Home คดีแพ่ง เจ้าหนี้ต้องรู้ สัญญาเงินกู้หายฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่

เจ้าหนี้ต้องรู้ สัญญาเงินกู้หายฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่

2992

 

คำถาม

เจ้าหนี้ต้องรู้ สัญญาเงินกู้หายฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่

คำตอบเคยมีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2539

การนำสืบว่าหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือสูญหายไปนั้นโจทก์นำสืบด้วยพยานบุคคลได้เพราะเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงส่วนการนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ตามหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่สูญหายไปต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนเมื่อศาลชั้นต้นยอมให้โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบได้ตลอดทั้งเรื่องถือได้อนุญาตโดยปริยายการสืบพยานของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา93(2)
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2532 จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 40,000 บาท กำหนดชำระคืนภายใน 3 เดือนจำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐาน แต่หลักฐานแห่งการกู้ยืมได้สูญหายไปโจทก์ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมแพไว้แล้ว จำเลยได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว ครั้นครบกำหนด 3 เดือนจำเลยไม่ยอมชำระเงินคืนโจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 40,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2532 จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญากู้ยืมและรับเงินจำนวน40,000 บาท จากโจทก์ โจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมแพเรื่องสัญญากู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยหายไปเป็นการกระทำของโจทก์ฝ่ายเดียวซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหลักฐานการแจ้งความมาใช้เป็นหลักฐานฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลยเพราะมิใช่สัญญากู้ยืมและมิใช่หลักฐานการกู้ยืมตามกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 40,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยกู้เงินโจทก์โดยมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ แต่หลักฐานการกู้ยืมดังกล่าวได้สูญหายไป โจทก์จึงนำสืบพยานบุคคลว่าหลักฐานแห่งการกู้ยืมของโจทก์ได้สูญหายไปและนำสืบว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ตามหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่สูญหายไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้ายประกอบมาตรา 93(2)

นั้นเห็นว่า

การนำพยานบุคคลเข้าสืบในประเด็นแรกเป็นการนำสืบว่าหลักฐานแห่งการกู้ยืมของโจทก์ได้สูญหายไป เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงโจทก์จึงนำสืบพยานบุคคลในข้อนี้ ส่วนการนำพยานบุคคลเข้าสืบในประเด็นหลังเป็นการนำสืบว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ตามหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่สูญหายไป กรณีหลังต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะนำสืบได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นยอมให้โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบได้ตลอดเรื่อง ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตโดยปริยาย การสืบพยานของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) ศาลรับฟังคำพยานบุคคลของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมมาแสดง จึงไม่อาจนำพยานบุคคลเข้าสืบและศาลไม่สามารถรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 และพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น และเนื่องจากข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วว่า จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 40,000 บาท โดยมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือแต่หลักฐานแห่งการกู้ยืมดังกล่าวสูญหายไป จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

 

สรุป ฟ้องได้ แต่ต้องนำสืบพยานบุคคลและสำเนาเอกสารแทนโดยศาลอนุญาต ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา  93(2) 94

 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

 

 

 

Facebook Comments