Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาศาลฎีกา ยกฟ้องคดีหมิ่นประมาท

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา ยกฟ้องคดีหมิ่นประมาท

34842
label

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2559

การเปิดบ่อนที่มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มิใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ประชาชนโดยทั่วไปประสงค์จะทราบเท่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า การพนันเป็นการมอมเมาประชาชนให้หลงในอบายมุข ก่อให้เกิดการกระทำความผิดอื่นตามมาเป็นลูกโซ่ มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลปราบปรามอาชญากรรมกลับมากระทำความผิดเสียเอง นอกจากจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อวงการราชการตำรวจแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการปราบปรามอาชญากรรมอีกด้วย ที่จำเลยทั้งสองสัมภาษณ์ พล.ต.อ. ส. ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดาซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ก็เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้จะมีข้อความหมิ่นประมาท การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11118/2558

ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่สำนักงาน น. ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง ว. นั้น โจทก์ร่วมดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน น. และในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่ศูนย์ พ. ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ให้ทุนสนับสนุนทางวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์แก่สำนักงาน น. เพื่อดำเนินงานโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพในหัวข้อ “การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของภาคเกษตรอินทรีย์ไทย” (Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Agriculture) โดยทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมงานซึ่งดำเนินงานตามโครงการนี้ดังนั้นไม่ว่าการดำเนินงานตามโครงการนี้จะอยู่ในขอบเขตการทำงานตามที่สำนักงาน น. ว่าจ้างจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม เมื่อปรากฏชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการนั้นย่อมถือได้ว่าทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ซึ่งต่อมาทีมดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวได้จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอันมีใจความสำคัญและรายนามผู้เขียนร่วมกันตรงกันกับบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการฉบับหนึ่ง คงมีความแตกต่างในลำดับของรายนามผู้เขียน ซึ่งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างก็โต้แย้งว่าตนเองเป็นผู้เขียนหลักในบทความดังกล่าว ดังนั้นเมื่อทั้งรายงานฉบับสมบูรณ์ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมทั้งบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการดังกล่าวมีรายนามผู้เขียนร่วมกัน 7 คน เหมือนกัน และมีชื่อทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันเหมือนกันโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เขียนคนใดเขียนในเนื้อหาส่วนใด จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าบุคคลทั้งเจ็ดคนดังกล่าวเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าวร่วมกันทั้งหมด แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการดำเนินการตามโครงการนวัตกรรม ชื่อ “โครงการวิเคราะห์เชิงลึกการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย” ที่บริษัท ส. ได้รับทุนอุดหนุนการดำเนินโครงการจากสำนักงาน น. แต่เมื่อปรากฏว่าหัวข้อโครงการที่บริษัท ส. ดำเนินการดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกันกับหัวข้อโครงการที่สำนักงาน น. ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมดำเนินงาน และระยะเวลาการดำเนินโครงการของบริษัท ส. เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับระยะเวลาดำเนินโครงการของสำนักงาน น. ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. และใกล้เคียงกับช่วงระยะเวลาที่ทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ จึงมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าเนื้อหาการดำเนินโครงการของบริษัท ส. ดังกล่าวอาจมีความทับซ้อนกันกับเนื้อหาการดำเนินโครงการตามรายงานฉบับสมบูรณ์ที่มีชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งทีมงานจัดทำขึ้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมทำดุษฎีนิพนธ์ในการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ที่มีความใกล้เคียงกันกับหัวข้อดำเนินงานวิจัยในโครงการที่สำนักงาน น. ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 อยู่ในทีมดำเนินงาน และคล้ายคลึงกันกับหัวข้อบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ที่วารสารทางวิชาการ ทั้งยังเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันทั้งหมด โดยเอกสารทางวิชาการที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นมีเนื้อหาอันเป็นใจความสำคัญเหมือนกันโดยบรรณานุกรมของดุษฎีนิพนธ์ที่โจทก์ร่วมทำขึ้นก็อ้างอิงถึงรายงานฉบับสมบูรณ์ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งทีมงานได้จัดทำขึ้นด้วย ทั้งยังได้ความอีกด้วยว่า จำเลยที่ 1 สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตโดยจะเสนอหัวข้อดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยส่งบทความทางวิชาการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการมาแล้วนั้น แต่อาจารย์ที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 แจ้งว่า ไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ร่วมดำเนินงานโครงการวิจัยและมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันในบทความทางวิชาการที่มีการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการก่อนที่โจทก์ร่วมจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อที่ใกล้เคียงกัน ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมนำผลงานทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมวินิจฉัยและร่วมเขียนบทความไปใช้ในการเขียนดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมในผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องตามที่กล่าวอ้างถึงข้างต้นหรือไม่ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้เขียนร่วมในผลงานทางวิชาการที่กล่าวอ้างถึงดังกล่าว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วม ทั้งในวงวิชาการนั้นพึงมีบรรทัดฐานด้านจรรยาบรรณของนักวิชาการในระดับสากลเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้วิจัยหรือผู้เขียนผลงานทางวิชาการนำผลงานทางวิชาการของผู้สร้างสรรค์ร่วมกันมาใช้ในผลงานทางวิชาการของตน ก็ควรอย่างยิ่งที่โจทก์ร่วมจะได้บอกกล่าวผู้สร้างสรรค์ร่วมกันทุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 1 ว่าจะนำบทความที่เขียนร่วมกันนั้นไปใช้ในดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม และเมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม โดยในส่วนของจำเลยที่ 1 คือการกระทำในส่วนที่ให้สัมภาษณ์แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ลงพิมพ์เผยแพร่ข้อความคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์เป็นบทความภาษาอังกฤษ จึงต้องพิจารณาจากข้อความในบทความที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นเบื้องต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อความภาษาอังกฤษในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แล้ว เห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ข้อความดังกล่าวตามฟ้องทั้งหมด ทั้งใจความสำคัญของข้อความที่กล่าวอ้างไว้ในบทความภาษาอังกฤษล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม รายงานการดำเนินงานวิจัยที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมดำเนินงาน และบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับรายงานการดำเนินงานตามโครงการที่บริษัท ส. เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งงานสร้างสรรค์ในลักษณะงานนิพนธ์อันเป็นงานวรรณกรรมทั้งหกชิ้นดังกล่าวนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหรืออาจถึงขนาดที่กล่าวได้ว่าทับซ้อนกันในเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญได้ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมด ประกอบกับปรากฏตามสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงจากรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงจากรายงานการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำสั่ง จ. ว่า คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเอกสารทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 นั้นเป็นผลงานของจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ แต่ดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วมมีการคัดลอกงานวิชาการจากเอกสารจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งเป็นงานเขียนของกลุ่มบุคคลในปริมาณงานที่มาก แม้ว่าโจทก์ร่วมจะอ้างอิงเอกสารบางรายการไว้ในบรรณานุกรมของดุษฎีนิพนธ์ แต่การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism) ไม่ว่าจะเป็นการลอกวรรณกรรมของตนเองหรือเป็นการลอกวรรณกรรมของผู้อื่นหรือโดยผู้อื่นเป็นเจ้าของผลงานร่วมด้วย นอกจากนี้ สัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ในงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อโต้แย้งของทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการทำรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและในบทความที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยเป็นผู้จัดทำขึ้น รวมทั้งบทความทางวิชาการที่เผยแพร่ต่อเนื่องจากการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวมาทั้งหมดข้างต้นย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกันกับบุคคลอื่นในคณะบุคคลหรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกันกับหน่วยงานผู้ให้สนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้อง และแม้ลิขสิทธิ์ในรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและบทความที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยเป็นผู้จัดทำขึ้นจะมิใช่ของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย แต่ในฐานที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมในผลงานวิชาการในรูปแบบงานนิพนธ์อันเป็นงานวรรณกรรมซึ่งมีลิขสิทธิ์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์นั้นด้วย ดังนั้น จึงมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 พึงได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิในฐานะผู้เขียนเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดังกล่าวนั้นด้วยการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเป็นธรรม การแสดงข้อความตามฟ้องที่ปรากฏในบทความภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมในรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและบทความที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าโจทก์ร่วมได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงข้อความอันเป็นสาระสำคัญดังกล่าวของผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยมิได้บอกกล่าวหรือขออนุญาตผู้สร้างสรรค์ร่วมกันหรือผู้เขียนร่วม หรือผู้มีลิขสิทธิ์ในผลงานนั้นครบถ้วนทุกคน ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 ประกอบมาตรา 326 ดังที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558

ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14169/2557

ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการใช้ข้อความ ต้องพิจารณาข้อความว่า เมื่อวิญญูชนโดยทั่วไปได้พบเห็นและอ่านข้อความแล้ว จะส่งผลให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เมื่อพิจารณาข้อความที่ จ. เขียนเห็นได้ว่า ความหมายของข้อความเป็นการแสดงว่าผู้เขียนยืนยันข้อเท็จจริงและเชื่อตามหนังสือร้องเรียนที่ จ. อ้างว่าได้รับจากชาวบ้านว่า โจทก์เป็นคนนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งแก่ผู้จำหน่าย โดยผู้เขียนและจำเลยที่ 3 ไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบว่า เป็นความจริงและจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ทั้งต่อมาโดยผลของการตีพิมพ์ข้อความยังเป็นเหตุให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาไม่ไว้วางใจและตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบอาชีพรับราชการไม่พึงปรารถนา แม้ผลการสอบสวนจะไม่มีความผิดแต่ก็จะมีมลทินมัวหมอง และอาจะมีผลต่อความก้าวหน้าในชีวิตราชการอีกด้วย ข้อความดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นบรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจ จัดทำ และควบคุมข่าวและข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ต้องถือเป็นตัวการร่วมรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์และหมิ่นประมาทโจทก์

จ. ผู้เขียนข่าวไม่รู้จักโจทก์ ไม่รู้ว่าดาบ ก. มีตัวตนหรือไม่ ไม่ได้ตรวจสอบว่าหนังสือร้องเรียนเป็นความจริงหรือไม่ และไม่ได้เก็บหนังสือร้องเรียนไว้ แสดงว่า ผู้เขียนไม่ได้มีข้อมูลหรือพฤติการณ์ใด ๆ ที่จะส่อแสดงว่า ที่อำเภอปะคำมีตำรวจชื่อดาบ ก. นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้ชาวบ้านจำหน่าย ในฐานะเป็นสื่อมวลชน เมื่อมีหนังสือร้องเรียนซึ่งไม่ได้ลงชื่อผู้ร้องเรียนเพียงฉบับเดียวเท่านั้น ข้อมูลในการกล่าวหาโจทก์ที่ได้มาเพียงเท่านี้ วิญญูชนย่อมทราบได้ว่าอาจมีการกลั่นแกล้งกัน จำเลยที่ 3 ต้องใช้ความระมัดระวังในการเสนอข่าวมากเป็นพิเศษ จะถือว่าเป็นสื่อมวลชนแล้วจะเสนอข่าวอย่างใดก็ได้นั้นมิได้ มิฉะนั้นอาจจะเป็นช่องทางให้บุคคลบางคนบางกลุ่มใช้สื่อในการทำลายชื่อเสียงกันและย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบด้วย การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตหรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20106/2556

จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด โจทก์เคยเป็นประธานทอดกฐิน โจทก์ จำเลย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดและกรรมการของวัดขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัดแยกออกเป็นหลายฝ่าย และกล่าวหาอีกฝ่ายยักยอกเงินของวัดจนมีการฟ้องคดีต่อศาล โจทก์เขียนข้อความกล่าวหาจำเลยว่าเคยบวชพระและมีประวัติเป็นอลัชชียักยอกเงินของวัด ไม่มีความละอายต่อบาป และเขียนป้ายประกาศติดไว้ที่หน้าวัดห้ามจำเลยเข้าบริเวณวัดและจำเลยยักยอกเงินของวัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนโกง เป็นคนไม่ดี การที่จำเลยเขียนหนังสือ และแจกจ่ายหนังสือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดเป็นทำนองตอบโต้โจทก์ เนื่องจากจำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การแสดงข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13622/2555

จำเลยแจกจ่ายแผ่นปลิวโฆษณามีข้อความว่า “เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรี ผู้สื่อข่าว และท่านที่ใจเป็นธรรมทุกท่านทราบ เนื่องจาก อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม มีพื้นที่ต่ำบางส่วนเป็นทางรองรับน้ำ… ระบายออกทางแม่น้ำมูล… ต่อมาความเจริญเริ่มเข้ามา ที่ดินเริ่มมีราคาแพง ทำให้ผู้ที่มีที่ดินติดกับทางระบายน้ำโบราณบุกรุกโดยถมดินและก่อสร้าง… เป็นสาเหตุทำให้น้ำระบายได้ช้า เกิดน้ำท่วม… เรื่องนี้ทางราชการทราบดีแต่ไม่กล้าแก้ไข คงกลัวอิทธิพล… ส่วนอีกราย เป็น ส.ส. เจ้าของโรงสีใหญ่ อยากได้ที่ดินมาก ล้อมรั้วคอนกรีตฮุบหนองน้ำสาธารณะผนวกเข้ากับที่ตัวเองอย่างหน้าด้านที่สุด แปลกจริงหนอเศรษฐีอยากได้ที่ดินใช้วิธีที่น่าละอายที่สุด เข้าข่ายผู้มีอิทธิพลทางด้านใช้อำนาจบุกรุกที่สาธารณะ…” ให้แก่ผู้ที่อยู่ในงาน เป็นการใส่ความว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม ใช้อิทธิพลฮุบเอาสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นของตนโดยมิชอบอย่างไม่มีความละอายแก่ใจ ที่วิญญูชนอ่านแล้วย่อมรู้สึกดูหมิ่นและเกลียดชังผู้เสียหายได้ในทันที อันเป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหายอย่างชัดเจน แม้หากจำเลยไปพบเห็นข้อความในแผ่นปลิวโฆษณา ไม่ว่าข้อความดังกล่าวจะเป็นความจริงดังจำเลยอ้างหรือไม่ แต่ก็มีวิธีการที่จำเลยจะดำเนินการหรือร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบได้อีกหลากหลายวิธีโดยไม่มีเหตุที่ต้องไปละเมิดต่อสิทธิของบุคคลใด จึงไม่มีความจำเป็นใดเลยที่จำเลยจะต้องแจกจ่ายเผยแพร่แผ่นปลิวโฆษณาข้อความหมิ่นประมาทผู้เสียหายในสภาพการซึ่งผู้เสียหายนั่งอยู่ในงานที่มีทั้งนักการเมืองระดับสูงและข้าราชการผู้ใหญ่และประชาชนจำนวนมาก การกระทำของจำเลยดังกล่าวเห็นได้ชัดว่ามีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าโดยมีเจตนาที่ต้องการประจานผู้เสียหายให้ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างมาก ทั้งต่อ ส., ช. ข้าราชการผู้ใหญ่ และประชาชนในพื้นที่ซึ่งไปร่วมงานจำนวนมากนั่นเอง จึงเป็นการใส่ความผู้เสียหายในประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังแล้ว หาใช่มีเจตนาเพียงต้องการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ อันจะทำให้จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10034/2555

การที่จำเลยซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม ออกแถลงการณ์เป็นหนังสือแจกจ่ายแก่ประชาชนว่า โจทก์ร่วมปลอมประกาศนียบัตรผ่านการอบรมงานด้านคอมพิวเตอร์ขององค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม และนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ในการสมัครเป็นพนักงานส่วนตำบลที่จังหวัดราชบุรี โดยองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียมไม่เคยฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ให้แก่โจทก์ร่วม และการที่จำเลยประกาศด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงให้ประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แม้ข้อความนั้นจะมีลักษณะน่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่การกระทำของจำเลยมีเหตุให้เชื่อตามผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนที่มีความเห็นเชื่อว่าโจทก์ร่วมทำปลอมประกาศนียบัตร จึงถือได้ว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8974/2555

จำเลยพิพาทสิทธิในที่ดินพิพาทกับ ส. การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยได้รับสิทธิจาก ส. โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ซึ่งมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิที่ดินพิพาทอยู่เช่นเดิม แม้ข้อโต้แย้งในปี 2541 ระหว่างจำเลยกับ ส. จะได้ข้อยุติตามคำแนะนำของพนักงานสอบสวนให้คู่กรณีดำเนินการในทางแพ่ง แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการฟ้องคดีแพ่งก็หาได้ทำให้ข้อโต้แย้งถึงสิทธิเหนือที่ดินพิพาทเดิมระงับลงแต่ประการใด ดังนั้น การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ส. จึงต้องถือว่าโจทก์ยังโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทกับจำเลยเช่นเดียวกับ ส. การที่จำเลยเข้าแจ้งความเป็นหลักฐานอันเป็นการอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์ต่อไป จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนตามกฎหมายเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5602 – 5604/2555

การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยแต่เพียงว่าข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่าโจทก์ร่วมไม่ได้เรียกเงินจากครูที่สอบบรรจุและไม่ได้ไล่ลูกจ้างเก่าออกแล้วเรียกเงินจากผู้สมัครสอบเป็นลูกจ้างใหม่ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 กับพวกใส่ความโจทก์ร่วมในเรื่องดังกล่าวโดยไม่เป็นความจริง จึงมิใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตอันจะทำให้ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และการที่จำเลยที่ 1 กับพวกใส่ความโจทก์ร่วมเฉพาะในเรื่องดังกล่าวโดยไม่เป็นความจริงก็สามารถทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังได้ในตัวอยู่แล้ว โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีความเชื่ออย่างไรนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากหากจำเลยที่ 1 กับพวก เชื่อโดยสุจริตว่าพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมส่อไปในทางทุจริต แม้จะเป็นการเข้าใจผิด จำเลยที่ 1 กับพวก ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงชอบที่จะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวด้วย ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการไม่ชอบ เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก เป็นไปตามลำดับศาล ทั้งนี้เพราะคดีอาจถูกจำกัดสิทธิในการฎีกาได้ จึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8511/2554

จำเลยลงพิมพ์ข้อความโดยอาศัยข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ พ.2/2543 ของศาลล้มละลายกลาง และคดีหมายเลขดำที่ 2450/2546 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อันเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง ทั้งข้อมูลดังกล่าวยังเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นศาลที่ดำเนินไปโดยเปิดเผย แม้ในการลงพิมพ์ข้อความของจำเลยจะเป็นการกล่าวสรุปโดยมิได้อ้างว่าเป็นเรื่องของการกล่าวอ้างของคู่ความฝ่ายตรงข้ามกับโจทก์ในชั้นพิจารณาของศาล แต่ก็มิได้เกินเลยไปจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ และความผิดปกติต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นเรื่องที่วิญญูชนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ แม้จะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าความจริงเป็นเช่นใดแน่ก็ตาม ประกอบกับเนื้อหาในการลงพิมพ์ข้อความของจำเลยโดยรวมมิได้กล่าวถึงการกระทำของโจทก์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการกล่าวในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ความล้มเหลวของบรรษัทภิบาลในเอเชียหลังวิกฤตการณ์ด้านการเงินปี 2540 โดยกล่าวถึงการแก้ปัญหาของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซียและประเทศสิงคโปร์ด้วย ส่วนที่มีการกล่าวถึงบริษัท อ. เนื่องจากเป็นบริษัทได้รับผลกระทบที่เป็นผลร้ายมากที่สุดและมีข้อพิพาทรุนแรงที่สุดในเรื่องล้มละลาย ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์การเงินจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ อันเป็นเรื่องประชาชนควรรู้ จึงไม่พอถือว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาร้าย หากแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2554

การที่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการร้องขอจาก ห. ให้ไปช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องบุตรของ ห. ทะเลาะวิวาทกันเอง จึงไปที่บ้านของ ค. พบ ค. และบุตรของ ห. อีกหลายคน บรรดาบุตรของ ห. และจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ ห. จึงปรึกษาหารือพูดคุยกับ ส. เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกเกรงว่า ห. จะถูกโจทก์ร่วมหลอกลวงเอาทรัพย์สินไปหมดจะทำให้จำเลยกับพวกเดือดร้อน ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ถือได้ว่าในฐานะที่จำเลยเป็นลูกบ้านอยู่ในความปกครองของ ส. การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นการปรับทุกข์กับ ส. เพื่อให้ ส. หาทางช่วยแก้ไขปัญหาให้ครอบครัวของ ห. เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม แต่เมื่อ ป. เข้ามาร่วมรับฟังในภายหลังและจำเลยกล่าวต่อหน้า ป. ว่าโจทก์ร่วมเป็นชู้กับ ห. และหลอกเอาเงิน ห. แม้จำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมเป็นชู้กับ ห. และหลอกเอาเงิน ห. ก็ตาม แต่ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะกล่าวประจานโจทก์ร่วมต่อหน้า ป. ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาท เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมได้รับความอับอายและเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4324/2552

โจทก์บรรยายฟ้องว่า “…จำเลยได้ใส่ความโจทก์ต่ออธิบดี…ด้วยเอกสารฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2545 มีข้อความว่า “…ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จความจริงโจทก์ไม่เคยแอบอ้างว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ…แต่ประการใด การกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความโจทก์ด้วยทำให้ปรากฏเป็นตัวอักษร ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์…” โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่ 3 โดยการโฆษณาอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตามมาตรา 328 มาด้วยก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นไม่สามารถจะยกข้อกฎหมายตามมาตรา 329 (1) (3) ขึ้นวินิจฉัยได้ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไว้ว่า หากข้อเท็จจริงตามที่รับฟังดังทางไต่สวนมูลฟ้องต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกข้อความจริงนี้ขึ้นเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยคดีได้ หาใช่เรื่องจำกัดเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นกรณีที่จำเลยเท่านั้นที่มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นแล้วพิพากษายืนดังนั้นที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ข้อความที่จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่ปรากฏในเอกสารต้องอ่านทั้งหมด มิใช่ยกข้อความตอนใดตอนหนึ่งแล้วแปลว่าไม่มีข้อความหมิ่นประมาท เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุมัติให้เช่าพื้นที่ขายสินค้า ต่อมาจำเลยประสงค์จะเช่าพื้นที่ จึงใช้เล่ห์เพทุบายทำหนังสือดังกล่าวให้สอบสวนว่าโจทก์ไม่สุจริต จึงมิใช่กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ฎีกาโจทก์ดังกล่าวมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบอย่างไร และที่ถูกต้องเป็นอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดเจนต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 225

เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การที่โจทก์ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงว่า คดีโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้อง จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ขึ้นมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้จะมีการอนุญาตให้ฎีกามาก็ตาม ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387/2552

คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยแถลงข่าวเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในทำนองคลองธรรมและเป็นไปในทางสุจริต มีความชอบธรรมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบถึงข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตลอดจนแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีอคติใดๆ กับโจทก์ จึงมิใช่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 329 นั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการประสงค์ให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งเท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่าการแถลงข่าวของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ได้รับผลประโยชน์จำนวนมากจากโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซี.ดี.เอ็ม.เอ ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 ทราบดีว่าการแถลงข่าวเช่นนั้นเป็นเรื่องไม่จริง โจทก์จะได้รับความเสียหายถือว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4459/2551

เอกสารซึ่งแนบมากับสำเนาหนังสือของโจทก์ที่ส่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งขอให้ระงับการก่อสร้างหลังคาคลุมถนนกันแดดมีข้อความว่า “พวกเราชาวแม่ค้าทั้งหลายต้องช่วยกันต่อต้านคนรวยทั้งหลายที่ชอบรับแก (ที่ถูก รังแก) คนจนอย่างพวกเราแม่ค้าทั้งหลาย ตอนนี้สมาชิกสภาเทศบาลบางคนที่เป็นคนรวย ทำเรื่องระงับการก่อสร้างหลังคาคลุมแดด (ที่ถูก หลังคาคลุมถนนกันแดด) ที่ทางเทศบาลทำให้กับพวกเราแต่มีสมาชิกเทศบาลซึ่งพวกเราได้อุตส่าห์เสียเวลาหยุดขายของไปเลือกมันมาเป็นผู้แทนของเรา พอเวลามันได้เป็นแล้วมันกับ (ที่ถูก กลับ) มาต่อต้านพวกเรา ซึ่งเป็นแม่ค้าขายของจน ๆ อย่างพวกเรา มันทำเรื่องร้องเรียนไปทางเทศบาลพวกเรารอง (ที่ถูก ลอง) อ่านดูว่ามันทำถูกหรือทำผิด” นั้น มีความหมายว่า โจทก์ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบล ภ. แล้วเพราะพ่อค้าแม่ค้าในตลาด 13 เมตร หยุดขายของไปเลือกตั้งมาไม่รู้จักบุญคุณ มีหนังสือให้ระงับการก่อสร้างหลังคากันแดดที่เทศบาลตำบล ภ. ชุดเดิมก่อสร้างค้างไว้ ย่อมทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่ขายในตลาดดังกล่าวซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 3 ด้วย เดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาฝนตกไม่อาจใช้ร่มใหญ่กันน้ำฝนได้ ทำให้การค้าขายของจำเลยที่ 3 กับพวกไม่สะดวก เป็นการรังแกคนจนแทนที่จะช่วยดูแล ทำให้โจทก์ในฐานะสมาชิกสภาเทศบาลต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง อาจทำให้โจทก์ไม่ได้รับเลือกตั้งในวาระต่อไปได้ แม้ว่าในข้อความดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า โจทก์กระทำการดังกล่าวเพราะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนก็ตาม การที่จำเลยที่ 3 แจกหนังสือดังกล่าวนั้นจึงมิใช่เพราะถูกกดดันอย่างมาก จนมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจต้องระบายความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจนี้ให้พ่อค้าแม่ค้าฟัง เพราะการที่ไม่มีหลังคากันแดด จำเลยที่ 3 กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดก็ยังขายสินค้าได้ โดยใช้ร่มบังแสงอาทิตย์แทน จำเลยที่ 3 กับพวกพ่อค้าแม่ค้าอาจต้องงดขายสินค้าบ้าง ถ้าฝนตกหนัก แต่ในสถานการณ์เช่นนั้น โอกาสที่ลูกค้าจะมาสซื้อสินค้าก็อาจไม่มีหรือมีน้อยและการที่จำเลยที่ 3 งดขายของไปเลือกโจทก์เป็นสมาชิกสภาเทศบาลนั้นก็เป็นหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อรับใช้สังคม ไม่อาจคาดหวังว่าถ้าเลือกโจทก์มาแล้ว โจทก์ต้องทำการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 และพวกพ่อค้าแม่ค้าเพียงประการเดียว โดยไม่คำนึงถึงความสงบสุขในสังคม กรณีฟังได้ว่าเอกสารที่จำเลยที่ 3 แจกจ่ายดังกล่าวมีข้อความหมิ่นประมาทตามฟ้อง อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยที่ 3 แจกจ่ายเอกสารดังกล่าวก็เนื่องมาจากจำเลยที่ 3 เป็นพ่อค้าคนหนึ่งที่ค้าขายในตลาด 13 เมตร ซึ่งได้รับผลกระทบและมีส่วนได้เสียในการก่อสร้างหรือระงับการก่อสร้างหลังคาคลุมถนนการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมของจำเลยที่ 3 ที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยที่ 3 ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3553/2550

ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีพลตรี ส. ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ทั้งพลตรี ส. และโจทก์เป็นผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง โจทก์จึงเป็นบุคคลที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามพฤติกรรมและย่อมวิพากษ์วิจารณ์ได้ เหตุคดีนี้เกิดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลตรี ส. โดยร้อยตำรวจเอก ฉ. เป็นผู้อภิปรายเสนอข้อมูลต่าง ๆ ว่ามีการวิ่งเต้นช่วยเหลือ อ. ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลในการอภิปรายดังกล่าวและเสนอข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีนี้ เป็นการตั้งข้อสงสัยพฤติกรรมของโจทก์ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือ อ. หรือไม่เท่านั้น กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ติชมและวิพากษ์วิจารณ์มิได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์รับสินบนแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงได้รับยกเว้นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) นั้นชอบแล้ว

แม้ในคดีที่ ว. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสงขลา ต่อมา ว. กับจำเลยตกลงกันได้และ ว. ขอถอนฟ้องแล้วก็ตามก็เป็นเรื่องระหว่าง ว. กับจำเลยในคดีอาญาอื่น หาได้มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ศาลที่พิจารณาคดีจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาอื่น แม้คดีทั้งสองนั้นจะมีมูลกรณีเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน ดังนั้น คดีนี้จึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีที่ ว. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกในข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาทดังที่โจทก์เข้าใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12460/2547

เวลาเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่หลายคนแต่งกายนอกเครื่องแบบไปขอค้นบ้านจำเลยเพื่อพบและจับน้องชายของจำเลยในคดีเช็ค ส่วนโจทก์ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ แต่ได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลยด้วยในฐานะที่เป็นบิดาของผู้เสียหายในคดีเช็คที่น้องชายของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้ แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์และพฤติการณ์เกี่ยวกับการทวงหนี้ของโจทก์ที่แต่งเครื่องแบบไปขอค้นบ้านของจำเลยซึ่งเป็นผู้หญิงและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน จนจำเลยเกิดความเกรงกลัวต่อโจทก์จนต้องยอมใช้หนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์และมีสิทธิที่จะร้องเรียนโดยสุจริตได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประพฤติตนไม่เหมาะสม ดังนั้น การที่จำเลยส่งโทรสารไปลงหนังสือพิมพ์โดยมีใจความเป็นการแสดงความเสียใจ น้อยใจของจำเลยและเกรงกลัวจากการกระทำของโจทก์จนต้องชำระหนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ไป เป็นทำนองขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสอดส่องตักเตือนเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นมิตรกับประชาชน จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนเยี่ยงจำเลยที่ต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นพึงกระทำได้ และการที่จำเลยระบุชื่อนามสกุลจริงของโจทก์และจำเลย ตลอดจนที่อยู่ของจำเลยไว้แจ้งชัดในโทรสารด้วยย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยเขียนข้อความในโทรสารนั้นด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments