Home คดีแพ่ง การโอนเงินใช้หนี้ผ่านบัญชีธนาคาร ถือเป็นหลักฐานการชำระเงินตามกฎหมายได้หรือไม่

การโอนเงินใช้หนี้ผ่านบัญชีธนาคาร ถือเป็นหลักฐานการชำระเงินตามกฎหมายได้หรือไม่

19098

ปัจจุบันการใช้อินเตอร์เน็ตแบค์กิ้งถือว่าเป็นเรื่องปกติ และนิยมทำกันมากมาย การที่ผู้กู้โอนเงินหรือนำเงินฝากเข้าบัญชีธนาคารผู้ให้กู้นั้น ถือเป็นหลักฐานการชำระหนี้ ที่สามารถมานำสืบการชำระหนี้ตามกฎหมายในการสู้คดีได้หรือไม่ ในวันนี้ทีมงานทนายกฤษดา ขอนำท่านไปวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกา ที่เคยทีคำวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำถาม

การโอนเงินใช้หนี้ผ่านบัญชีธนาคาร ถือเป็นหลักฐานการชำระเงินตามกฎหมายได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ ๔๗/๒๕๖๑

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน ๒๕๕๓ และวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ จําเลยทําหนังสือสัญญากู้เงินและรับเงินจากโจทก์ ๓๐,๐๐๐ บาท และ ๑๑๐,๐๐๐ บาท ตามลําดับ ไม่ได้ตกลงให้ดอกเบี้ยและกําหนดวันชําระหนี้ โจทก์ติดตามทวงถามแต่จําเลยเพิกเฉย การกระทํา ของจําเลยทําให้โจทก์เสียหาย จําเลยต้องรับผิดชําระเงินต้นพร้อม ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว โจทก์ขอคิดเพียง ๕ ปี เป็นดอกเบี้ย ๑๑,๒๕๐ บาท และ ๔๑,๒๕๐ บาท ตามลําดับ รวมเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งสิ้น ๑๙๒,๕๐๐ บาท ขอให้บังคับจําเลย ชําระเงินแก่โจทก์ ๑๙๒,๕๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท และ ๑๑๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ

จําเลยยื่นคําให้การว่า จําเลยกู้เงินจากโจทก์ตามหนังสือสัญญา กู้เงินทั้งสองฉบับดังกล่าวจริง แต่จําเลยได้ชําระหนี้ทั้งต้นเงินและ ดอกเบี้ยคืนแก่โจทก์ไปแล้วทั้งสิ้น ๑๔๗,๑๕๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ความ โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๓ จําเลยทําหนังสือสัญญากู้เงินและรับเงินจากโจทก์ ๓๐,๐๐๐ บาท และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ๒๕๕๓ จําเลยทําหนังสือ สัญญากู้เงินและรับเงินจากโจทก์ ๑๑๐,๐๐๐ บาท ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.๒ และ จ.๓ ต่อมาจําเลยโอนเงินเข้า บัญชีโจทก์ ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาหนองพอก ชําระ หนี้แก่โจทก์ ๙ ครั้งรวมเป็นเงิน ๑๔๗,๑๕๐บาทตามรายการเคลื่อนไหว ทางบัญชีเอกสารหมาย จ.๔

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จําเลยนําสืบ การใช้เงินตามสําเนารายการเคลื่อนไหวทางบัญชีว่าได้มีการชําระหนี้ แก่โจทก์ โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ผู้ให้ยืมมาแสดง หรือหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืนแล้ว หรือแทง เพิกถอนในหลักฐานการกู้ยืมแล้วได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า หนี้ที่โจทก์ กับจําเลยตกลงกันคือกู้ยืมและรับเงินไปแล้ว จําเลยมีหน้าที่ต้องนํา เงินสดมาชําระหนี้แก่โจทก์เพื่อโจทก์จะได้เวนคืนหรือแทงเพิกถอน เอกสาร ไม่มีข้อตกลงอื่นใดที่ระบุว่าให้จําเลยชําระหนี้อย่างอื่นแทน การชําระเงินสด การที่จําเลยนําสืบว่าได้ชําระหนี้ให้โจทก์โดยการนํา เงินสดเข้าบัญชีของโจทก์ จึงเป็นการนําสืบว่าได้ชําระหนี้ให้แก่โจทก์ แล้วโดยการนําเงินสดมาชําระ จึงเป็นการนําสืบถึงการใช้เงินที่ไม่มี บทบัญญัติของกฎหมายให้กระทําได้ การโอนเงินเข้าบัญชีผู้ให้กู้จึง ไม่ถือว่าเป็นการชําระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า การที่จําเลยผู้กู้นําเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ผู้ให้กู้เพื่อชําระ หนี้เงินกู้ที่กู้ยืมจากโจทก์ เป็นการชําระหนี้ผ่านธนาคารที่โจทก์มีบัญชี เงินฝากเพื่อให้โจทก์ได้รับเงินที่ชําระหนี้ โดยไม่ได้ทํานิติกรรมโดยตรง ต่อโจทก์จึงไม่อาจมีการกระทําตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ วรรคสองได้เมื่อโจทก์เจ้าหนี้มิได้โต้แย้งไม่รับเงินดังกล่าว ถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยอมรับชําระหนี้อย่างอื่นแทนการชําระหนี้ที่ได้ ตกลงกันไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๒๑ วรรคหนึ่ง ดังนั้น ที่จําเลยนําสืบว่า จําเลยชําระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว ด้วยการนําเงินฝากเข้าบัญชีของโจทก์ จําเลยจึงนําสืบได้ มิใช่เป็น การนําสืบการใช้เงินโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ ผู้ให้กู้มาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืน แล้วหรือแทงเพิกถอนในเอกสารนั้นแล้วดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ ภาค ๔ วินิจฉัยว่าจําเลยนําสืบการใช้เงินตามสําเนารายการเคลื่อนไหว ทางบัญชีว่ามีการชําระหนี้แก่โจทก์แล้วได้ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ ฟังไม่ขึ้น

 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า จําเลย ต้องรับผิดชําระหนี้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมายจ.๒ และ จ.๓ หรือไม่… ดังนี้ เมื่อชั่งน้ําหนักพยานหลักฐานของโจทก์และ จําเลยแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีพิรุธขัดต่อเหตุผลและผิดวิสัย กับพฤติการณ์ต่าง ๆ ของโจทก์หลายประการมีน้ําหนักน้อยกว่า พยานหลักฐานจําเลย เชื่อว่าสําเนาหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.๑ มีการกู้ยืมเงินกันจริง ๔๐,๐๐๐ บาท และจําเลยโอนเงินชําระหนี้ ตามสําเนาใบรับฝากเงินและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมายล.๑ ครบถ้วน ในวันครบกําหนดแล้ว ส่วนหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.๒ และ จ.๓ ต้นเงินรวม ๑๔๐,๐๐๐ บาท และหนังสือสัญญากู้เงินมิได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงอัตรา ๗.๕ ต่อปี การที่จําเลยโอนเงิน ๙ ครั้ง รวม ๑๔๗,๑๕๐ บาท ตาม รายการเคลื่อนไหวทางบัญชีเอกสารหมาย จ.๔ ย่อมเพียงพอและ ครบถ้วนในการชําระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย ตามหนังสือสัญญากู้เงิน เอกสารหมาย จ.๒ และ จ.๓ แล้ว จําเลยจึงไม่ต้องรับผิดชําระหนี้ ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.๒ และ จ.๓ แก่โจทก์อีก ที่ ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจําเลย ๕,๐๐๐บาท

สรุป

จําเลยผู้นําเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ผู้ให้กู้เพื่อ ชําระหนี้เงินกู้ที่กู้ยืมจากโจทก์ เป็นการชําระหนี้ผ่านธนาคารที่โจทก์มี บัญชีเงินฝากเพื่อให้โจทก์ได้รับเงินที่ชําระหนี้ โดยไม่ได้ทํานิติกรรม โดยตรงต่อโจทก์ จึงไม่อาจมีการกระทําตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ วรรคสอง ได้ การที่โจทก์เจ้าหนี้มิได้โต้แย้ง ไม่รับเงิน ถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยอมรับชําระหนี้อย่างอื่นแทนการ ชําระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๒๑ วรรคหนึ่ง จําเลยมีสิทธินําสืบการชําระหนี้ให้แก่โจทก์ ด้วยการนําเงินฝากเข้าบัญชีของโจทก์ได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments