ผู้กู้นำโฉนดที่ดินมอบให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ ผู้ให้กู้จะมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินหรือไม่ ? และหากผู้ให้กู้คืนโฉนดที่ดินแก่ผู้กู้ไปจะเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดหรือไม่ ?
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้ครับ
1.คำพิพากษาฎีกาที่ 1894/2546
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิ์ยึดหน่วงโฉนดที่ดินฉบับพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินก็โดยจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เงินกู้ มอบให้ยึดถือเป็นประกันเงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารท้ายคำฟ้อง
ผู้ร้องจึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ คืนโดยอาศัยข้อตกลงในหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวนั้นเอง
แต่สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิ บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา ไม่สามารถใช้ยันบุคคลอื่นได้
ส่วนสิทธิยึดหน่วงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 241 หมายถึง การที่ผู้ครอบครองได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ครอบครองเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น หนี้ที่ผู้ร้องมีเป็นเพียง หนี้เงินกู้ที่ผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้คืนเท่านั้น หาได้เป็นคนแก่ผู้ร้องเกี่ยวด้วยที่โฉนดที่ดินดังกล่าวไม่
เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินฉบับพิพาท
2. คำพิพากษาฎีกาที่ 2718/2515
ในประเด็นที่ว่าการที่โจทก์ได้คืนโฉนด ที่ดินให้กับจำเลยที่ 1 ไปนั้น จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 697 นั้น ต้องเป็นสิทธิที่ ให้อำนาจแก่เจ้าหนี้เหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น การจำนองจำนำหรือบุริมสิทธิ
โฉนดที่ดินเป็นเพียงเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์ จำเลยที่ 1 มอบโฉนดที่ดินให้โจทก์ยึดถือไว้ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิ์ใดๆในตัวทรัพย์คือที่ดินตามโฉนด การที่โจทก์คืนโฉนดให้จำเลยที่ 1 ไป จึงไม่เป็นเหตุทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันพ้นความรับผิดไปได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 631/2474
สรุป ไม่สามารถยึดหน่วงโฉนดที่ดินได้ และแม้ว่าจะคืนโฉนดที่ดินไปแล้วก็ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด
มีปัญหาทางคดีความ
ติดต่อทีมทนายอธิป 091 712 7444