Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

53435

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2778/2561

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยความในมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า ” (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ” โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า ” (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ” กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องไม่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด เมื่อคดีได้ความว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 328 การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติในภายหลัง ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 14 (5) ซึ่งเป็นบทความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) ด้วย กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3462/2560

การที่จำเลยจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและบุคลากรของมหาวิทยาลัย อ. รวมทั้งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยบางส่วน ในฐานะเป็นอธิการบดีซึ่งทำการแทนมหาวิทยาลัย อ. มิได้กระทำเป็นส่วนตัว เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย อ. ที่ทำให้มหาวิทยาลัย อ. จำต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดทางวินัย รวมถึงสาเหตุของการเผยแพร่ใบปลิวและความวุ่นวายที่เกิดจากการชุมนุมปราศรัยของโจทก์กับพวก เพื่อให้ทราบความจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย อ. อันเป็นการรักษาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย อ. และปกป้องประโยชน์ของทางราชการย่อมถือเป็นการให้ข่าวสารข้อมูลของทางราชการเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย อ. อันเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2529 ให้อำนาจจำเลยไว้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งในมูลละเมิดแก่โจทก์ได้ เพราะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2560

จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ตามบทนิยามของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 มิได้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบในการผลิตข่าวแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้นำสืบพยานให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับข่าวตามที่โจทก์นำมาฟ้องอย่างไร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทได้

จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์มติชนออนไลน์ เป็นผู้นำเสนอข่าวสารทางระบบคอมพิวเตอร์ในนามของตนเอง คือเว็บไซต์มติชนออนไลน์ จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้ให้บริการตามบทนิยามของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และการที่เว็บไซต์มติชนออนไลน์เสนอข่าวใด ๆ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของและเป็นผู้ให้บริการ ยินยอมให้มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้มอบให้บุคคลอื่นควบคุมดูแลบริหารจัดการเว็บไซต์โดยจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องกับข่าวดังกล่าวเลยหาได้ไม่ เพราะบทกฎหมายข้างต้นมีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์จะควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ให้บริการโดยเฉพาะ

โจทก์มิได้เป็นแกนนำหรือเข้าร่วมการชุมนุมตามข่าวที่ปรากฏ ถือได้ว่าข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวโจทก์เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ เมื่อข่าวดังกล่าวระบุว่าการชุมนุมมีการนำรถบรรทุกสิบล้อมาปิดถนน อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้รถทุกประเภทไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งตามข่าวระบุว่าเป็นแกนนำการชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้บริการยินยอมให้มีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 (1)

หนังสือพิมพ์รายวันมติชนของจำเลยที่ 1 เผยแพร่และวางจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ส่วนเว็บไซต์มติชนออนไลน์ก็เผยแพร่โดยระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวได้ทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าการกระทำตามฟ้องเกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร โจทก์จึงใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2558

การนำหนังสือพิมพ์ไปแจกโดยทราบว่ามีเนื้อหาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ถือได้ว่าเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14169/2557

ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการใช้ข้อความ ต้องพิจารณาข้อความว่า เมื่อวิญญูชนโดยทั่วไปได้พบเห็นและอ่านข้อความแล้ว จะส่งผลให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เมื่อพิจารณาข้อความที่ จ. เขียนเห็นได้ว่า ความหมายของข้อความเป็นการแสดงว่าผู้เขียนยืนยันข้อเท็จจริงและเชื่อตามหนังสือร้องเรียนที่ จ. อ้างว่าได้รับจากชาวบ้านว่า โจทก์เป็นคนนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งแก่ผู้จำหน่าย โดยผู้เขียนและจำเลยที่ 3 ไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบว่า เป็นความจริงและจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ทั้งต่อมาโดยผลของการตีพิมพ์ข้อความยังเป็นเหตุให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาไม่ไว้วางใจและตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบอาชีพรับราชการไม่พึงปรารถนา แม้ผลการสอบสวนจะไม่มีความผิดแต่ก็จะมีมลทินมัวหมอง และอาจะมีผลต่อความก้าวหน้าในชีวิตราชการอีกด้วย ข้อความดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นบรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจ จัดทำ และควบคุมข่าวและข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ต้องถือเป็นตัวการร่วมรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์และหมิ่นประมาทโจทก์

 

จ. ผู้เขียนข่าวไม่รู้จักโจทก์ ไม่รู้ว่าดาบ ก. มีตัวตนหรือไม่ ไม่ได้ตรวจสอบว่าหนังสือร้องเรียนเป็นความจริงหรือไม่ และไม่ได้เก็บหนังสือร้องเรียนไว้ แสดงว่า ผู้เขียนไม่ได้มีข้อมูลหรือพฤติการณ์ใด ๆ ที่จะส่อแสดงว่า ที่อำเภอปะคำมีตำรวจชื่อดาบ ก. นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้ชาวบ้านจำหน่าย ในฐานะเป็นสื่อมวลชน เมื่อมีหนังสือร้องเรียนซึ่งไม่ได้ลงชื่อผู้ร้องเรียนเพียงฉบับเดียวเท่านั้น ข้อมูลในการกล่าวหาโจทก์ที่ได้มาเพียงเท่านี้ วิญญูชนย่อมทราบได้ว่าอาจมีการกลั่นแกล้งกัน จำเลยที่ 3 ต้องใช้ความระมัดระวังในการเสนอข่าวมากเป็นพิเศษ จะถือว่าเป็นสื่อมวลชนแล้วจะเสนอข่าวอย่างใดก็ได้นั้นมิได้ มิฉะนั้นอาจจะเป็นช่องทางให้บุคคลบางคนบางกลุ่มใช้สื่อในการทำลายชื่อเสียงกันและย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบด้วย การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตหรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10840/2557

การพิจารณาว่าผู้กล่าวใส่ความมุ่งหมายให้คำกล่าวใส่ความสร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียงของผู้ถูกใส่ความคนใด นั้น จะพิจารณาแต่เพียงถ้อยคำพูดเฉพาะส่วนใด แยกเป็นส่วนๆ ไม่ได้ หากแต่ต้องพิจารณาภาพรวมที่ผู้ใส่ความกล่าวถึงทั้งหมดรวมกัน อีกทั้งยังอาจต้องพิจารณาถึงสถานที่และเวลาโอกาสรวมทั้งประเด็นปัญหาและเป้าหมายที่ผู้กล่าวใส่ความต้องการสื่อถึงผู้รับฟังคำพูดนั้นประกอบกันด้วย ซึ่งเมื่อนำข้อพิจารณาเช่นว่านี้มาวินิจฉัยประกอบคำพูดอภิปรายของจำเลยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดแล้วมีข้อความโดยรวมบ่งชี้ชัดแจ้งว่าจำเลยมุ่งหมายใส่ความพาดพิงถึงบริษัทโจทก์ซึ่ง ณ. ภริยาของ ส. ผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทด้วยผู้หนึ่ง และบริษัทโจทก์ได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีสรรพสามิต เพราะ ส. ผลักดันให้มีการออกประกาศกรมสรรพสามิตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทโจทก์นั่นเอง คำกล่าวอภิปรายของจำเลยเช่นนี้ได้ความชัดเจนเพียงพอที่ทำให้ผู้ฟังคำอภิปรายเข้าใจได้ว่าบริษัทที่จำเลยยกตัวอย่างว่าได้รับประโยชน์จากการที่ ส. ผลักดันให้มีการออกประกาศกรมสรรพสามิตยกเว้นภาษีสรรพสามิต คือ บริษัทโจทก์นั่นเอง หาอาจเข้าใจว่าเป็นบริษัทอื่นนอกจากบริษัทโจทก์ไม่โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10839/2557

การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า จำเลยซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัวตรงหมายเลข 966 ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัลแต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7134/2557

จำเลยฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ ดังนี้ การบรรยายฟ้องว่า โจทก์พูดจาข่มขู่จำเลยอันมิใช่เป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยมอันเนื่องมาจากการที่จำเลยใช้สิทธิในการเข้าตรวจสอบที่ดินและอาคารตามฟ้องซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โดยโจทก์ได้พูดจาข่มขู่ต่อจำเลยว่า ใครเข้าไปเดี๋ยวจะเอาเข้าคุกให้หมดเลยทั้งคนเข้าไป จะเป็นทนายหรือตำรวจ เดี๋ยวจะเอาเข้าคุกให้หมด ทั้งที่จำเลยได้ซื้อที่ดินและอาคารมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์เป็นทนายความมีความรู้ทางกฎหมายมากกว่าคนทั่วไปกลับกล่าวคำข่มขู่ดังกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ก้าวร้าว รุนแรง และมิใช่เป็นการข่มขู่ที่จะใช้สิทธิตามปกตินิยม ทำให้จำเลยกลัวและไม่สามารถตรวจสอบที่ดินและอาคารอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้อย่างสมัครใจเนื่องจากกลัวว่าโจทก์สามารถทำให้จำเลยเข้าคุกได้เพราะแม้แต่เจ้าพนักงานตำรวจโจทก์ยังกล้าพูดข่มขู่ จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งจำเลยจำเป็นต้องกล่าวมาในฟ้องเพื่อให้เห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลของคู่ความเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้ในคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานหมิ่นประมาท และยกคำขอในส่วนแพ่ง เท่ากับศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งแล้ว และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ซึ่งเท่ากับศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งเช่นกัน การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาแล้วมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว แต่มิใช่เป็นกรณีศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องโจทก์แล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ตั้งแต่ต้น อันจะทำให้ศาลมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments