Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีฉ้อโกง

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีฉ้อโกง

37408

 

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาล่าสุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6404/2560

การที่จำเลยทั้งสองประสงค์ให้ร้าน ก. ของจำเลยทั้งสองได้รับงานรับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จึงหลอกลวงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่มีข้อความว่า ธนาคารยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโรงพยาบาล ช. ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่ร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้างมาแสดง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง อันเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายและการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. และได้ทรัพย์สินเป็นค่าจ้างจากการทำงาน 108,000 บาท ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว แม้ภายหลังจำเลยทั้งสองจะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาลจริงและได้รับค่าจ้างดังกล่าว ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำความผิดอาญาของจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นแล้วกลับกลายเป็นไม่มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2560

พฤติการณ์ของจำเลยที่ลักสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. สาขาพระราม 3 ของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมีชื่อผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชี ไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในใบคำขอถอนเงินของผู้เสียหายที่ 2 แล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปแสดงต่อพนักงานของผู้เสียหายที่ 2 และได้รับเงินไปจำนวน 59,000 บาท เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นหลักจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 โดยไม่ได้อ้างมาตรา 341 มาด้วย แต่ความผิดฐานดังกล่าวเป็นการกระทำที่เป็นองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 (1) ได้ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2560

แม้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 แต่เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มอบเงินสดให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ และจำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาจะต้องมีค่าใช้จ่าย การที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินให้แก่จำเลย จึงมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงใดอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทำงานเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ที่อาคารรัฐสภา และสามารถติดต่อช่วยเหลือให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับงานการทำป้ายโฆษณา การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4225/2559

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเสนอขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยแจ้งว่าเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิการครอบครองและรับรองว่าสามารถจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ แต่เนื่องจากที่ดินติดจำนองธนาคาร จำเลยจะนำเงินที่ได้จากโจทก์ไปไถ่ถอนจำนองมาจดทะเบียนโอนให้โจทก์ภายในเดือนเมษายน 2555 ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2555 โจทก์ตรวจสอบพบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 01 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา จึงฟังได้ว่าโจทก์ทราบเรื่องที่ถูกหลอกว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 01 มิใช่ที่ดินมีเอกสารสิทธิที่จะสามารถโอนให้กันได้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2555 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 เกิน 3 เดือน นับแต่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความ กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เพิ่งทราบเรื่องความผิดฐานฉ้อโกงในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยรับรองว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพัน ในที่ดินพิพาทให้กระทบสิทธิของโจทก์เพราะเป็นการตกลงกันภายหลัง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง

การที่จำเลยนำ ส.ป.ก. 4 – 01 ไปถ่ายสำเนาแล้วลบชื่อบิดาจำเลยผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เดิมและเปลี่ยนเป็นชื่อจำเลย แล้วจำเลยนำไปขายให้แก่ น. และ จ. ทั้งที่จำเลยรับกับโจทก์แล้วว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพัน ในที่ดินพิพาท เห็นว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังเป็นของรัฐเพียงแต่รัฐนำที่ดินมาจัดสรรให้ประชาชนครอบครองทำกินเท่านั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่ก่อให้ น. และ จ. มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท แม้จำเลยรับรองต่อโจทก์ว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพันในที่ดินพิพาท โจทก์ก็มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2559

แม้จำเลยมีภาระผูกพันที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินคืนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ แต่การที่จำเลยโอนที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ น. และ จ. ซึ่งที่ดินพิพาทไม่ใช่ของจำเลยหรือของบิดาจำเลย จึงมิใช่การโอนไปซึ่งทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา 350 ไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

การที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายที่ 1 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งเป็นบุคคลที่มีภาวะแห่งจิตต่ำกว่าปกติ และย่อมถูกหลอกลวงได้โดยง่ายกว่าคนปกติทั่วไปนั้น ถือเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยอาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้เสียหายที่ 1 ผู้ถูกหลอกลวง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 342 (2) หาใช่เป็นเพียงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ แต่เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงเพียงแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่เสียใหม่ให้ถูกต้อง แต่ก็ไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสี่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95/2559

แม้โจทก์บรรยายฟ้องและเบิกความแยกการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มาเป็น 3 วัน แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและเบิกความว่าจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ขอให้ช่วยเหลือทางการเงินแก่จำเลยที่ 2 ในการนำเงินที่จำเลยที่ 2 ร่วมลงทุนค้าทองคำและอัญมณีกับสมาคมพ่อค้าจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มีค่าดำเนินการ แล้วจำเลยที่ 2 จะจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า โจทก์หลงเชื่อจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 และวันที่ 27 มิถุนายน 2555 จำนวน 2,500,000 บาท 1,300,000 บาท และ 152,000 บาท ตามลำดับ การที่โจทก์โอนเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในแต่ละครั้งเป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หลอกลวงให้โจทก์ช่วยเหลือทางการเงินแก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการกระทำต่อเนื่องกันด้วยเจตนาอย่างเดียวเพื่อที่จะฉ้อโกงโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9667/2558

ข้อความตามบันทึกระบุได้ความว่า จำเลยนำเหรียญหลวงพ่อคูณมาขายให้โจทก์ร่วมหลายครั้ง เป็นเงิน 1,030,000 บาท ซึ่งปรากฏว่าเป็นเหรียญปลอม ทำเลียนแบบ จำเลยยอมรับที่จะนำเงินมาคืนโจทก์ร่วมเป็นเงิน 1,030,000 บาท โดยจะผ่อนชำระให้เดือนละ 50,000 บาท ทุกเดือน เริ่มงวดแรกวันที่ 2 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไป จนกว่าจะผ่อนหมด หากจำเลยผิดเงื่อนไขไม่ว่างวดใดงวดหนึ่ง ยินยอมให้โจทก์ร่วมดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้ทันที เมื่อไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่า โจทก์ร่วมตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสอง จึงมิใช่การยอมความ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คฉบับละ 50,000 บาท อีก 14 ฉบับ รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ให้โจทก์ร่วม เพื่อชำระเงินตามบันทึก ส่วนที่เหลืออีก 280,000 บาท จะชำระเป็นเงินสด เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในเช็ค 2 ฉบับ ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครใต้ โดยโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ และศาลแขวงพระนครใต้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนเช็คฉบับอื่น เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว โจทก์ร่วมจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คทั้ง 14 ฉบับให้โจทก์ร่วมนั้น เป็นการสั่งจ่ายเช็คเพื่อผ่อนชำระหนี้ตามที่ตกลงในบันทึกเท่านั้น ทั้งเช็ค 14 ฉบับก็ไม่ได้ชำระหนี้ทั้งหมด ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมสละสิทธิหรือไม่ยึดถือสิทธิใดๆ รวมทั้งสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ร่วมดังกล่าวเป็นเพียงการชำระหนี้ในทางแพ่งตามข้อตกลงในบันทึกเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันอันทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2558

จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท อ. ประกอบกิจการก่อสร้างบ้านพร้อมจัดสรรที่ดินขายให้แก่ลูกค้า ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีเนื้อที่ โฉนดที่ดินและที่ตั้งตรงกับที่ดินพิพาท ทั้งรูปแผนที่ก็ตรงตามผังแสดงแนวเขตที่ดินของที่ดินทุกแปลง เพียงแต่ตอนนำชี้ก่อนที่จะตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขาย ได้ชี้แนวเขตที่ดินเพียงคร่าว ๆ ครั้นรังวัดแนวเขตชัดเจนแล้วปรากฏว่า ทิศทางและแนวเขตแตกต่างไปจากที่เจรจาตกลงกันตอนแรก ที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่า การก่อสร้างกำแพงตามแนวเขตดังกล่าว ทำให้บดบังทัศนียภาพของท้องน้ำนั้น เมื่อดูจากภาพถ่ายก็ยังสามารถมองเห็นทัศนียภาพของท้องน้ำได้อย่างชัดเจน พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านรวมราคากว่า 7,000,000 บาท แต่โจทก์ร่วมชำระเงินไปเพียง 400,000 บาท หลังจากรังวัดแล้ว เนื้อที่ดินทั้งหมดก็ยังเป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขาย การที่จำเลยชี้แนวเขตที่ดินในตอนแรกโดยที่ยังไม่มีการรังวัด เป็นการกะประมาณเท่านั้น การกระทำของจำเลยยังไม่พอที่จะฟังว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตใช้อุบายหลอกลวงให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 30277 และ 30301 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่จำเลยอ้างว่าจะนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไปดำเนินการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกและโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกลับนำที่ดินทั้งสองแปลงไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ค. ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติทางการสมรสกับจำเลย ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงที่ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11732/2557

ในการพิจารณาคดีของศาลในคดีอาญาว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องเป็นไปตามคำบรรยายฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิด บทกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด และบทกฎหมายที่โจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ซึ่งตามมาตรา 348 บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จึงไม่อาจฎีกาว่าทรัพย์ที่สูญเสียไปจากการกระทำความผิดเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน จึงไม่เป็นความผิดอันยอมความ เพื่อให้ผิดแผกไปจากฟ้องได้ โจทก์ร่วมเป็นเพียงกรรมการตรวจรับงานจ้างของเทศบาลนครลำปางผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมิใช่ผู้แทนของนิติบุคคลผู้เสียหายที่ 1 ย่อมไม่มีอำนาจร้องทุกข์แทนผู้เสียหายที่ 1 การที่นายกเทศมนตรีนครลำปางผู้แทนนิติบุคคลผู้เสียหายที่ 1 ไม่แจ้งความร้องทุกข์เพราะมีส่วนร่วมกระทำผิดกับจำเลยทั้งสองนั้น มิใช่เหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อยกเว้นบทบัญญัติในเรื่องผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้หากการไม่ร้องทุกข์ของนายกเทศมนตรีนครลำปางก่อให้เกิดความเสียหาย หรือผู้แทนนิติบุคคลผู้เสียหายที่ 1 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอย่างใด ก็ชอบที่จะดำเนินคดีจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนนิติบุคคลเป็นอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้ เมื่อนายกเทศมนตรีนครลำปางผู้แทนผู้เสียหายที่ 1 มิได้ร้องทุกข์ดังนี้ ก็ต้องถือว่าไม่มีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายและต้องห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6793/2557

แม้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นคดีความผิดต่อแผ่นดิน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงและลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม และยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงแก้ไข กรณีย่อมถือว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งโจทก์ชอบที่จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยจำเลยไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2557

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง ทำสัญญานายหน้ากับโจทก์กับพวกเพื่อให้โจทก์กับพวกทำหน้าที่ชี้ช่องติดต่อหาผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาโจทก์กับพวกติดต่อจำเลยที่ 2 ว่าจะซื้อที่ดิน แต่ยังไม่มีการนัดจดทะเบียนโอน จำเลยทั้งสองร่วมกันไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 3 แปลง และจำเลยที่ 2 ให้บริษัท จ. ซึ่งมี ธ. เป็นตัวแทนเป็นผู้ซื้อที่ดิน โจทก์กับพวกมีสิทธิได้รับค่านายหน้าตามสัญญาเป็นเงิน 5,560,000บาท แต่จ่ายค่านายหน้าให้โจทก์เพียง 250,000 บาท การให้บริษัท จ. โดย ธ. เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลง เพื่อให้ตนได้รับค่านายหน้าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นการแสดงตนเป็นคนอื่น และการติดต่อทำสัญญากับโจทก์และพวกให้มีการซื้อขายที่ดินของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งเงินค่านายหน้าของโจทก์ ดังนี้ หากจะฟังว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องจริง การหลอกลวงเช่นนั้นก็มิได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวงแต่อย่างใด เงินที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ไปนั้นเป็นเพียงเงินค่านายหน้าซึ่งโจทก์ถือว่าตนมีสิทธิจะได้ และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้เท่านั้น เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ทั้งข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแสดงตนเป็นบุคคลอื่นหรือฉ้อโกงประชาชนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามฟ้องโจทก์และไม่มีมูลเป็นความผิด

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments