Home คดีแพ่ง ผู้ครอบครองปรปักษ์ตาย ทายาทมีสิทธิร้องขอ โดยนับระยะเวลาการครอบครองจากผู้ตายได้หรือไม่

ผู้ครอบครองปรปักษ์ตาย ทายาทมีสิทธิร้องขอ โดยนับระยะเวลาการครอบครองจากผู้ตายได้หรือไม่

7655

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอศาลไต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่า ที่ดินบางส่วนของโฉนดที่ดินเลขที่ 917 และ 918 ดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางวาสนาโดยการครอบครองปรปักษ์ เพื่อผู้ร้องและทายาทของนางวาสนารับมรดกในที่ดินดังกล่าวต่อไป

ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ผู้ร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาเพียงว่าสำเนาให้ผู้คัดค้านทั้งสองพร้อมอุทธรณ์ หากจะคัดค้านให้ยื่นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันได้รับอุทธรณ์ ให้ผู้ร้องนำส่งไม่มีผู้รับให้ปิด ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องพอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว และศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของผู้ร้องต่อไป

ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขออ้างว่านางวาสนามารดาของผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 ทางทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน และที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 918 ทางทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ของนายเทียนฉาย โดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2529 ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่า 22 ปี ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องขอ นางวาสนามารดาของผู้ร้องย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนทางทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 และโฉนดเลขที่ 918 โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้และตกทอดแก่ผู้ร้องและทายาทอื่นที่เป็นบุตรของนางวาสนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1600 และแม้ผู้ร้องกับทายาททั้งหมดเพิ่งทราบว่านางวาสนามารดาของผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองภายหลังการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11371 ให้แก่น้องชายและน้องสาวของผู้ร้อง ก็ไม่ทำให้ทรัพยสิทธิที่มารดาของผู้ร้องได้มาและเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท คือผู้ร้องกับทายาทอื่นเสียไป ทั้งการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของผู้ครอบครอง

ประกอบกับผู้ร้อง มีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81 โดยอสังหาริมทรัพย์คดีนี้เป็นที่ดินที่ผู้ร้องอ้างว่าเจ้ามรดกได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ซึ่งต้องดำเนินการขอจดทะเบียนสิทธิตามมาตรา 78 ก่อน ผู้ร้องในฐานะทายาทผู้รับมรดกจากนางวาสนามารดาของผู้ร้องจึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่เป็นมรดกตกทอดมายังผู้ร้องและทายาทอื่นได้ และเนื่องจากศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นางวาสนามารดาของผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ แม้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองจะได้นำสืบพยานหลักฐานมาครบถ้วนแล้ว แต่เพื่อให้การวินิจฉัยคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาลจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ว่านางวาสนามารดาของผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองหรือไม่ก่อน

พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

 

สรุป

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ว. มารดาของผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 และที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดที่ 918 ทางทิศตะวันตกของ ท. โดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2529 ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่า 22 ปี หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องขอ ว. มารดาของผู้ร้องย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนทางทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 และโฉนดเลขที่ 918 โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้และตกทอดแก่ผู้ร้องและทายาทอื่นที่เป็นบุตรของ ว. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 และแม้ผู้ร้องกับทายาททั้งหมดเพิ่งทราบว่า ว. มารดาของผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองภายหลัง ก็ไม่ทำให้ทรัพยสิทธิที่มารดาของผู้ร้องได้มาและเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้ร้องกับทายาทอื่นเสียไป ทั้งการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของผู้ครอบครอง ประกอบกับผู้ร้องมีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกตาม ป.ที่ดิน มาตรา 81 โดยที่ดินที่ผู้ร้องอ้างว่าเจ้ามรดกได้มาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ซึ่งต้องดำเนินการขอจดทะเบียนสิทธิตามมาตรา 78 ก่อน ผู้ร้องในฐานะทายาทผู้รับมรดกจาก ว. มารดาของผู้ร้องจึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่เป็นมรดกตกทอดมายังผู้ร้องและทายาทอื่นได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments