Home คดีอาญา ข้อยกเว้นความผิดในคดีหมิ่นประมาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกามีว่าอย่างไร ใครมีหน้าที่นำสืบ

ข้อยกเว้นความผิดในคดีหมิ่นประมาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกามีว่าอย่างไร ใครมีหน้าที่นำสืบ

11705

ข้อยกเว้นความผิดในคดีหมิ่นประมาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกามีว่าอย่างไร ใครมีหน้าที่นำสืบ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๔๗/๒๕๖๐

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๔๔, ๘๖, ๔๑, ๓๒๖, ๓๒๘ และให้บังคับจําเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกัน ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองรวมเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐บาท พร้อม ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสําหรับจําเลยที่ ๑ และที่ ๒ และ ไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีโจทก์สําหรับจําเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่มีมูล พิพากษา ยกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้องคดีในส่วนอาญา และให้รับ คําฟ้องคดีในส่วนแพ่งสําหรับจําเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไว้พิจารณา และให้ศาลชั้นต้นดําเนินการต่อไป

จําเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การปฏิเสธ และให้การปฏิเสธในคดีส่วนแพ่งขอให้ ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจําเลยที่ ๑ และที่ ๒ นั้น ในชั้นตรวจรับคําฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ เกินกําหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสองมิได้ ยื่นคําร้องอุทธรณ์คําสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๘ ทวิ คดีของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจําเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทั้งคดีส่วนแห่ง และคดีอาญา เป็นยุติตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองเพียงว่า จําเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันกระทําความผิด ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมาซึ่งโจทก์ทั้งสองและ จําเลยที่ ๓ และที่ ๔ มิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ ๑ เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง มีโจทก์ที่ ๒ เป็นกริยา ส่วนจําเลยที่ ๓ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคเพื่อไทย จําเลยที่ ๔ เป็นรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ในขณะนั้น วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลาประมาณ ๑๒ นาฬิกา จําเลยที่ ๓ และที่ ๔ กับพวกได้ร่วมกันจัดแถลงข่าวที่สํานักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย โดยให้ ผู้สื่อข่าวบันทึกภาพและเสียงทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ รวมทั้งสื่อมวลชน ทุกแขนง ในการแถลงข่าวดังกล่าวจําเลยที่ ๓ และที่ ๔ กับพวกได้แจกเอกสาร ประกอบการแถลงข่าวซึ่งมีข้อความว่า ทางพรรคเพื่อไทยได้รับการร้องเรียนจาก พนักงานการบินไทยและผู้ถือหุ้นว่า นายกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาจมีการใช้อภิสิทธิ์สั่งการให้ บริษัทการบินไทย จํากัด (มหาชน) ทําการเลื่อนชั้นที่นั่งบัตรโดยสารของตนเองและภริยารวมถึงบุตรในการเดินทางไปต่างประเทศ หลายครั้ง อีกทั้งยังอาจขอใช้สิทธิในการเพิ่มน้ําหนักและจํานวนของสัมภาระ ในการเดินทางเกินกว่าที่ระเบียบของสายการบินกําหนดไว้ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกรณ์และภริยาได้ซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินของสายการบินไทยในชั้นธุรกิจ เพื่อการเดินทางไปต่างประเทศโดยก่อนเดินทางเชื่อว่าจะมีการดําเนินการ อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ ลักษณะ คือ ๑. นายกรณ์อาจใช้อํานาจและอภิสิทธิ์ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งการให้พนักงานที่มีอํานาจในการเลื่อนชั้น การเดินทางทําการเลื่อนชั้นที่นั่งบัตรโดยสารให้เป็นชั้นหนึ่งโดยที่ไม่ได้มีการจ่าย ค่าโดยสารเพิ่มเติมตามที่มีการเลื่อนชั้นการเดินทางแต่อย่างใด อีกทั้งยังอาจมีการ สั่งการให้มีการเลื่อนชั้นการเดินทางของบุตรจากชั้นประหยัดเป็นชั้นธุรกิจอีกด้วย หรือ ๒. ผู้มีอํานาจในการเลื่อนชั้นบัตรโดยสารในการบินไทย ยอมสูญเสียผลประโยชน์ ของบริษัทในกรณีนี้เป็นเงินหลายล้านบาท ทั้งที่บริษัทกําลังประสบปัญหาเรื่อง รายได้ด้วยการทําการเลื่อนชั้นการเดินทางให้นายกรณ์และครอบครัว ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์บางอย่าง เพื่อความก้าวหน้าของตน หรืออาจมีผู้มีอํานาจเหนือกว่าเป็นผู้สั่งการ ซึ่งนับรวมจํานวนครั้งในการขอเลื่อน ชั้นการเดินทางเท่าที่ตรวจสอบพบนั้น ครอบครัวนายกรณ์ขอเลื่อนชั้นการเดินทาง ทั้งหมด ๑๔ ครั้ง โดยมีการเดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ๑๑ ครั้ง เดินทาง ไปเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ๒ ครั้ง และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ๑ ครั้ง รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า ๓,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยครอบครัวนายกรณ์ ได้จ่ายเงิน ค่าบัตรโดยสารจริงให้แก่การบินไทยเพียงประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท พรรคเพื่อไทย ขอประณามพฤติกรรมการใช้อภิสิทธิ์ในการเป็นรัฐมนตรีของนายกรณ์ที่ถือว่า เป็นการเอารัดเอาเปรียบบริษัทการบินไทย จํากัด (มหาชน) ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะ กระทําเองหรือผู้อื่นกระทําให้ เพราะการเดินทางทุกครั้งที่ปรากฏนั้น เป็นการ เดินทางโดยส่วนตัวทั้งสิ้น พรรคเพื่อไทยจึงขอเรียกร้องจากทุกฝ่ายพิจารณา ดําเนินการในเรื่องนี้โดยด่วนเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้อํานาจหน้าที่ของ รัฐมนตรีไปในทางที่มิชอบทั้งแนบท้ายตารางการบินพร้อมเอกสารที่แจกผู้สื่อข่าว ดังกล่าว ต่อมาในวันเดียวกันหลังจากที่จําเลยที่ ๓ และที่ ๔ แถลงข่าว โจทก์ที่ ๑ได้ออกแถลงกล่าวตอบโต้เรื่องดังกล่าวต่อสื่อมวลชนว่าไม่เป็นความจริง และ ต่อมาวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ จําเลยที่ ๓ และที่ ๔ กับพวกได้แถลงข่าวยืนยันว่า เรื่องที่แถลงในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ มีเอกสารหลักฐานและได้ทําการ ตรวจสอบแล้ว เห็นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ ๑ เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่วนโจทก์ที่ ๒ เป็นภริยาของโจทก์ที่ ๑ แม้ว่าการกระทําของจําเลยที่ ๓ และที่ ๔ ที่ร่วมกันแถลงข่าวให้ผู้สื่อข่าวบันทึกภาพ และเสียงทั้งสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนทุกแขนง และแจกเอกสาร ประกอบการแถลงด้วยข้อความที่มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสอง โดยประการที่น่าจะทําให้โจทก์ทั้งสองผู้ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือ ถูกเกลียดชัง อันอาจเข้าเกณฑ์เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ก็ตาม

แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๓) บัญญัติยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทว่า ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใด โดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชน ย่อมกระทํา ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่เพียงแต่ มีหน้าที่นําสืบว่าจําเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันใส่ความโจทก์ทั้งสองโดยประการ ที่น่าจะทําให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียงเท่านั้น หากแต่ยังมีหน้าที่นําสืบด้วยว่า การกระทําของจําเลยที่ ๓ และที่ ๔ มิใช่เป็นการแสดงความเห็นหรือข้อความ โดยสุจริต โดยติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชน ย่อมกระทําด้วย สําหรับประเด็นข้อนี้โจทก์ทั้งสองมีโจทก์ที่ ๑ เบิกความว่า โจทก์ที่ ๑ เห็นว่าการกระทําของจําเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และชอบธรรม แต่เป็นการจงใจกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองโดยการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งแม้ว่าโจทก์ทั้งสองจะพยายามนําสืบว่าการเดินทางของบุตรโจทก์ทั้งสอง เป็นการซื้อตั๋วโดยสารในชั้นประหยัดและเลื่อนระดับเป็นชั้นธุรกิจ เช่นเดียวกับ การเดินทางของโจทก์ทั้งสองที่มีการเลื่อนชั้นบัตรโดยสาร นั้น โจทก์ที่ ๑ มิได้ใช้ อํานาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการเลื่อนชั้นบัตรโดยสาร แต่อย่างใด และภายหลังจากจําเลยที่ ๓ และที่ ๔ แถลงข่าวในวันที่ ๒๖ และ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ แล้ว ในวันที่ ๒๙ เดือนเดียวกัน บริษัทการบินไทย จํากัด (มหาชน)

ได้ทําหนังสือชี้แจงกรณีการซื้อตั๋วโดยสารของโจทก์ที่ ๑ และครอบครัว โดยระบุว่า การเลื่อนชั้นบัตรโดยสารของโจทก์ที่ ๑ และครอบครัวเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ และการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษดังกล่าวไม่ลิดรอนสิทธิที่นั่งของผู้โดยสารปกติ โดยโจทก์ทั้งสองมีนางสรวณี พนักงานของบริษัทการบินไทย จํากัด (มหาชน) ตําแหน่งผู้อํานวยการหน่วยธุรกิจรอยัลออร์คิดพลัส เบิกความอธิบายหลักเกณฑ์ การปรับระดับชั้นที่นั่งโดยสารของบริษัทการบินไทย จํากัด (มหาชน) มีอยู่ ๒ หลักเกณฑ์ คือ กรณีที่หนึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกําหนดไว้ อีกกรณีหนึ่ง คือ การปรับชั้นที่นั่งโดยสารนอกหลักเกณฑ์โดยในกรณีนี้เป็นกรณีพิเศษที่ทางบริษัทฯ กําหนดไว้ว่าผู้ใดมีอํานาจอนุมัติได้บ้าง และจะอนุมัติในกรณีใดบ้างก็ตาม แต่จาก การเดินทางของโจทก์ทั้งสองและครอบครัวรวม ๑๔ เที่ยวบินที่ปรากฏในเอกสาร แผ่นที่ ๓ ที่จําเลยที่ ๓ และที่ ๔ นํามาแสดงประกอบการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ นั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับเอกสารการเดินทาง ของโจทก์ทั้งสองกับครอบครัวที่บริษัทการบินไทยจํากัด (มหาชน) ส่งมาตาม คําสั่งศาลแล้ว ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่า มีการเลื่อนชั้นบัตรโดยสารของโจทก์ที่ ๒ โดยใช้สิทธิบัตรทองอาร์โอพีคลับโกลด์ของโจทก์ที่ ๒ ตามหลักเกณฑ์ในกรณีที่หนึ่ง ของบริษัทการบินไทย จํากัด (มหาชน) ดังที่นางสรวณีเบิกความเพียงรายการเดียว รายการอื่น ๆ นอกนั้นล้วนเป็นการปรับชั้นที่นั่งให้สูงขึ้นแบบนอกหลักเกณฑ์อันเป็น กรณีพิเศษทั้งสิ้น โดยบางรายการมีการปรับชั้นที่นั่งโดยสารโดยระบุผู้มีอํานาจ อนุมัติพร้อมเหตุผล เช่น ระบุว่าเนื่องจากเที่ยวบินมีการสํารองที่นั่งมาเกินจํานวน ที่นั่งอันเป็นการอนุมัติที่หน้างาน ตามเที่ยวบินลําดับที่ ๔ และลําดับที่ ๑๔ (โจทก์ที่ ๒ เที่ยวบินที่จี ๔๑๐ และ ๔๑๑) สําหรับรายการอื่น ๆ นอกนั้นคงเป็นรายการที่โจทก์ทั้งสอง และครอบครัวซื้อตั๋วในราคาหนึ่งและปรับชั้นที่นั่งโดยสารไปสู่ชั้นที่สูงกว่า โดยเป็นการดําเนินการนอกหลักเกณฑ์เป็นกรณีพิเศษดังที่นางสรวณีเบิกความ โดยระบุเพียงตัวผู้อนุมัติเท่านั้น แต่หาได้ระบุถึงเหตุผลที่ต้องปรับชั้นที่นั่งโดยสารไม่ และบางรายการเป็นการอนุมัติด้วยวาจา บางรายการไม่ได้ระบุว่าอนุมัติด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าการอนุมัติ ปรับชั้นที่นั่งโดยสารให้สูงขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองและครอบครัวมากมายหลายครั้ง

รวม ๑๔ เที่ยวบินนั้นได้ดําเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ หรือไม่ โจทก์ที่ ๑ เบิกความยอมรับข้อเท็จจริงต่อคําถามค้านของทนายจําเลยที่ ๓ และที่ ๔ ว่า ขณะเกิดเหตุ นอกจากโจทก์ที่ ๑ จะดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังแล้ว โจทก์ที่ ๑ ยังดํารงตําแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วย การเลือกกรรมการบริษัทการบินไทย จํากัด (มหาชน) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะเป็น ผู้ลงคะแนนเลือก ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยก่อนที่จะมีการ นํารายชื่อของคณะกรรมการให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงคะแนนนั้น จะต้องมีการเสนอ รายชื่อดังกล่าวให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง พิจารณาก่อน สถานะและตําแหน่งกับหน้าที่และอํานาจของโจทก์ที่ ๑ ในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะเกิดเหตุดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบ ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองระบุในฎีกาเกี่ยวกับราคาบัตรโดยสาร เช่น บัตรโดยสาร ชั้นประหยัดสําหรับการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและกรุงลอนดอน ราคา ๓๕,๗๔๕ บาท ชั้นธุรกิจราคา ๑๕๐,๗๖๕ บาท และชั้นหนึ่ง ราคา ๒๒๘,๒๐๐ บาท ผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองกับครอบครัวได้รับจากการปรับระดับชั้นที่นั่งโดยสาร รวม ๑๔ เที่ยวบิน จึงคํานวณเป็นราคาเงินได้เป็นเงินจํานวนมิใช่เล็กน้อย แม้ โจทก์ที่ ๑ จะเบิกความยืนยันว่าไม่เคยใช้อภิสิทธิ์ใด ๆ ในการปรับชั้นที่นั่งบัตรโดยสาร ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองก็หาได้นําผู้อนุมัตินอกหลักเกณฑ์มาสืบว่าอนุมัติเลื่อนชั้น ที่นั่งโดยสารให้แก่โจทก์ทั้งสองและครอบครัวด้วยการใช้ดุลพินิจอย่างไร และใน ประการสําคัญคือโจทก์ที่ ๑ ดํารงตําแหน่งทางการเมืองระดับสูงถึงรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่จะต้องดูแลผลประโยชน์ ของแผ่นดิน แม้พนักงานผู้มีอํานาจจะพิจารณาอนุมัติเอง โดยโจทก์ที่ ๑ มิได้ร้องขอ แต่โจทก์ที่ ๑ เองก็น่าจะตระหนักรู้และอาจใช้วิจารณญาณได้ว่าสมควรที่โจทก์ที่ ๑ จะรับหรือปฏิเสธประโยชน์ที่จะได้จากการเลื่อนชั้นบัตรที่นั่งโดยสารเครื่องบิน ซึ่งอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้จํานวนมิใช่เล็กน้อยเช่นนั้น ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริง จะฟังได้ตามคําฟ้องของโจทก์ทั้งสองว่าจําเลยที่ ๓ และที่ ๔ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ใส่ความโจทก์ทั้งสองในทํานองว่าในการเลื่อนชั้นที่นั่งบัตรโดยสารนั้น อาจทําได้ ในสองลักษณะ คือ ๑. โจทก์ที่ ๑ อาจใช้อํานาจและอภิสิทธิ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งให้พนักงานที่มีอํานาจในการอัพเกรด (เลื่อนชั้น) บัตรโดยสาร ให้เป็นชั้นหนึ่งโดยไม่มีการจ่ายค่าโดยสารเพิ่มเติมตามที่มีการเลื่อนชั้นทั้งอาจมีการ สั่งการให้มีการเลื่อนชั้นการเดินทางของบุตรจากชั้นประหยัดเป็นชั้นธุรกิจด้วย และ ๒. ผู้มีอํานาจในการอัพเกรด (เลื่อนชั้น) บัตรโดยสารในการบินไทยทําการ เลื่อนชั้นบัตรโดยสารให้โจทก์ที่ ๑ กับครอบครัวเพื่อแลกผลประโยชน์หรือ ความก้าวหน้าของตน หรืออาจมีผู้มีอํานาจเหนือกว่าเป็นผู้สั่งการ อันเป็นเพียง การตั้งข้อสังเกตที่จําเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านอยู่ในขณะนั้น เมื่อตรวจสอบพบหลักฐาน ความไม่ชอบมาพากลของรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีก็ชอบที่จะแสดงความคิดเห็น เพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมได้ การกระทําของจําเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงเป็นการ แสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ติชม โจทก์ทั้งสองด้วยความเป็นธรรมหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา ต้องด้วยข้อยกเว้น ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๓) ดังที่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ข้อยกเว้นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๓) เป็นหน้าที่ของจําเลยที่ ๓ และที่ ๔ ที่จะต้องนําสืบ หาใช่หน้าที่ของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องนําสืบไม่นั้น เห็นว่า ในคดีอาญา แม้เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นความผิดให้แก่จําเลยก็ตาม โจทก์ก็ยังคง มีหน้าที่นําสืบว่า การกระทําของจําเลยไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดเช่นว่านั้น หาใช่ว่ากรณีที่จําเลยจะได้รับยกเว้นความผิดเช่นว่านี้แล้ว หน้าที่นําสืบจะตกอยู่ แก่จําเลยดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในฎีกาไม่ คําพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ทั้งสอง กล่าวอ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้

ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาโต้แย้งว่า จําเลยที่ ๓ และที่ ๔ มิได้แสดงความคิดเห็น หรือข้อความโดยสุจริต เพราะจําเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิได้ปฏิบัติตามกลไกของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งกําหนดวิธีการตรวจสอบเอาไว้ คือการยื่นกระทู้ถามหรือยื่นกระทูสด หรือเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือยื่นถอดถอน

รัฐมนตรีได้แต่กลับใช้วิธีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวฝ่ายเดียว โดยเรียกสื่อมวลชนชทุกแขนงมารับฟัง และรับข้อมูลนั้น เห็นว่า สาระสําคัญของข้อยกเว้นความผิด ฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๓) นั้น อยู่ตรงที่ว่า เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชน ย่อมกระทํา ดังนั้น หากความคิดเห็นหรือข้อความที่แสดงออกมาต้องด้วย สาระสําคัญของเหตุยกเว้นความผิดดังกล่าวแล้ว ไม่ว่าผู้ใส่ความผู้อื่นจะแสดง ความคิดเห็นหรือข้อความด้วยวิธีการอย่างไร ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะกล่าว หรือแสดงความคิดเห็นหรือข้อความเช่นว่านั้นได้ เพราะแม้จําเลยที่ ๓ และที่ ๔ จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอํานาจหน้าที่และมีสิทธิที่จะใช้ช่องทางตาม กฎหมายรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบโจทก์ที่ ๑ กับครอบครัวได้ตามวิถีทาง ของกระบวนการประชาธิปไตยก็ตาม แต่จําเลยที่ ๓ และที่ ๔ ก็ยังอยู่ในฐานะ ของประชาชนที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๓) เฉกเช่นเดียวกับประชาชนคนอื่น ๆ เช่นกัน

สําหรับฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้ออื่น ๆ นอกจากนี้ ล้วนเป็นข้อโต้แย้ง ซึ่งบางประเด็นก็ได้วินิจฉัยในประเด็นก่อน ๆ อยู่แล้ว และหลายประเด็นที่ฎีกา กล่าวอ้างมาล้วนเป็นพลความข้อปลีกย่อย แม้รับวินิจฉัยให้ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลง ผลแห่งคดีได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตามคําพิพากษา ศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยที่ ๓ และที่ ๔ มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments