Home คดีแพ่ง รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีฟ้องชู้

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีฟ้องชู้

7432

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10770/2558

เดิมโจทก์ฟ้องว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะเพราะจดทะเบียนสมรสซ้อน จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเสนอคำฟ้องฉบับใหม่อ้างว่าโจทก์สมรสกับจำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลจึงขอบอกล้างโมฆียะกรรมเท่ากับว่าโจทก์สละหรือยกเลิกข้อหาในฟ้องเดิมและแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหาใหม่ตามคำฟ้องฉบับใหม่แล้ว ข้อหาตามคำฟ้องเดิมจึงเป็นอันยุติไป การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง

โจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในขณะนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นอันสิ้นผลไปทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่สถานะเดิมหมายถึงการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิและได้รับการคุ้มครองในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมเป็นภริยาจนมีบุตรด้วยกันจนถึงวันที่มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นเหตุต่อเนื่องที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยมิได้หยุดการกระทำหรือหมดสิ้นไป จำเลยยังคงมีสิทธิฟ้องหย่าโจทก์ได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง

โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ตั้งแต่ปลายปี 2538 จนถึงวันฟ้องและฟ้องแย้งเป็นเวลาประมาณ 16 ปี โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความพยายามที่จะกลับไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอีก คงมีแต่การฟ้องคดีกันทั้งสองฝ่าย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินกว่า 3 ปี แม้คดีจะมีเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ประกอบด้วย แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์มาตรา 1526 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2558

เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247 ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งแม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยก็มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นเหตุให้ไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรจะยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4678/2552

โจทก์เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 ยังคงอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นพฤติการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่โจทก์รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว เหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) จึงยังคงมีอยู่ตลอดมาและโจทก์ย่อมยกเป็นเหตุหย่าได้ โดยไม่สำคัญว่าโจทก์จะรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนฟ้องเกิน 1 ปีหรือไม่ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5664/2551

แม้คำให้การจำเลยจะไม่ระบุไว้ชัดถึงบทกฎหมายอันเป็นข้ออ้างถึงเหตุที่ขาดอายุความ แต่เหตุหย่าที่กำหนดอายุความหรือการระงับไปซึ่งสิทธิเรียกร้องคงมีเพียงมาตรา 1529 แห่ง ป.พ.พ. มาตราเดียวที่ระบุถึงเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (3) และ (6) อันเป็นเหตุฟ้องหย่าในคดีนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือสิทธิฟ้องร้องเนื่องจากเหตุดังกล่าวระงับไปตามบทกฎหมายแล้ว เมื่อโจทก์ถือว่าการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงของจำเลยเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่ปี 2544 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในปี 2546 จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนยกขึ้นกล่าวอ้าง สิทธิฟ้องร้องของโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าวย่อมระงับสิ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549

การยินยอมและให้อภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518 หมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงเจตนาให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า

โจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนเมื่อปี 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยกับ ส. มีบุตรด้วยกันจึงได้นำคดีมาฟ้อง อันเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ส. จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าจำเลยด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้

การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ที่ต่อเนื่อง ตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549

ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะสืบพยานหลักฐานที่คู่ความประสงค์จะสืบหรือไม่เพียงใด เมื่อศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การและคำแถลงของโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่า มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้วว่ามีเหตุฟ้องหย่าประการใดประการหนึ่งตามฟ้องหรือไม่ และโจทก์ได้ยินยอมหรือให้อภัยเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยาแล้วหรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงที่ฟังได้จะเป็นเพียงเหตุหย่าเหตุหนึ่งในจำนวนเหตุหย่าหลายเหตุตามฟ้องก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานหลักฐานโจทก์ และจำเลยซึ่งถือเสมือนว่าพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยจะนำมาสืบนั้นเป็นพยานหลักฐานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้า ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงชอบแล้ว

การยินยอมและให้อภัยที่จะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1518 หมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือจะไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสาเหตุที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ส. เนื่องจากโจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนกระทั่งเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยกับ ส. มีบุตรด้วยกันจึงนำคดีมาฟ้อง พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้

การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ต่อเนื่อง ดังนั้นตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546

โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าโดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

แม้โจทก์จะเคยเห็นภาพถ่ายพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองในภายหลังและมิได้โต้แย้งคัดค้านก็ตาม แต่ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบเรื่องกรณียังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้

การที่จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก

สิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรแต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้อง ควรกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแต่ละคนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนแก่บุตรคนที่สองต่อไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546

โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินร่วมกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำ อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ

จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันสามีภริยาอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามมาตรา 1523 วรรคแรก

สิทธิของบุตรผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรแต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันจึงไม่ถูกต้อง

 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

 

Facebook Comments