Home คดีแพ่ง ธนาคารเจ้าของหนี้บัตรเครดิต มีสิทธิหักเงินในบัญชีออมทรัพย์ลูกหนี้หรือไม่ ?

ธนาคารเจ้าของหนี้บัตรเครดิต มีสิทธิหักเงินในบัญชีออมทรัพย์ลูกหนี้หรือไม่ ?

17286

คำถาม

ธนาคารเจ้าของหนี้บัตรเครดิต มีสิทธิหักเงินในบัญชีออมทรัพย์ลูกหนี้หรือไม่ ?

คำตอบ

คำพิพากษาฎีกาที่ 10969/2555 รายละเอียดของคำพิพากษาศาลฎีกามีดังต่อไปนี้
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นลูกค้าบัตรเครดิตโจทก์ คือบัตรเครดิตไทยพาณิชย์ มาสเตอร์การ์ด และบัตรเครดิตไทยพาณิชย์ โพธิ์วีซ่า จำเลยได้นำบัตรเครดิตทั้งสองบัตรที่โจทก์ออกให้ไปใช้เงินสดในการชำระค่าซื้อสินค้า ชำระค่าบริการและเบิกถอนเงินสดหลายครั้ง สำหรับบัตรเครดิตไทยพาณิชย์ มาสเตอร์การ์ด มีการใช้บัตรครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2548 หลังจากนั้นโจทก์ระงับการใช้บัตร โจทก์ส่งใบแจ้งยอดรายการใช้บัตรเครดิตโดยกำหนดให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวภายในวันที่ 13 มิถุนายน 2548 ตามใบแจ้งยอดการใช้บัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.5 แผ่น 47 ส่วนบัตรเครดิตไทยพาณิชย์ โพธิ์วีซ่าทอง จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2548 หลังจากนั้นโจทก์ระงับการใช้บัตร โจทก์ส่งใบแจ้งยอดรายการใช้บัตรเครดิตโดยกำหนดให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวภายในวันที่ 13 กันยายน 2548 ตามใบแจ้งยอดรายการใช้บัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 28 ต่อมามีรายการชำระหนี้บัตรเครดิตข้างต้นหลายรายการ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การรับสภาพหนี้ต้องทำเป็นหนังสือและมีลายมือชื่อของผู้รับสภาพหนี้เป็นสำคัญ แต่รายการชำระหนี้บัตรเครดิตเกิดขึ้นภายหลังโจทก์ระงับการใช้บัตรเครดิตแล้ว จำเลยหาได้ให้ความยินยอมด้วยไม่ และเกิดขึ้นโดยโจทก์หักเงินผ่านบัญชีของจำเลยตามอำเภอใจ เป็นการกระทำของโจทก์ฝ่ายเดียว หาใช่นิติกรรมสองฝ่ายที่จำเลยตกลงด้วยไม่ ไม่ถือเป็นการรับสภาพหนี้และชำระหนี้ อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง อายุความคดีนี้จึงสะดุดหยุดลงนับแต่วันที่จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายนั้น เห็นว่า เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอันเกิดจากการกระทำของลูกหนี้อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ รวมไปถึงการชำระหนี้บางส่วน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 สำหรับหนี้บัตรเครดิตไทยพาณิชย์ มาสเตอร์การ์ด ข้อเท็จจริงปรากฏตามใบคำขอเป็นสมาชิกบัตรเครดิตพร้อมสัญญาการใช้บัตรเครดิต เอกสารหมาย จ.4 ว่า จำเลยตกลงชำระหนี้บัตรเครดิต โดยยินยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลย และสัญญาการใช้บัตรเครดิต ข้อ 20 และข้อ 9.1 ระบุว่า หากมีการยกเลิกการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าด้วยประการใด ให้ถือว่าเป็นการยกเลิกการใช้บัตรเครดิตเท่านั้น มิใช่เป็นการยกเลิกสัญญา และหากปรากฏว่ามียอดเงินเป็นลูกหนี้โจทก์ จำเลยตกลงที่จะชำระหนี้โดยให้โจทก์หักเงินจากบัญชีชำระหนี้ได้ ดังนั้น การที่โจทก์หักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยเพื่อชำระหนี้ดังปรากฎตามใบแจ้งยอดรายการบัตรเครดิต เอกสารหมาย จ.5 จึงเป็นกรณีที่จำเลยยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงนั่นเอง หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์หักเงินจากบัญชีของจำเลยตามอำเภอใจไม่ ซึ่งจำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตดังกล่าวให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2549 ส่วนหนี้บัตรเครดิตไทยพาณิชย์ โพธิ์วีซ่าทอง จำเลยไม่ได้ตกลงยินยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยเพื่อชำระหนี้ดังเช่นบัตรเครดิตไทยพาณิชย์ มาสเตอร์การ์ด หากเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ตามใบแจ้งยอดหนี้ที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบ ปรากฎว่ามีรายการชำระหนี้บัตรเครดิตดังกล่าวครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548 จำนวน 28,000 บาท ตามใบนำฝากบัญชีบัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.15 และใบแจ้งยอดรายการบัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 30 ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยความสมัครใจ กรณีจึงเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ด้วยการชำระหนี้บางส่วนอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) เช่นนี้นับแต่วันที่จำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตทั้งสองบัตรให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายจนถึงวันฟ้อง เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2550 จึงยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป ธนาคารมีสิทธิหักเงินในบัญชีออมทรัพย์เพราะมีข้อตกลงในสัญญาขออนุมัติบัครเครดิต

ปรึกษาคดีบัตรเครดิตโทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

ทนายกฤษดา

Facebook Comments