Home คดีครอบครัว รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีอำนาจปกครองบุตร ย้อนหลัง10ปี

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีอำนาจปกครองบุตร ย้อนหลัง10ปี

10050

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2560

การที่โจทก์ทั้งสองไม่มาดูแลเอาใจใส่ผู้เยาว์ ไม่ช่วยค่าอุปการะเลี้ยงดู และไม่มาเยี่ยมผู้เยาว์ตามสมควร ทำให้ผู้เยาว์แม้รู้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาแต่ไม่รู้สึกว่ามีความสัมพันธ์อบอุ่นใกล้ชิด ตรงกันข้ามกลับหวาดกลัวที่จะต้องไปอาศัยอยู่กับโจทก์ทั้งสอง ยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ที่ 2 ใช้กำลังหักหาญแย่งชิงตัวผู้เยาว์ ทำให้ผู้เยาว์ตกใจหวาดกลัว เครียดและวิตกหากจะต้องไปอยู่กับโจทก์ทั้งสอง อาการผิดปกติทางจิตใจแสดงออกให้เห็นได้ทางพฤติกรรม มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่โรคทางจิตเวช จำเป็นต้องจัดการแก้ไขให้สภาพการใช้ชีวิตของผู้เยาว์กลับสู่สภาวะปกติ โดยให้ผู้เยาว์ได้อยู่อาศัยในที่ที่เหมาะสมการกระทำดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้อำนาจปกครองเกี่ยวกับตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ แม้ญาติของผู้เยาว์หรืออัยการไม่ได้ร้องขอ ศาลมีอำนาจถอนอำนาจปกครองบางส่วนของโจทก์ทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงความผาสุกของผู้เยาว์แล้ว จึงเห็นสมควรให้ถอนอำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสองเฉพาะที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 (1) และตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8596/2559

โจทก์ฎีกาประเด็นขอให้เพิกถอนข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเรื่องที่โจทก์ตกลงจะให้ค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยจำนวน 200,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องในเรื่องค่าเลี้ยงชีพเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 และไม่รับวินิจฉัยนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะประเด็นค่าเลี้ยงชีพ เป็นการฟ้องตั้งสิทธิ อันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องในครอบครัวระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากัน จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และ 248 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ 247

ประเด็นขอเพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยนั้น โจทก์อ้างว่า หากผู้เยาว์อยู่กับโจทก์ จะได้ประโยชน์และความผาสุกดีกว่าอยู่กับจำเลย เหตุที่อ้างไม่ถือเป็นการใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ หรือประพฤติชั่วร้ายอันเป็นเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง แต่การที่ผู้เยาว์พักอาศัย เรียนหนังสือ และอยู่ในความดูแลของโจทก์ และผู้เยาว์ทำคำแถลงต่อศาลว่า ประสงค์จะอยู่กับโจทก์ อยู่กับจำเลยและบิดาเลี้ยงไม่มีความสุข ผู้เยาว์อายุ 10 ปีแล้วถือได้ว่ามีความรู้สึกนึกคิดได้โดยตนเอง สาเหตุที่ไม่อยากอยู่กับจำเลยสามารถบอกเหตุผลได้ มิได้กล่าวอ้างลอยๆ ประกอบกับฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยฝ่ายเดียวตามที่ตกลงในบันทึกท้ายทะเบียนหย่า แต่คำบรรยายฟ้องและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองตามที่ตกลงกันไว้กับจำเลย ถือว่าโจทก์ประสงค์ที่จะใช้อำนาจปกครอง เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์ความผาสุกของผู้เยาว์ อาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520,1521 สมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกับจำเลย โดยให้โจทก์มีอำนาจกำหนดที่อยู่ผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2668/2556

แม้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา” แต่ก็มีข้อยกเว้นตามบทบัญญัติมาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (5) ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจสั่งให้บิดาหรือมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวได้ หากผู้ใช้อำนาจปกครองประพฤติตนไม่สมควรหรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์และความผาสุกของผู้เยาว์เป็นสำคัญ โดยไม่ถือว่าเป็นการสั่งเพิกถอนอำนาจปกครองของผู้ใช้อำนาจปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2548

ผู้เยาว์เป็นบุตรของ ว. กับผู้คัดค้าน ต่อมา ว. หย่ากับผู้คัดค้านโดยมีข้อตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองว่าให้ผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของ ว. ซึ่งเป็นบิดา ว. จึงเป็นผู้มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียวตามข้อสัญญาดังกล่าวซึ่งสามารถใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) และมิใช่เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการถอนอำนาจปกครองเป็นอำนาจของศาลและจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 ดังนั้น เมื่อ ว. ผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียวตามที่ตกลงกันขณะที่จดทะเบียนหย่าถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์จึงกลับมาเป็นของผู้คัดค้านซึ่งเป็นมารดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง อันจะทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นป้ามีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตามมาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1586 วรรคหนึ่ง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563/2544

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง การที่มารดาตาย ส่วนบิดายังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง แม้บิดามารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียวก็เป็นเรื่องการตกลงตามมาตรา 1520วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะถอนอำนาจปกครองจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาล ดังนั้น อำนาจปกครองจึงกลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นน้าผู้เยาว์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลถอนอำนาจปกครองได้โดยลำพังไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอำนาจปกครองของบิดาผู้เยาว์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่าที่บิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้องถือได้ว่าบิดาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครองประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดายินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครอง ศาลจึงตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563/2544

ป.พ.พ. มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง การที่มารดาตาย ส่วนบิดายังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง แม้บิดามารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียว ก็เป็นเรื่องการตกลงตามมาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะถอนอำนาจปกครองจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาล ดังนั้น เมื่อมารดาของผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียวตามที่ตกลงขณะที่จดทะเบียนหย่าถึงแก่กรรม อำนาจปกครองผู้เยาว์จึงกลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอดถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นน้าผู้เยาว์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง

ป.พ.พ. มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลถอนอำนาจปกครองได้โดยลำพังไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอ หากมีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว คดีนี้แม้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอำนาจปกครองของบิดาผู้เยาว์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่าบิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้องถือได้ว่า บิดาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์ และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครอง ประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดาผู้เยาว์ยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครอง ศาลจึงตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2114/2542

ตามมาตรา 1566 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา ในกรณีมารดาหรือบิดาตาย อำนาจปกครองจึงอยู่ กับบิดาหรือมารดา และมีสิทธิเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่ง กักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1567(4) อย่างไรก็ตาม มาตรา 1582 กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองใช้อำนาจปกครอง เกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ศาลอาจถอน อำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ ดังนั้น เมื่อ ส. ซึ่งเป็นบิดาของเด็กหญิง ร. ผู้เยาว์ถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองจึงตกอยู่กับโจทก์ซึ่งเป็นมารดา เว้นแต่โจทก์ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ หรือประพฤติชั่วร้าย และถูกศาลถอนอำนาจปกครอง การที่จำเลยซึ่งเป็นย่าของเด็กหญิง ร.ฎีกาโต้แย้งว่าโจทก์ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวเด็กหญิง ร.โดยมิชอบและประพฤติชั่วร้าย แต่ที่มิได้นำเด็กหญิง ร.มาเบิกความยืนยัน ก็เพราะเด็กหญิง ร. มีความกลัวมารดานั้น จะเห็นได้ว่า โดยปกติธรรมชาติของมารดา ย่อมมีความรักบุตรและปรารถนาดีต่อบุตร หากจำเลยประสงค์ที่จะแสดงให้ศาลเห็นว่าโจทก์เป็นมารดาที่ ประพฤติผิดธรรมชาติ ปราศจากความรักความเมตตา ต่อบุตร และประพฤติตนชั่วร้าย พยานหลักฐานของจำเลยก็ต้องมีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงเมื่อจำเลยไม่มี ผู้เยาว์มาเบิกความยืนยันต่อศาลถึงสภาพจิตใจที่เป็นอยู่ จึงไม่อาจอนุมานตามที่จำเลยกล่าวอ้างว่าที่ผู้เยาว์มีอาการ ผิดปกติก็เพราะโจทก์ใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบหรือประพฤติชั่วร้าย อันจะเป็นสาเหตุให้ศาลถอนอำนาจปกครองของโจทก์ ดังนั้น แม้จำเลยจะมีฐานะดีมีความเมตตาต่อผู้เยาว์ และสามารถเลี้ยงดู ผู้เยาว์ได้เป็นอย่างดีสักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะปกครองเลี้ยงดูผู้เยาว์ได้ตราบใดที่อำนาจปกครองของโจทก์ซึ่งเป็น มารดายังมิได้ถูกเพิกถอน จำเลยจึงต้องคืนตัวเด็กหญิง ร. ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6155/2540

การที่จำเลยได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนั้น เป็นการได้มาโดยความยินยอมในกรณีหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และมาตรา 1566(6)อันเป็นการได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญาโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลย โดยอ้างว่าจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครอง จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือ ข้อตกลงในการจดทะเบียนหย่า ดังนั้นสถานที่ที่ได้มีการ จดทะเบียนหย่าและทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่ มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล เมื่อโจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนการหย่าและทำบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตดุสิตกรุงเทพมหานคร จึงต้องถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments