Home คดีแพ่ง รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีฟ้องขับไล่

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีฟ้องขับไล่

18389

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5210/2561

พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 47 บัญญัติว่า “ผู้เช่านามีสิทธิปลูกพืชอายุสั้นใดๆ นอกจากพืชหลักในนาที่เช่าได้ รวมทั้งการใช้ที่นาบางส่วนทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการปลูกไม้ยืนต้น ในเมื่อไม่ทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก” แม้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เพื่อใช้ทำนา แต่ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มิได้จำกัดว่าจำเลยต้องทำนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จำเลยอาจใช้ที่ดินพิพาทที่เช่าบางส่วนทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมเพื่อเพิ่มรายได้ มีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน และลดความเสี่ยงจากการตลาดที่แปรปรวน หากไม่ทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธิใช้ที่ดินพิพาทเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้หากไม่ทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลง การที่จำเลยใช้ที่ดินพิพาทที่เช่าบางส่วนเนื้อที่ประมาณ 12 ถึง 13 ไร่ จากพื้นที่ 59.51 ไร่ เป็นบริเวณบ่อเลี้ยงปลา โดยเนื้อที่บ่อเลี้ยงปลาแท้จริงประมาณ 4 ไร่ นับว่า จำเลยใช้พื้นที่ส่วนน้อยไม่ถึงหนึ่งในสี่ของพื้นที่เป็นบ่อเลี้ยงปลา พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงทำนา จำเลยเลี้ยงปลาหารายได้เสริม จำเลยค้างชำระค่าเช่านาและชำระไม่ครบถ้วนบ้างเพราะผลผลิตไม่แน่นอนและบางครั้งขาดทุน เมื่อทางพิจารณาคู่ความมิได้เถียงกันเรื่องขุดบ่อเลี้ยงปลาของจำเลยทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก การที่จำเลยใช้ที่ดินพิพาทที่เช่าบางส่วนเป็นบ่อเลี้ยงปลาจึงเป็นสิทธิของจำเลยสามารถทำได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ยังไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2561

คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 93 และ 95 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 93 มีชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว แต่โฉนดเลขที่ 95 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ ในอีกคดีหนึ่ง คู่ความได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยในคดีนั้นซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ให้แก่โจทก์ในคดีนี้ หากโจทก์คดีนั้นได้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ในคดีก่อนปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชำระหนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 93 คืนแก่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่จำเลยยังอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 93 ย่อมกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินแปลงนี้ได้

ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับการยกให้ที่ดินแปลงนี้มาจากโจทก์และยังคงเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงต้องถือว่าที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของจำเลย ประกอบกับได้ความจากทางนำสืบของจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ยอมไปรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนคนละครึ่ง กรณียังไม่ถือว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในส่วนนี้ โจทก์ไม่อาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ได้ แต่อย่างไรก็ดี โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ก็ยังคงมีสิทธิบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

การมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดี ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 แม้ระบุข้อความทำนองว่า การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปตามหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเสมือนว่าข้าพเจ้าเป็นผู้กระทำการด้วยตนเองทั้งสิ้น เช่นนี้ถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้ทุกประการ ซึ่งรวมถึงการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) โดยการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ไม่จำต้องระบุบุคคลที่จะถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด รวมทั้งไม่ต้องระบุว่าให้ฟ้องในข้อหาใดเช่นกัน การระบุหมายเลขคดีในภายหลังเป็นเพียงการระบุข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2561

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ โดยให้ที่ดินแก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน และย่อมถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์กับจำเลยและถูกอำพรางไว้ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะจึงต้องเพิกถอนสัญญาดังกล่าว เป็นผลให้ที่ดินยังเป็นของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9990/2560

คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยและบริษัท ว. ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทกันก่อนวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 6/2 มีผลใช้บังคับ กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากตารางการชำระเงินและใบเสร็จรับเงินว่า ภายหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน จำเลยในฐานะผู้จะซื้อได้ชำระเงินดาวน์และชำระราคาห้องชุดพิพาทส่วนที่เหลือให้แก่บริษัท ว. และบริษัท อ. ไปครบถ้วนแล้ว เช่นนี้จำเลยซึ่งได้ชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายแล้วดังกล่าวก็ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้บริษัท อ. ในฐานะผู้จะขายจดทะเบียนโอนห้องชุดพิพาทให้แก่ตนได้ ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 6/2

ส่วนที่จำเลยให้การและนำสืบรวมทั้งอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับโอนห้องชุดพิพาทมาโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ย่อมเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยอยู่ในฐานะอันจะขอให้จดทะเบียนสิทธิในห้องชุดพิพาทได้ก่อนโจทก์ ซึ่งเป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทจากบริษัท อ. โดยสุจริตหรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยในปัญหานี้จึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหานี้โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยรับมอบห้องชุดพิพาทจากบริษัท อ. ตั้งแต่เมื่อปี 2551 และพักอาศัยอยู่ในห้องชุดพิพาทตลอดมา โจทก์ซึ่งเพิ่งมาซื้อห้องชุดพิพาทจากบริษัท อ. เมื่อปี 2554 จึงน่าจะทราบเป็นอย่างดีว่าในห้องชุดพิพาทมีจำเลยพักอาศัยอยู่ การที่โจทก์ยังคงตกลงซื้อห้องชุดพิพาทโดยไม่ได้สอบถามให้ได้ความถึงสาเหตุที่จำเลยเข้าพักอาศัยอยู่ในห้องชุดพิพาท เป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าโจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทมาโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจยกเรื่องความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อฟ้องขับไล่จำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6947/2560

ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 755/2556 พิพากษายกฟ้อง โดยอาศัยข้อเท็จจริงในคำพิพากษาอาญาคดีหมายเลขแดงที่ 8368/2555 ว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คดีแพ่งถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขแดงที่ 8938/2558 คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่อาจฎีกาว่าโต้แย้งคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถึงที่สุดแล้วและมีผลผูกพันตนเองได้อีก

คดีมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยเป็นลำดับแรกว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่เมื่อที่ดินพิพาทเป็นแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 755/2556 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว โดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวมารื้อร้องฟ้องกันอีกภายหลังจากคดีดังกล่าวถึงที่สุด จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 755/2556 ของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2560

ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและเป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเทียบเท่ากรม ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินของรัฐ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพียงจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้เข้าทำกินได้เท่านั้น สิทธิการครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์มีเพียงสิทธิทำกินหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนหรืออาศัยสิทธิจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ส่วนจำเลยซึ่งมิได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมไม่อาจยกอายุความการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองแทนและอาศัยสิทธิสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518

หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) มีข้อควรทราบและพึงปฏิบัติระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังบุคคลอื่นมิได้ และเมื่อผู้ได้รับอนุญาตสละสิทธิในที่ดินแล้ว ย่อมสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน การที่ ส. มารดาจำเลยและจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทระหว่างปี 2533 ถึง 2535 และโจทก์มอบ ส.ป.ก. 4-01 ให้แก่ ส. และจำเลยยึดถือไว้ตลอดมา พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้สละสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทให้แก่ ส. และจำเลยแล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 39 การที่โจทก์กลับมาอ้างสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ฟ้องขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5172/2560

การซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม…ฯลฯ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 – 01 นั้น จะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การที่โจทก์ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 – 01 ให้แก่จำเลย ถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินจึงไม่มีผลบังคับ ส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า หลังจากจำเลยซื้อที่ดินพิพาทโจทก์ จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว จึงได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครองนั้น ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเกษตรกรรม ฯลฯ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้ต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน และตามมาตรา 37 ก็ห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 โดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าว เห็นว่า ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองผู้ที่ได้รับจัดสรรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 ได้ เพราะเมื่อผู้ได้รับจัดสรรที่ดินละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองที่ดินก็กลับตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใหม่ ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดให้เกษตรกรที่เหมาะสมได้รับต่อไป และไม่ปรากฏว่าได้มีการพิจารณาและอนุมัติให้จำเลยได้รับสิทธิในที่ดินพิพาทแต่ประการใด จึงไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปขึ้นมาได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์แบ่งขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและได้ส่งมอบการครอบครองให้จำเลยแล้ว ทั้งจำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามตนเอง การที่โจทก์กลับมาอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01) และมาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท แม้จำเลยไม่มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็เป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป

Facebook Comments