Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาฎีกา สู้คดีโกงเจ้าหนี้

รวมคำพิพากษาฎีกา สู้คดีโกงเจ้าหนี้

18261

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4101/2560

โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ข้อ 2.1 และ 2.2 ขาดอายุความหรือไม่ ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์ดำเนินคดีเอง โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดด้วย เมื่อโจทก์ฎีการับว่าผู้แทนโจทก์ทราบว่า จำเลยโอนโฉนดที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1, 2.2 ไปให้บริษัท พ. และ ช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 จึงเกินกว่า 3 เดือน ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ส่วนการที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารตามฟ้องให้กับบริษัท พ. เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แม้การกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 2.3 อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรี แต่การกระทำความผิดดังกล่าวได้กระทำลงโดยจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดคนเดียวกันและเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษเท่ากัน และโจทก์ยื่นฟ้องตามฟ้องข้อ 2.3 พร้อมกับคำฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 ต่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลที่ความผิดตามฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 เกิดขึ้น เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งประทับฟ้องไว้แล้ว ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาฟ้องของโจทก์ข้อ 2.3 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวพันกับฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4225/2559

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเสนอขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยแจ้งว่าเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิการครอบครองและรับรองว่าสามารถจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ แต่เนื่องจากที่ดินติดจำนองธนาคาร จำเลยจะนำเงินที่ได้จากโจทก์ไปไถ่ถอนจำนองมาจดทะเบียนโอนให้โจทก์ภายในเดือนเมษายน 2555 ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2555 โจทก์ตรวจสอบพบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 01 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา จึงฟังได้ว่าโจทก์ทราบเรื่องที่ถูกหลอกว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 01 มิใช่ที่ดินมีเอกสารสิทธิที่จะสามารถโอนให้กันได้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2555 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 เกิน 3 เดือน นับแต่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความ กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เพิ่งทราบเรื่องความผิดฐานฉ้อโกงในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยรับรองว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพัน ในที่ดินพิพาทให้กระทบสิทธิของโจทก์เพราะเป็นการตกลงกันภายหลัง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง

การที่จำเลยนำ ส.ป.ก. 4 – 01 ไปถ่ายสำเนาแล้วลบชื่อบิดาจำเลยผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เดิมและเปลี่ยนเป็นชื่อจำเลย แล้วจำเลยนำไปขายให้แก่ น. และ จ. ทั้งที่จำเลยรับกับโจทก์แล้วว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพัน ในที่ดินพิพาท เห็นว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังเป็นของรัฐเพียงแต่รัฐนำที่ดินมาจัดสรรให้ประชาชนครอบครองทำกินเท่านั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่ก่อให้ น. และ จ. มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท แม้จำเลยรับรองต่อโจทก์ว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพันในที่ดินพิพาท โจทก์ก็มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอม

แม้จำเลยมีภาระผูกพันที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินคืนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ แต่การที่จำเลยโอนที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ น. และ จ. ซึ่งที่ดินพิพาทไม่ใช่ของจำเลยหรือของบิดาจำเลย จึงมิใช่การโอนไปซึ่งทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา 350 ไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3120/2559

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องไปทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 8,500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 สิทธิเรียกร้องที่จะให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายยังมิอาจบังคับกันได้ โจทก์ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามความหมายในบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่โอนที่ดิน 3 แปลงใน 15 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10570/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันแจ้งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจดข้อความอันเป็นเท็จโดยยื่นแบบนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดจำนวน 1 ฉบับ และสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับใหม่จำนวน 1 ฉบับ โดยมีข้อความระบุไว้ว่าหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 100,000,000 บาท จำเลยทั้งสองได้เรียกชำระเงินไปจากผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนครบถ้วนเต็มจำนวน ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองยังมิได้เรียกชำระเงินค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนค้างชำระอยู่อีก 49,500,000 บาท อาจทำให้โจทก์หรือประชาชนได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องพบอุปสรรคในการที่จะใช้สิทธิบังคับชำระหนี้หรือบังคับคดีเอาแก่สิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นค้างชำระของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1096 โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง ย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267

การที่จำเลยทั้งสองยื่นแบบนำส่งงบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอันแสดงให้ปรากฏว่าผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว อันเป็นความเท็จ ส่งผลให้เห็นในทำนองว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นนั้นครบถ้วนแล้วและสิ้นสิทธิในการเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้ค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีก ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 จะต้องได้รับเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนในส่วนที่ยังมิได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วน จึงเป็นการซ่อนเร้นสิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นที่ยังมิได้ชำระ เพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของตนซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 40 (1) ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8782/2558

ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า “ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง …” ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวต้องพิจารณาในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นหรือไม่ อีกทั้งสิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้ สิทธิในการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในคดีแพ่งให้แก่บริษัท บ. แล้วก็ตาม แต่วันที่จำเลยกระทำความผิดโจทก์ยังเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อจำเลยโอนขายที่ดินของจำเลยให้แก่ น. เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลย โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2558

ทรัพย์ที่ลูกหนี้โอนไปให้ผู้อื่น อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น หมายถึงทรัพย์ใด ๆ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ได้มีการโอนไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า 2 ฉบับ ฉบับแรกว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 แปรสภาพหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรที่นำมาจำนำแก่องค์การคลังสินค้าเป็นแป้งมันสำปะหลัง ฉบับที่สองเป็นสัญญาเก็บแป้งมันสำปะหลังที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยองค์การคลังสินค้าเป็นผู้ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นสัญญาฝากทรัพย์ ดังนั้นแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 แปรสภาพแล้วเก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การคลังสินค้า หาใช่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ไม่ ทั้งองค์การคลังสินค้าได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อหายักยอก แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันนำเอาแป้งมันสำปะหลังที่เก็บไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปขาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ทั้งแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำไปขายก็มิใช่ทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ใช่การทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือสูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด เพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 187

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14025/2557

การที่จำเลยที่ 2 รับโอนใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรและใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปจากจำเลยที่ 1 มาเป็นของตน ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนามิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ยึดใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปและใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักร ซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 มาบังคับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557

โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10179/2557

ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษ…”

เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้โดยมีจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานให้แก่จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมทราบว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้เมื่อโจทก์ติดตามยึดทรัพย์และยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่จำนองไว้แก่เจ้าหนี้อื่น จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปไถ่ถอนทรัพย์จำนองดังกล่าวและขายให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจงใจกำหนดราคาขายพอดีกับราคาไถ่ถอนจำนอง เพื่อไม่ให้มีเงินส่วนเกินจากราคาขายตกแก่จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการร่วมกันเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้บางส่วน มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5482/2557

โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.1062/2550 ของศาลแพ่ง จำเลยจดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 121938 ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ของจำเลยให้แก่ ร. ต่อมาจำเลยตกลงกับ ร. ว่าให้จำเลยขายที่ดินแล้วนำเงินที่ได้มามอบให้แก่ ร. เป็นสินไถ่ จึงมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยก่อนโอนขายให้แก่ ว. ในวันเดียวกัน แล้วนำเงินที่ได้มอบให้แก่ ร. ดังนี้ การกระทำของจำเลยสำเร็จเป็นความผิดนับแต่ขายฝากที่ดินให้แก่ ร. เพื่อให้พ้นจากการบังคับชำระหนี้ แม้ต่อมาจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยก่อนโอนขายให้แก่ ว. แล้วมอบเงินที่ได้เป็นสินไถ่ให้แก่ ร. ไม่ว่าจำเลยได้รับส่วนต่างจากเงินค่าขายที่ดินหรือไม่ ก็เป็นการกระทำเพื่อให้การขายที่ดินสำเร็จตามข้อตกลงเท่านั้น ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยกลับเป็นความผิดขึ้นใหม่อีกกรรมหนึ่งแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5222/2557

จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 47526 จำเลยที่ 1 เพียงมีชื่อในโฉนดแทนโจทก์เท่านั้น เมื่อธนาคาร ก. มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองที่ดินดังกล่าว ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 มีการติดต่อระหว่างจำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้ธนาคารดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์และมีสิทธิที่จะยึดที่ดินดังกล่าวมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แต่ที่ดินติดจำนองอยู่กับธนาคาร ก. ซึ่งจำเลยที่ 2 จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ก็ต่อเมื่อธนาคารดังกล่าวในฐานะเจ้าหนี้จำนองได้รับชำระหนี้เงินกู้จากโจทก์ครบถ้วนแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ต้องเข้าชำระหนี้เงินกู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 และขอรับโอนที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยปลอดจำนองจากธนาคารเป็นการตอบแทน ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 จึงเป็นกระบวนการในการชำระหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดเพราะเป็นการโอนที่ดินของโจทก์ชำระหนี้ของโจทก์เอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3140/2557

โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ฟ้องต่อศาลแพ่งว่าจำเลยกับพวกครอบครองเงินจากการขายที่ดินของกองมรดกที่จะต้องนำมาแบ่งแก่ทายาท แต่จำเลยเบียดบังไว้ไม่ยอมส่งมอบแก่กองมรดก ขอให้จำเลยกับพวกคืนเงินดังกล่าว ศาลแพ่งวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นลูกหนี้จริงและให้จำเลยชำระเงิน 4,076,230.65 บาท พร้อมดอกเบี้ย คดีถึงที่สุด คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ทั้งสองและจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ว่าจำเลยเป็นลูกหนี้จริง เมื่อจำเลยซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ธ. โอนขายหุ้นของจำเลยในบริษัทดังกล่าวแก่ ป. ก่อนที่ศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาเพียง 1 เดือน จึงเป็นพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าจำเลยกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนซึ่งใช้สิทธิทางศาลแล้วได้รับชำระหนี้ อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2187/2557

ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยผู้กระทำต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์ ซ่อนเร้นทรัพย์ หรือโอนทรัพย์ของลูกหนี้ไปให้แก่ผู้อื่น เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนชื่อที่ดินของ บ. จาก บ. เป็นผู้รับโอนประเภทมรดกใส่ชื่อจำเลยทั้งสอง ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินซึ่งเป็นมรดกของ บ. ที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งสองในฐานะที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับมรดกของ บ. เท่านั้น ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของ บ. ยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินของ บ. ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ไปให้แก่ผู้อื่น จึงเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1676/2557

การโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดอันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 49394 ซึ่งผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาเป็นของตนเองนั้น ก็เป็นเพียงการรับโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายจะสละมรดกในที่ดินโฉนดดังกล่าว แต่สิทธิของเจ้าหนี้ในการว่ากล่าวเอาแก่ทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทยังคงมีอยู่ตามเดิม มิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2556

แม้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดและจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏสารบัญจดทะเบียนในสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ว่า จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ก่อนแล้วจึงจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อจากนั้นจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองแก่ธนาคาร อ. โดยกระทำขึ้นในวันเดียวกันทั้งหมด และข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสองว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร ก. ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนด ธนาคารจะฟ้องดำเนินคดี จึงทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาอีก และไม่มีเงินชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทน โดยโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. แล้วนำเงินไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองให้แก่ธนาคาร ก. ส่วนเงินที่เหลือจำเลยที่ 2 นำไปปลูกสร้างบ้านบนที่ดินดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1 และหลานก็พักอาศัยอยู่ในบ้านที่จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างขึ้นด้วย โดยที่จำเลยที่ 2 มีภาระต้องผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร อ. แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระอยู่กับธนาคาร ก. จำนวนเท่าใด แต่การที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำนองและขายที่ดินที่จำนองเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองก็เป็นการขายเพื่อชำระหนี้ของตนตามปกติ และเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำเพื่อมิให้ถูกธนาคาร ก. เจ้าหนี้ผู้รับจำนองบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 อันมีลักษณะเป็นการขายเพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้จำนองของตน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่อาจถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินไปโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามฟ้อง

มีปํญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments