ซื้อขายรถยนต์โดยผู้ขายยังมิได้ส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และโอนชื่อในทะเบียนให้แก่ผู้ซื้อ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะเป็นของฝ่ายใด และหากผู้ซื้อไม่ยอมชำระเงินที่ค้าง ผู้ขายจะเอารถยนต์กลับคืนมาโดยพลการเป็นความผิดหรือไม่
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 9603/2553 (ประชุมใหญ่)
โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์กับจำเลยในราคา 310,000 บาท ซึ่งในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า จำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 28 ตุลาคม 2540 ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540
สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์แต่ประการใด จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่เมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453,458
ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปี และแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าว
ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ไปจากที่จอดรถ จึงเป็นการเอารถยนต์ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง แต่เป็นการใช้อำนาจบังคับให้ชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
เพราะโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์แก่จำเลยเพียง 20,000 บาท แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง 100,000 บาท
การที่จำเลยเอารถยนต์ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
สรุป การซื้อขายรถยนต์โดยยังไม่ได้ส่งมอบคู่มือจดทะเบียนและโอนชื่อในทะเบียน โดยไม่มีเงื่อนไข เกี่ยวกับการโอน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์เป็นของผู้ซื้อ และ หากผู้ซื้อไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง ผู้ขายเอารถยนต์กลับคืนโดยพลการอาจเป็นความผิดอาญาฐานลักทรัพย์ได้
มีปัญหาทางคดีความติดต่อ
ทีมทนายอธิป 0 9 1 7 1 2 7 4 4 4
Facebook Comments