปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาต หรือเป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ดังนั้น จำเลยจะพาอาวุธปืนติดตัวไปได้ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน เมื่อจำเลยมิได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้พาอาวุธปืนติดตัวได้จะต้องเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ การที่จำเลยนำอาวุธปืนติดตัวไปในการประกอบธุรกิจของจำเลยเป็นปกติ ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์แต่อย่างใด มิฉะนั้นเท่ากับว่าจำเลยสามารถพาอาวุธปืนไปได้ตลอดโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงาน หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีบุคคลใดที่จะไปขออนุญาตจากเจ้าพนักงานโดยอ้างเหตุว่าต้องใช้ในการป้องกันทรัพย์สินของตนเอง ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงกำหนดไว้ว่าต้องมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วน พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยมิใช่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนแต่อย่างใด แต่เป็นหน้าที่ตามปกติของจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายและพยายามฆ่าผู้อื่นตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร่วมกับจำเลยมีสาเหตุกันมาก่อนเนื่องจากโจทก์ร่วมเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ไปจับกุมการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนจำเลยประกอบกิจการร้านค้าขายเครื่องเล่นวิดีโอเกม เคยถูกโจทก์ร่วมจับฐานละเมิดลิขสิทธิ์มาแล้ว ขณะเกิดเหตุจำเลยเดินไปแต่เพียงลำพังผู้เดียว ส่วนโจทก์ร่วมอยู่ด้วยกันไม่ต่ำกว่า 4 คน คือ โจทก์ร่วม ร้อยตำรวจเอกธรรมนูญ สิบตำรวจเอกวรพจน์ และนายปฐมพล เพื่อนของโจทก์ร่วม จึงไม่เชื่อว่าจำเลยเพียงคนเดียวจะกล้าเข้าไปทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมซึ่งอยู่กับพวกรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 4 คน ทั้งได้ความจากร้อยตำรวจเอกธรรมนูญเบิกความว่า โจทก์ร่วมเป็นฝ่ายวิ่งเข้าไปหาจำเลยและพูดหาเรื่องจำเลยก่อน โดยก่อนวิ่งไปได้ส่งมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่ร้อยตำรวจเอกธรรมนูญไว้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ร่วมมีเจตนาที่จะทำร้ายร่างกายจำเลยโดยเห็นว่ามีพรรคพวกมากกว่าซึ่งโจทก์ร่วมก็ยอมรับว่าได้ชกจำเลยล้มลงและเตะจำเลยขณะที่จำเลยล้มลงด้วย เมื่อจำเลยลุกขึ้นวิ่งหนี โจทก์ร่วมก็วิ่งไล่ตาม นอกจากนี้สิบตำรวจเอกวรพจน์วิ่งตามไป และได้ความจากนายณัฐพงศ์ นายเอกชัย นางสุภารัตน์ และเด็กหญิงสุดารัตน์ พยานโจทก์ โจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า นายปฐมพลวิ่งตามไปด้วย คำเบิกความสอดคล้องกันโดยเฉพาะนายเอกชัยเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดจึงฟังได้ว่า นายปฐมพลก็วิ่งตามโจทก์ร่วมไปด้วย โจทก์ฟ้องว่าจำเลยชกโจทก์ร่วมที่ลำตัว แต่ทางพิจารณากลับปรากฏจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมบางปากว่า โจทก์ร่วมทำร้ายจำเลยฝ่ายเดียว บางปากโดยเฉพาะโจทก์ร่วมเบิกความว่า จำเลยชกแต่ไม่ถูก จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วม พฤติการณ์ของโจทก์ร่วมกับพวกเป็นการก่อให้เกิดภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้ถึง ถ้าจำเลยได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ยังเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแก่จำเลยด้วย ดังนั้น การที่จำเลยวิ่งไปนำอาวุธปืนในรถออกมายิงไปยังโจทก์ร่วม จึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ แต่เมื่อโจทก์ร่วมวิ่งหนีจำเลยกลับไปแล้ว จำเลยยังวิ่งไล่ตามไปใช้อาวุธปืนไล่ยิงโจทก์ร่วมทางด้านหลังอีก 3 นัด บางนัดยิงขณะที่โจทก์ร่วมล้มลงแล้ว ดังจะเห็นได้จากวิถีกระสุนเข้าที่สะโพกด้านขวาทะลุลงขาหนีบจนโจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส จำเลยไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่าเป็นการกระทำโดยป้องกันได้อีก เนื่องจากโจทก์ร่วมมิได้มีพฤติการณ์ในการที่จะทำภยันตรายแก่จำเลยแล้ว การที่จำเลยยิงโจทก์ร่วมไปจึงมิใช่เป็นการป้องกันโดยชอบ หากแต่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเนื่องจากถูกโจทก์ร่วมกับพวกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม แม้จะฟังได้ว่าสิบตำรวจเอกวรพจน์ใช้อาวุธปืนยิงมายังจำเลยก็ตาม จำเลยก็คงมีสิทธิป้องกันเฉพาะกระทำต่อสิบตำรวจเอกวรพจน์เท่านั้น ทั้งนี้เพราะไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมมีอาวุธปืนและจะทำร้ายจำเลยอีก กรณีเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ และเห็นว่าความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำคุก 1 ปี นั้น หนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสม

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และ 72 ให้จำคุก 3 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำคุก 6 เดือน จำเลยนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม เมื่อลดโทษแล้วรวมจำคุกจำเลย 2 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments