Home คดีแพ่ง รวมคำพิพากษาศาลฎีกา ฟ้องหย่าสามี(ผัว)

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา ฟ้องหย่าสามี(ผัว)

15895

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2561

การที่โจทก์หายไปจากบ้านทิ้งจำเลยกับบุตรสองคนอยู่ตามลำพังนาน 3 เดือน ไม่สามารถติดต่อได้ จำเลยเป็นฝ่ายออกติดตามจนพบว่าโจทก์ไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล ส. จังหวัดภูเก็ต จำเลยเดินทางไปอยู่กับโจทก์ 3 เดือนต่อครั้ง โดยโจทก์จำเลยยังมีเพศสัมพันธ์กัน แม้โจทก์อ้างว่าการมีเพศสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามปกติในความเป็นสามีภริยา แต่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงย่อมต้องมีความยินยอมพร้อมใจ โดยเฉพาะฝ่ายชายหากไม่ยินยอมพร้อมใจ ย่อมยากที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ จึงหาใช่โจทก์จำเลยไม่มีเพศสัมพันธ์กันจนทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินควรและจนเป็นเหตุหย่าไม่ การที่จำเลยเดินทางไปตามหาโจทก์ที่จังหวัดภูเก็ต พบคลินิกแต่ไม่พบตัวโจทก์ พบแต่ ก. ทำงานในคลินิกและมีห้องนอนอยู่ติดกับห้องนอนโจทก์ในคลินิก แล้วจำเลยก็ไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้อีก เมื่อทราบว่าโจทก์มาเรียนต่อเฉพาะทางที่กรุงเทพ จำเลยจึงไปดักพบ โจทก์ไม่ยอมพูดด้วย จำเลยต้องเข้าไปนั่งข้างโจทก์ในห้องเรียน การที่ทันตแพทย์ที่ร่วมเรียนด้วยและอาจารย์ที่สอนพูดว่า โจทก์มีเมียมาคุม น่าจะเป็นคำพูดล้อเล่น ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำใด ๆ ทำให้โจทก์ต้องอับอาย การที่สามีภริยาปรากฏตัวด้วยกันเป็นครั้งคราวย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งจำเลยกลับถูก ก. ที่มานั่งเฝ้าโจทก์ใช้กำลังทำร้ายและตะโกนด่าต่อหน้าบุคคลอื่น เมื่อโจทก์ขอร้องจำเลยก็ใจอ่อนไม่ดำเนินคดี การกระทำของจำเลยจึงหาใช่จำเลยทำให้โจทก์เสียหายเดือดร้อนเกินควรและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่ จึงไม่เป็นเหตุหย่า

สามีภริยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง เมื่อฝ่ายภริยาคือจำเลยไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้ จำเลยย่อมเป็นฝ่ายได้รับการอุปการะเลี้ยงดู แต่เมื่อไม่ได้รับ จึงมีสิทธิเรียกจากฝ่ายสามีคือโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38

ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลหรือค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเลี้ยงชีพตนเองจากโจทก์ การที่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นฟ้องแย้ง 200 บาท และศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งจำเลยให้เป็นพับมานั้น จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 157/2561

การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์ในเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมต้องมีความรักและหึงหวงสามีอันเป็นสิทธิของจำเลยย่อมกระทำได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ถูกดำเนินการทางวินัยแต่อย่างใด การที่จำเลยฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก ส. เป็นอีกคดีหนึ่งจนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ ส. ชำระค่าทดแทนแก่จำเลย 500,000 บาท ก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำเพื่อรักษาสิทธิในครอบครัวเพื่อไม่ให้ ส. เข้ามาเกี่ยวข้องกับโจทก์ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอันจะทำให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัว แม้จำเลยจะเป็นผู้ออกจากบ้านพักโจทก์ไปก็เพราะโจทก์เปลี่ยนกุญแจบ้านทำให้จำเลยกลับเข้าไปในบ้านไม่ได้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ ทั้งพฤติกรรมของโจทก์ก็เป็นฝ่ายไปยกย่องหญิงอื่นคือ ส. เป็นภริยา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่าหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)

ส่วนที่จำเลยเพียงแต่ใช้นิ้วจิ้มที่หน้าอกและยันที่หน้าอกของ ท. มารดาของโจทก์ 1 ครั้ง การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้กิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่สมควรเยี่ยงบุตรสะใภ้พึงปฏิบัติต่อมารดาของสามีเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจบุพการีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8803/2559

จำเลยใช้ถ้อยคำพูดกับโจทก์ว่า “กูเบื่อผู้ชายแก่ ๆ ควยเล็ก เซ็กส์ห่วย หัวล้าน ตัวเตี้ย ๆ หน้าเหี้ยใจยังเหี้ย หัวขโมย แบบมึงเต็มที” และ “กูมีความพร้อมทุกอย่าง สาว สวย เหมาะสมกับหนุ่ม ๆ แข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ พร้อมเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรยาก กูแต่งงานกับมึงเพื่อประชด อ. เจ็บ ก็แค่นั้น กูไม่ได้พิศวาสมึงเลย…” และส่งข้อความทางโทรศัพท์ว่า “เดี๋ยวกูจะไปนอนให้คนอื่นเอา” เป็นถ้อยคำหยาบคาย อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนอันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และ (6) ส่วนการที่โจทก์ไม่กลับบ้านนานนับสัปดาห์ ไม่ยอมหลับนอนกับจำเลย ออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมาอยู่ด้วยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ไม่อุปการะเลี้ยงดู จึงเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. 1516 (6) เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้หย่ากัน โจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คู่ความจึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้อีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247

เงินฝากในบัญชีธนาคารและสลากออมสิน นั้น โจทก์นำสืบว่า ระหว่างสมรสจำเลยนำเงินส่วนที่โจทก์มอบให้ไปเปิดบัญชีเงินฝากและซื้อสลากออมสิน ทางนำสืบจำเลยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินดังกล่าวที่อ้างว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยได้มาอย่างไร จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากโจทก์ที่ให้เงินมาในระหว่างเป็นสามีภริยา จึงเป็นการได้มาภายหลังจากที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ กรณีต้องถือตามข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคท้ายว่า เงินฝากในบัญชีธนาคาร และสลากออมสินเป็นสินสมรส ชายและหญิงพึงได้ส่วนเท่ากัน โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรสดังกล่าวกึ่งหนึ่งมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันฟ้องหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) และ 1533

รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า โจทก์ซื้อมาใส่ชื่อจำเลยในใบคู่มือจดทะเบียน ก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ จำเลยนำสืบประกอบภาพในสื่อสังคมออนไลน์ (facebook) ที่ลงภาพเพื่อขอบคุณโจทก์ มีของใช้ส่วนตัวของจำเลยวางในรถ มีสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยแปะกระจกรถ โจทก์ได้แสดงความเห็นในเชิงหยอกล้อการขับรถของจำเลย และโจทก์เองก็มีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว ถือว่าโจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา เป็นสินส่วนตัวจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) โจทก์ต้องคืนรถทั้งสองคันดังกล่าวที่โจทก์เอาไปให้จำเลย

เดิมจำเลยได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์เดือนละ 100,000 บาท โจทก์รับว่าไม่ได้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยก่อนฟ้องเป็นเวลา 4 เดือน เมื่อสามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 และจำเลยไม่มีหลักฐานมายืนยันรายได้ก่อนสมรสกับโจทก์ ที่ศาลล่างกำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยเดือนละ 50,000 บาท เหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยขอค่าอุปการะเลี้ยงดูภายหลังจากหย่าไปจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่นั้น เนื่องจากการหย่าเป็นความผิดของทั้งสองฝ่าย ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูส่วนนี้ให้

จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์บุกรุกเข้าไปในบ้านใช้สเปรย์ฉีดพ่นทรัพย์สินได้รับความเสียหายนั้น เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่ได้อาศัยเหตุแห่งการหย่าและการเรียกค่าทดแทนตามฟ้องเดิมเป็นมูลหนี้ แต่เป็นการกล่าวอ้างการกระทำอีกตอนหนึ่งของโจทก์อันเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างจากฟ้องเดิม

ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องแย้งในข้อนี้มานั้นชอบแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะฟ้องใหม่เพื่อเรียกค่าซ่อมแซมทรัพย์สินดังกล่าวภายในอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2559

โจทก์บันทึกข้อความหลายตอนลงในสมุดบันทึกที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความรักฉันชู้สาวกับชายอื่น ย่อมทำให้ครอบครัวแตกแยกขาดความปกติสุข อีกฝ่ายหนึ่งต้องมีความทุกข์ทรมาน ถือว่าได้รับความเดือดร้อนเกินควร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6)

ในคดีแพ่งผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาให้ชัดแจ้งเท่านั้น ส่วนการปรับบทกฎหมายแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุหย่าตามป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แต่เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ความจากการสืบของทั้งสองฝ่ายถือเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (6) ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแห่งคดีได้

จำเลยที่ 1 มีเจตนาโอนที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ อันเป็นสัญญาที่สมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้ ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามมาตรา 1471 (3) ไม่ใช่สินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม แม้ที่ดินเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ศาลจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปกว่าคำขอของโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2559

แม้โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้าง แต่การร่วมประเวณีต้องเกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ไม่อาจบังคับได้ หากขืนใจถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276

การที่จำเลยเรียกบุตรผู้เยาว์มาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีเพื่อให้บุตรผู้เยาว์ไปพักผ่อน เช่นนี้จะถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีไม่ได้ และการที่โจทก์มดลูกอักเสบจากการร่วมประเวณีของจำเลย จำเลยทราบแต่ไม่หยุดร่วมประเวณีกับโจทก์ จนโจทก์ต้องหนีออกจากบ้าน พฤติกรรมของจำเลยถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และยังถือเป็นพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13552/2558

บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852 แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า “ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง” แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10770/2558

เดิมโจทก์ฟ้องว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะเพราะจดทะเบียนสมรสซ้อน จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเสนอคำฟ้องฉบับใหม่อ้างว่าโจทก์สมรสกับจำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลจึงขอบอกล้างโมฆียะกรรมเท่ากับว่าโจทก์สละหรือยกเลิกข้อหาในฟ้องเดิมและแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหาใหม่ตามคำฟ้องฉบับใหม่แล้ว ข้อหาตามคำฟ้องเดิมจึงเป็นอันยุติไป การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง

โจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในขณะนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นอันสิ้นผลไปทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่สถานะเดิมหมายถึงการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิและได้รับการคุ้มครองในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมเป็นภริยาจนมีบุตรด้วยกันจนถึงวันที่มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นเหตุต่อเนื่องที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยมิได้หยุดการกระทำหรือหมดสิ้นไป จำเลยยังคงมีสิทธิฟ้องหย่าโจทก์ได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง

โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ตั้งแต่ปลายปี 2538 จนถึงวันฟ้องและฟ้องแย้งเป็นเวลาประมาณ 16 ปี โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความพยายามที่จะกลับไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอีก คงมีแต่การฟ้องคดีกันทั้งสองฝ่าย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินกว่า 3 ปี แม้คดีจะมีเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ประกอบด้วย แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์มาตรา 1526 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4230/2558

โจทก์และจำเลยเป็นอิสลามศาสนิก มีภูมิลำเนาในจังหวัดนราธิวาส สมรสกันถูกต้องตามหลักกฎหมายอิสลามและจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์มาฟ้องหย่าจำเลยโดยบรรยายเหตุแห่งการหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สภาพแห่งข้อหาจึงเป็นเรื่องครอบครัว ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 มาตรา 3 ที่ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงต้องใช้เหตุฟ้องหย่าตามหลักกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้แทน ป.พ.พ. มาตรา 1516 เมื่อโจทก์ได้ถูกตัดสินให้หย่าขาดจากการเป็นภริยาจำเลยโดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส โดยระบุไว้ในหนังสือการหย่าร้างว่า คำตัดสินนี้เป็นคำชี้ขาดตามหลักศาสนาและกฎระเบียบทุกประการ จึงเป็นการหย่ากันโดยชอบตามหลักกฎหมายอิสลาม มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้เช่นเดียวกับการหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และสามารถนำไปใช้เพื่อจดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้เลย โดยโจทก์ไม่จำต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาล ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1292/2558

พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ แต่โจทก์คงมีแต่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งมิใช่ผู้ชำนาญกฎหมายประเทศอังกฤษมาเบิกความประกอบพยานเอกสาร ซึ่งในบทบัญญัติกฎหมายประเทศอังกฤษดังกล่าว ห้ามการหย่าก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันทำการสมรส เมื่อโจทก์นำสืบว่า ตามกฎหมายของประเทศอังกฤษยินยอมให้คู่สมรสหย่ากันได้ จำเลยไม่โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงแต่อ้างว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษมีเงื่อนไขการหย่าและคดีนี้ยังไม่พ้นระยะเวลาการหย่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ได้โต้แย้งความมีอยู่จริงของกฎหมายที่โจทก์นำสืบดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายประเทศอังกฤษหรือไม่ ข้อเท็จจริงก็ย่อมรับฟังได้ว่า กฎหมายของประเทศอังกฤษยินยอมให้คู่สมรสหย่าขาดกันได้ ซึ่งต้องตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย มาตรา 27 วรรคหนึ่ง แล้ว ทำให้ศาลไทยมีอำนาจที่จะพิจารณาต่อไปได้ว่า เหตุหย่าที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องนั้น เป็นเหตุหย่าตามกฎหมายของประเทศไทยหรือไม่

การทิ้งร้าง หมายความว่าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเจตนาจะไม่ร่วมอยู่กินฉันสามีภริยากันต่อไป จึงได้ทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่ง หาใช่เป็นการทิ้งร้างเพราะมีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควร ข้อเท็จจริงการทิ้งร้างตามคำเบิกความของ พ. ล้วนเป็นพยานบอกเล่าทั้งสิ้น ไม่มีส่วนที่ พ. รู้เห็นด้วยตนเอง การที่โจทก์พาจำเลยไปอยู่กินด้วยกันที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และโจทก์ไม่ยินยอมเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกขัดแย้งกับข้อตกลงของโจทก์จำเลยก่อนสมรสซึ่งโจทก์ขอจำเลยแต่งงานโดยโจทก์จำเลยตกลงใช้ชีวิตบั้นปลายที่กรุงเทพมหานคร ดังนั้น การที่จำเลยเดินทางกลับมาประเทศไทย จึงไม่ถือเป็นการทิ้งร้างโจทก์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่อาจอ้างการทิ้งร้างเป็นเหตุหย่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1290/2558

การบรรยายฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง จะต้องให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น หมายความว่า เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงที่โจทก์ประสงค์จะใช้เป็นข้ออ้างในการฟ้องให้แจ้งชัด โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องถึงสาเหตุที่โจทก์ต้องฟ้องหย่าว่า เป็นเพราะจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์อุปการะเลี้ยงดู ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา กล่าวคือ จำเลยทั้งสองเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นด้วยกัน พักร่วมอยู่ในบ้านเดียวกัน ติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์กันเสมอเป็นเวลานาน ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเป็นยุติจากการวินิจฉัยพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายว่าเป็นไปตามฟ้อง แม้จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า จำเลยที่ 1 ขับรถให้ คือขอให้พาจำเลยที่ 2 ไปร้านตัดเสื้อ ร้านแว่นตา ร้านทำผม เขียนบทกลอนส่งหากัน แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องแล้วทั้งสิ้น ไม่มีข้อเท็จจริงใดเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่นอกคำฟ้อง ส่วนศาลล่างทั้งสองจะเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุตินั้นเป็นเหตุหย่าหรือไม่ และเป็นเหตุหย่าที่ปรับได้กับบทบัญญัติกฎหมายมาตราใด กฎหมายมาด้วย แต่ก็ไม่ผูกพันว่าศาลจะต้องวงเล็บใดก็เป็นอำนาจหน้าที่และเป็นความเห็นของแต่ละศาล ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างบทปรับบทตามฟ้องของโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลปรับบทกฎหมายแตกต่างจากฟ้อง ไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือเป็นการวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2557

ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น” ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8611/2557

โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยซึ่งเป็นสามีอ้างเหตุว่า จำเลยทรมานร่างกายและจิตใจของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ด้วยการใช้วาจาไม่สุภาพและทะเลาะกับโจทก์โดยไม่มีเหตุผลเป็นประจำ จำเลยถือมีดทำครัวยืนขวางไม่ให้โจทก์ออกจากบ้านและขู่จะฆ่าให้ตายหากไม่นำภาพถ่ายในอดีตของโจทก์มาให้และข่มขู่จะทำร้ายโจทก์ด้วยอารมณ์รุนแรงไม่มีเหตุผล ทำให้โจทก์หนีออกจากบ้านเพราะเกรงจะถูกทำร้าย การที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยใช้มีดขู่ให้โจทก์ยอมร่วมประเวณีด้วย ทั้งๆ ที่โจทก์ไม่สบายและไม่ต้องการร่วมประเวณี ทำให้โจทก์รู้สึกทรมานร่างกายและจิตใจอย่างมาก จึงเป็นรายละเอียดแห่งเหตุหย่าตามที่โจทก์กล่าวบรรยายในฟ้อง มิใช่การนำสืบนอกเหนือจากฟ้องตามฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2670/2556

พฤติการณ์ที่จะเข้าเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) นั้น นอกจากสามีภริยาต้องสมัครใจแยกกันอยู่ตลอดมาเกิน 3 ปี แล้ว ยังต้องเป็นการแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติด้วย

โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อความตกลงประนีประนอมยอมความกันว่า ไม่ประสงค์จะร่วมชีวิตฉันสามีภริยากันอีกต่อไปจนถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกิน 3 ปี แล้ว แต่เหตุที่โจทก์จำเลยไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกตินั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่นำสืบถึงเหตุทะเลาะ แต่โจทก์กลับรับว่า จำเลยไม่เคยประพฤติเสียหายหรือประพฤติชั่วอันจะเป็นปฏิปักษ์ต่อการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ทางนำสืบของจำเลยซึ่งอ้างว่าโจทก์ติดพันหญิงอื่นมีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ จึงรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่กินกับจำเลยและไปจากภูมิลำเนาเสียเอง ทั้งที่จำเลยยังเต็มใจที่จะเป็นคู่สมรสของโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยเหตุใด ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แม้ข้อความในบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความว่า โจทก์จำเลยไม่ประสงค์จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากันอีกต่อไป แต่ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นเพียงว่า โจทก์เท่านั้นที่สมัครใจแยกไปฝ่ายเดียว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่โจทก์และจำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข จึงไม่เข้าเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) ไม่ว่ามีการแยกกันอยู่นานเท่าใดก็ตาม

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

 โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @Lawyers.in.th

Facebook Comments