Home คดีแพ่ง ในสัญญาระบุว่าเป็น การให้โดยเสน่หาโดยไม่มีค่าตอบแทน มีสิทธินำสืบพยานบุคคลโต้แย้งว่าการให้ดังกล่าวมีภาระติดพันได้หรือไม่

ในสัญญาระบุว่าเป็น การให้โดยเสน่หาโดยไม่มีค่าตอบแทน มีสิทธินำสืบพยานบุคคลโต้แย้งว่าการให้ดังกล่าวมีภาระติดพันได้หรือไม่

6902

ในสัญญาระบุว่าเป็น การให้โดยเสน่หาโดยไม่มีค่าตอบแทน มีสิทธินำสืบพยานบุคคลโต้แย้งว่าการให้ดังกล่าวมีภาระติดพันได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลย เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2538 โจทก์โอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1444 ตำบลสวนหลวง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (ที่ถูก อำเภอเชียรใหญ่) จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้แก่จำเลยโดยเสน่หา แต่โจทก์ยังคงครอบครองอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท และไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้นำโค 12 ตัว ของโจทก์ไป อ้างว่าเป็นของจำเลย โจทก์ขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทบางส่วนเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย แต่จำเลยไม่ยินยอมและฐานะของโจทก์ยากจนลง การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง และเป็นการบอกปัดไม่ยอมให้ซึ่งสิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้และจำเลยยังสามารถให้ได้ เป็นการประพฤติเนรคุณ ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

จำเลยให้การว่า บ้านและที่ดินพิพาทเป็นของบิดาโจทก์จำเลย บิดามีความประสงค์จะยกบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่สะดวกที่จะมารับโอนเนื่องจากต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการ จำเลยจึงให้บิดาโอนบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไว้ก่อน โจทก์สัญญาว่าจะโอนบ้านและที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยในภายหลังโจทก์และครอบครัวเข้าอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยจำเลยให้ควมช่วยเหลือด้านการเงิน ต่อมาโจทก์นำบ้านและที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้ของพี่ชายโจทก์และไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ โจทก์กับจำเลยจึงตกลงกัน โดยจำเลยจะเป็นผู้ชำระหนี้แทนโจทก์และไถ่ถอนจำนอง แต่โจทก์จะต้องจัดการโอนบ้านและที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย กรณีจึงมิใช่เป็นการให้โดยเสน่หาฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนจำเลย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1444 ตำบลสวนหลวง อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมเป็นของโจทก์ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2529 โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท ไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของนายจำเริญต่อมานายจำเริญ ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่ธนาคารได้ จึงมีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้มาเป็นจำเลย และโจทก์ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยในวันที่ 27 มกราคม 2538 ตามหนังสือสัญญาให้ที่ดิน

ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณหรือไม่โจทก์ฎีการับข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ 27 มกราคม 2538 หลังจากจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์แล้ว จำเลยได้กู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อรับภาระหนี้แทนโจทก์ สอดคล้องกับสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาท ซึ่งระบุว่าในวันที่ 27 มกราคม 2538 โจทก์ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แล้วจึงจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย และในวันเดียวกันจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยกู้เงิน 150,000 บาท จึงรับฟังได้ว่า โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยเป็นการตอบแทนที่จำเลยไถ่ถอนที่ดินพิพาท อันเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 535 (2) แม้หนังสือสัญญาให้ที่ดินจะระบุว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน จำเลยก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินนั้นเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันได้ เพราะคดีนี้เป็นการฟ้องถอนคืนการให้ ไม่ใช่คดีฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ จึงไม่ใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร อันจะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนจำเลย

สรุปยาว

หลังจากจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์แล้ว จำเลยได้กู้เงินจากธนาคาร ก. เพื่อรับภาระหนี้แทนโจทก์ สอดคล้องกับสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทซึ่งระบุว่าในวันที่ 27 มกราคม 2538 โจทก์ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. แล้วจึงจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย และในวันเดียวกันจำเลยได้ จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันไว้แก่ธนาคาร ก. โดยจำเลยกู้เงิน 150,000 บาท จึงรับฟังได้ว่า โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยเป็นการตอบแทนที่จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท อันเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2)

แม้หนังสือสัญญาให้ที่ดินจะระบุว่า เป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน จำเลยก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินนั้น เป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันได้ เพราะคดีนี้เป็นการฟ้องถอนคืนการให้ ไม่ใช่คดีฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ จึงไม่ใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร อันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)

สรุปสั้น สามารถนำสืบได้ ไม่ใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments