ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”
หลักเกณฑ์
1. ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
2. การถูกข่มเหงเช่นนั้นเป็นเหตุให้ผู้กระทำบันดาลโทสะ
3. ผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ
การข่มเหง หมายถึง รังแก แกล้ง หรือทำให้รู้สึกอับอาย หรือข่มเหงน้ำใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ฟังได้ว่าบันดาลโทสะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17391/2557
การที่จำเลยไปหยิบอาวุธปืนจากรถยนต์มาเพื่อป้องกันบุตรของตน และเหตุที่กระสุนปืนลั่นเกิดจากการแย่งอาวุธปืนระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วม อันสืบเนื่องมาจากจำเลยใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันบุตรของตนดังกล่าว มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันตนพอสมควรแก่เหตุ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5232/2556
เมื่อโจทก์ร่วมเป็นฝ่ายก่อเหตุโดยด่าว่ามารดาจำเลยด้วยถ้อยคำรุนแรงและพูดท้าทายจำเลยเป็นทำนองให้ไปต่อสู้กันในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพราะถูกโจทก์ร่วมข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม อันเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ดังนี้โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด และไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ม. ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ร่วมย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการกับยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และ มาตรา 44/1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2555
จ. เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะกระทำการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของตนโดยมิให้ชายอื่นมามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับภรรยาของตนได้ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยพบเห็น จ. นอนหนุนตักผู้ตายและกอดจูบกันเท่านั้นโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน และการที่ผู้ตายกระทำต่อ จ. ดังกล่าวก็เป็นไปโดย จ. สมัครใจยินยอม พฤติการณ์เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งจำเลยจำต้องกระทำการป้องสิทธิแต่อย่างใด แต่การที่ผู้ตายกับ จ. กอดจูบกันเช่นนี้ นับเป็นการกระทำที่ข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ย่อมเหลือวิสัยของจำเลยที่จะอดกลั้นโทสะไว้ได้ จึงเข้าไปชกต่อยผู้ตายแล้วใช้มีดปอกผลไม้ที่วางอยู่ใกล้ตัวแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 ไม่ใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6788/2554
เหตุบันดาลโทสะอาจเกิดเพราะคำบอกเล่าได้ ไม่จำเป็นต้องประสบเหตุการณ์ด้วยตนเอง วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่าผู้ตายซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 มีชู้โดยจำเลยที่ 2 เห็นผู้ตายกับชายชู้เข้าห้องและปิดประตูอยู่ด้วยกัน มีลักษณะว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยที่ 1 อย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายทันทีที่ได้รับคำบอกเล่าจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72
คำพิพากษาฎีกาที่ฟังไม่ได้ว่าบันดาลโทสะ
การที่จำเลยต่อว่าผู้ตายเรื่องที่ผู้ตายมีหญิงอื่นและเกิดการโต้เถียงกัน จำเลยจึงเข้าไปทุบตัวผู้ตาย ผู้ตายพูดว่า กูไม่อยู่กับมึง กูทนไม่ไหวแล้ว กูจะหย่ากับมึงอีแก่ เมื่อจำเลยได้ยินคำพูดเช่นนั้น จำเลยเกิดความโมโหมาก จึงไปเอาอาวุธปืนที่จำเลยซ่อนไว้ในลิ้นชักโต๊ะคอมพิวเตอร์ออกมายิงผู้ตาย 4 นัด จนผู้ตายถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยยังมิใช่การกระทำโดยบันดาลโทสะตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4577/2558
จำเลยที่ 1 เดินออกจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกลับถึงห้องพัก ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร แล้วจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้พูดเกลี้ยกล่อมจำเลยที่ 1 ไม่ให้กลับไปอีก ทั้งได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ออกไปจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุได้ประมาณ 30 นาที ก็กลับมาอีก เมื่อหักเวลาเดินทางไปและกลับระหว่างร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกับห้องพักของจำเลยทั้งสี่เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เวลาพูดเกลี้ยกล่อมไม่ให้จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุนานประมาณ 20 นาที ซึ่งจำเลยที่ 1 น่าจะสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุแล้วทำร้ายผู้ตายจึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ตระเตรียมอาวุธมีดของกลางกลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุ ไล่ตามผู้ตายที่วิ่งหนีไปเป็นระยะทางถึง 50 เมตร และใช้อาวุธมีดของกลางที่เตรียมมาฟันแทงผู้ตายอย่างแรงหลายครั้งจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2554
เพียงแต่ผู้ตายเป็นผู้ดำเนินการย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งที่หน้าบ้านจำเลยไปติดตั้งที่ศาลารวมใจ และโต้เถียงกับจำเลยในเรื่องดังกล่าว แม้ผู้ตายจะด่าจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคายดังที่จำเลยอ้าง ก็หาใช่เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ทั้งจำเลยเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านท้องที่เกิดเหตุ ไม่มีเหตุที่ผู้ตายจะข่มเหงจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงไม่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81/2554
หลังจากผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลย ผู้ตายกับจำเลยยังได้รับประทานอาหารด้วยกัน และจำเลยกลับไปบ้านแล้ว ต่อมานานถึง 2 ชั่วโมงเศษ จำเลยจึงมาที่บ้านเกิดเหตุและใช้มีดโต้ฟันผู้ตายขณะที่ผู้ตายกับ ข. นอนหลับกันแล้ว เหตุการณ์ที่ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลยได้ขาดตอนตั้งแต่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดในขณะที่บันดาลโทสะอยู่ แต่กระทำความผิดในภายหลังเป็นเวลานานถือได้ว่าเหตุบันดาลโทสะขาดตอนแล้ว และการที่จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้านตั้ง 2 ชั่วโมง จึงไปทำร้ายตายในขณะกำลังนอนหลับในยามวิกาลและเวลาดึกสงัดโดยใช้มีดโต้ขนาดใหญ่เลือกฟันผู้ตายที่ศีรษะ ใบหน้าและลำคอหลายครั้ง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ หากถูกฟันอย่างแรงเพียงครั้งเดียวก็ถึงแก่ความตายแล้ว แม้จำเลยมิได้เตรียมมีดมา แต่จำเลยก็เตรียมไฟฉายมาค้นหาอาวุธ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่บ้านเกิดเหตุมีมีดโต้ใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้ตายได้และใช้ไฟฉายส่องหาทำร้ายผู้ตายได้ไม่ผิดตัวพฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15492/2553
แม้โจทก์ร่วมจะกีดกันไม่ยอมให้จำเลยพูดคุยกับผู้ตายและด่าว่าจำเลยจนทำให้เกิดโทสะและฆ่าผู้ตายก็ตาม จำเลยก็อ้างบันดาลโทสะไม่ได้ เพราะในขณะนั้นผู้ตายมิใช่ผู้ข่มเหงจำเลยหรือมีส่วนสนับสนุนให้โจทก์ร่วมด่าว่าจำเลยแต่ประการใด การที่จำเลยฆ่าผู้ตายจึงมิใช่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11966/2553
การกระทำความผิดอันจะเข้าเหตุเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะได้ ต้องเป็นกรณีที่ผู้ใดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น แม้จะฟังได้ว่า ส. หลานของจำเลยถูกผู้เสียหายทำร้าย แต่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายกระทำความผิดต่อ ส. เท่านั้น มิใช่เป็นการกระทำความผิดต่อจำเลย อีกทั้ง ส. อายุกว่า 20 ปีแล้ว จึงไม่ใช่บุคคลใกล้ชิดอันจะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่แก่จำเลยที่จะต้องคอยปกป้องดูแลมิให้ผู้อื่นมาทำร้าย กรณีไม่อาจถือได้ว่าจำเลยถูกผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยฟันผู้เสียหายจึงอ้างว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามกฎหมายไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1332/2553
การที่จำเลยด่าแม่โจทก์ร่วมตอบโต้ไป ก่อนเข้าฟันโจทก์ร่วม เท่ากับว่าจำเลยได้ถลำเข้าไปทะเลาะวิวาทกับโจทก์ร่วมด้วยแล้ว เมื่อต่างคนต่างก็ทะเลาะด่าว่าซึ่งกันและกันเช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตาม ป.อ. มาตรา 72 และไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดที่ได้กระทำนั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1270/2553
การจำเลยใช้มีดอีโต้ซึ่งเป็นมีดทำครัวขนาดใหญ่เลือกฟันอย่างแรงที่ศีรษะลำคอและกลางหลัง ซึ่งล้วนเป็นอวัยวะสำคัญจนเป็นแผลฉกรรจ์ หากรักษาไม่ทันอาจถึงแก่ความตายได้ จำเลยย่อมจะเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำของจำเลยอาจทำให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายถึงแก่ความตายได้ พฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมแล้ว แม้เมื่อโจทก์ร่วมล้มลงหมดสติไปจำเลยจะไม่ได้ฟันโจทก์ร่วมซ้ำอีกก็ตาม
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นคนร้ายฆ่าผู้ตาย จำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่ ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายฆ่าผู้ตาย พิพากษาลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่น จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าจำเลยมิใช่คนร้าย ศาลอุทธรณ์ฟังตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยเป็นคนร้ายฆ่าผู้ตายเช่นกัน แต่จำเลยฎีกากลับอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ว่า จำเลยได้ฆ่าผู้ตายจริงเพราะจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดไปโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
0891427773 ไอดีไลน์ Lawyers.in.th