หุ้นส่วนคนหนึ่งคนใด แม้ไม่ได้เป็นกรรมการนิติบุคคล เมื่อนิติบุคคลประสบปัญหาจะขอให้ศาลสั่งเลิกนิติบุคคลได้หรือไม่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057 “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดร้องขอเมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังจะกล่าวต่อไปนี้ ศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้ คือ
(1) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งนอกจากผู้ร้องฟ้องนั้น ล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตน โดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง
(2) เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นจะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีหวังจะกลับฟื้นตัวได้อีก
(3) เมื่อมีเหตุอื่นใด ๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้”
การเลิกโดยคำสั่งศาลนี้ ศาลอาจสั่งให้เลิกห้างหรือไม่ก็ได้ เป็นดุลพินิจศาล โดยบุคคลที่จะร้องขอต่อศาลได้นั้น คือ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดก็ได้ กฎหมายไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นคนที่ไม่ได้ละเมิด ดังนั้น ใครก็ได้ที่เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญ ก็สามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8454/2559 ผู้ร้องบรรยายคำร้องขอขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. โดยเหตุกิจการของห้างที่จะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้อีก และผู้เป็นหุ้นส่วนดำเนินคดีฟ้องร้องกันหลายเรื่องจนไม่สามารถจะร่วมทำกิจการต่อไปได้ ทั้งผู้ร้องยกเลิกสัมปทานค้าขายน้ำมัน รื้อถอนถังบรรจุน้ำมันและตู้จ่ายน้ำมันคืนแก่บริษัท อ. ไปแล้ว อันเป็นเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งเป็นเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (2) และ (3) หาได้อ้างเหตุผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนโดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1057 (1) ไม่ เช่นนี้ ไม่ว่าผู้ร้องจะเป็นผู้ล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนโดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1057 (1) ดังที่ผู้คัดค้านฎีกาหรือไม่ ผู้ร้องก็มีอำนาจยื่นคำร้องขอในคดีนี้
สรุป เมื่อบริษัทประสบปัญหา หุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเลิกบริษัทได้
ทนายอธิป 0917127444