เจ้าหนี้ใช้กำลังบังคับให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้ มากกว่าจำนวนเงินที่ได้รับไปจริง จะฟ้องร้องบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้เงินกู้ได้หรือไม่
ในกรณีที่เจ้าหนี้ใช้กำลังบังคับให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้ มากกว่าจำนวนเงินที่ได้รับไปจริง ถือเป็นกรณีที่ เจ้าหนี้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เจ้าหนี้ไม่มีอำนาจนำสัญญากู้ดังกล่าวมาฟ้องร้องบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้เงินกู้ได้
มีแนวคำพิพากษาวางหลักไว้ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13707/2558
โจทก์บังคับให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน 100,000 บาท ทั้งที่ความจริงกู้ยืมเงินกันเพียง 10,000 บาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจแสวงหาผลประโยชน์จากสัญญากู้ที่ทำขึ้นโดยไม่สุจริต ปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
ข้อสังเกต คดีนี้ เดิมจำเลย กู้ยืมเงินและรับเงินกู้ไปจากโจทก์เพียง 10,000 บาท แต่ต่อมาภายหลังโจทก์ได้ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไว้เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท เมื่อจำเลยไม่ยอมลงลายมือชื่อ โจทก์ก็บังคับขู่เข็ญจำเลย ว่าจะนำตำรวจมาจับกุม เนื่องจาก ตัวจำเลย ได้รับเงินกู้จากโจทก์ไปเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาทแล้ว ด้วยความกลัวจำเลยจึงลงลายมือชื่อไว้
ภายหลังโจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินที่ระบุจำนวนเงินกู้ 100,000 บาทมาฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลย จำเลยจึงให้การต่อสู้คดีตามเหตุผลที่กล่าวมา ศาลฎีกาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์โดยนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 มาวินิจฉัย ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต
มีปัญหาทางคดี
ติดต่อทนายอธิป 091 712 7444