Home คดีแพ่ง ความหมายของ มูลคดีเกิด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาคืออะไร

ความหมายของ มูลคดีเกิด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาคืออะไร

10873

หลายๆท่านผู้อ่านอาจจะยังไม่เข้าใจ ความหมายของ มูลคดีเกิด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาคืออะไร ในวันนี้ทีมงานทนายกฤษดา ขออนุญาตพาท่านไปรู้จักกับความหมายของมูลคดีเกิดที่ศาลฎีกาเคยให้ความหมายและวินิจฉัยไว้

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่เช่าพร้อมส่งมอบอาคารพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ทั้งหมดของโรงพยาบาลคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ทั้งหมดหรือบางส่วนให้ชดใช้ราคาตามส่วนหรือราคา 60,160,000 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย 5,004,999.99 บาท และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 550,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะขนย้ายทรัพย์และบริวารออกไปจากที่เช่า ให้จำเลยที่ 1 โอนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลคืนโจทก์ หากไม่ปฏิบัติหรือไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่สามารถประกอบกิจการสถานพยาบาลเพื่อใช้สิทธิรับเงินจากสำนักงานประกันสังคมตามสัดส่วนของผู้รักษาปีละ 12,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะได้รับโอนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและอาคารซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลแหลมฉบังอินเตอร์เนชั่นแนล เลขที่ 107 หมู่ที่ 10 ถนนสุขุมวิท ตำบลทุ่งศุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และส่งมอบที่ดินและอาคารดังกล่าวในสภาพเรียบร้อยคืนโจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 150,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและอาคารดังกล่าว กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลแหลมฉบังอินเตอร์เนชั่นแนล เลขที่ 107 หมู่ที่ 10 ถนนสุขุมวิท ตำบลทุ่งศุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 68494 ตำบลทุ่งศุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 จำเลยที่ 1 เช่ากิจการและอาคาร พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ทั้งหมดของโรงพยาบาลแหลมฉบังอินเตอร์เนชั่นแนลไปจากโจทก์ มีกำหนดเวลา 4 ปี 8 เดือน นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2549 มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาต่างตอบแทนการเช่า หลังจากครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่า โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าไม่ประสงค์จะให้เช่าอยู่ต่อไป แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่เช่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้น (ศาลแพ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตตรา 4 (1) หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า “คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่” คำว่า มูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามสัญญาต่างตอบแทนการเช่า ได้ทำที่โรงแรมเรดิสัน ตั้งอยู่ที่เลขที่ 92 ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเห็นได้ว่า เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น (ศาลแพ่ง) ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งได้

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงย่อมทำให้หนี้การค้ำประกันซึ่งเป็นอุปกรณ์ระงับลง และเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์เนื่องจากยังคงครอบครองทรัพย์พิพาท ย่อมไม่อยู่ในสัญญาค้ำประกันเพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 เฉพาะเรื่องการปฏิบัติตามสัญญาเช่า และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าที่ถูกเจ้าหนี้โจทก์ยึดทรัพย์ในคดีอื่น จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ครอบครองทรัพย์ที่เช่าในฐานะเป็นผู้เช่าจากโจทก์ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้แก่โจทก์หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงและยังคงครอบครองต่อมา การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการผิดสัญญาเช่าและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องชำระค่าเสียหายในเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาเช่าดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามล้วนฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

คำว่า มูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง ตามฟ้องระบุสัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำที่โรงแรมเรดิสัน ตั้งอยู่ที่เลขที่ 92 ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เห็นได้ว่า เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแพ่ง โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลแพ่งได้

การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้แก่โจทก์หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงและยังคงครอบครองต่อมา การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการผิดสัญญาเช่าและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องชำระค่าเสียหายในเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาเช่าดังกล่าว

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments