ความผิดฐานฉ้อโกงกับการผิดสัญญาทางแพ่งต่างกันอย่างไร
การไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือคำรับรอง บางกรณีเป็นปัญหาคาบเกี่ยวว่าเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งหรือเป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงด้วย
แนวทางการพิจารณาคือต้องดูว่าขณะทำสัญญาหรือให้คำรับรองนั้น จำเลยมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือคำรับรองนั้นหรือไม่ ถ้ามีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือคำรับรอง แม้ภายหลังไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาหรือคำรับรองนั้นได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ จะถือว่าเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จไม่ได้ คงเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ผิดฐานฉ้อโกง
แนวคำพิพากษาฎีกาที่ 19657/2557 จำเลยทำสัญญาลากจูงทางทะเลระหว่างประเทศเพื่อทำการลากจูงเรือดำน้ำของโจทก์ร่วมจากราชอาณาจักรสวีเดนมายังราชอาณาจักรไทยโดยปลอดภัย แต่เรือดำน้ำของโจทก์ร่วมจมเสียก่อนระหว่างทำการลากจูงในทะเลเหนือ และไม่สามารถนำมายังราชอาณาจักรไทยได้ จึงเป็นเรื่องในอนาคตที่จำเลยรับทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ และมิใช่จำเลยตั้งใจจะไม่ปฏิบัติตามคำรับรองของจำเลย
ก่อนทำสัญญาว่าจำเลยประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับการลากจูงเรือเดินสมุทรมาหลายปี มีกัปตันเรือ และเพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์ความสามารถ และจำเลยเป็นเจ้าของเรือเดินสมุทรที่สามารถลากจูงเรือดำน้ำของโจทก์ร่วมได้ ดังนี้จึงไม่เป็นการหลอกลวงอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341
แนวคำพิพากษาฎีกาที่ 3366/2561 จำเลยขับรถกระบะไปเปลี่ยนยางที่ร้านผู้เสียหายโดย บ. ญาติจำเลยไปด้วย ผู้เสียหายคิดราคายาง 4 เส้นเป็นเงิน 8,000 บาท จำเลยตกลงเปลี่ยนยางทั้ง 4 เส้น ว.ลูกจ้างประจำร้านเป็นผู้เปลี่ยนให้โดยใส่ยางชุดเก่าไว้ในกระบะรถ เมื่อเปลี่ยนยางรถเสร็จทั้ง 4 เส้นแล้ว ว.ถอยรถกระบะไปจอดบริเวณหน้าร้านโดยติดเครื่องยนต์ไว้ จากนั้นประมาณ 3 นาทีจำเลยขับรถกระบะดังกล่าวออกจากร้านไปโดยไม่ชำระราคา
ขณะตกลงซื้อขายยางรถระหว่างจำเลยกับผู้เสียหาย จำเลยไม่มีเจตนาที่จะใช้กลอุบายหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งมอบยางรถทั้ง 4 เส้นโดยไม่คิดจะชำระเงินมาแต่ต้น ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในยางรถทั้ง 4 เส้นย่อมโอนไปยังจำเลยซึ่งเป็นผู้ซื้อตั้งแต่เมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายและกำหนดเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 458 และมาตรา 460 วรรค 1
แม้จำเลยยังไม่ได้ชำระราคา แก่ผู้เสียหายก็เป็นมูลคดีผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น หามีมูลความผิดทางอาญาฐานลักทรัพย์ไม่
แนวคำพิพากษาฎีกาที่ 151-152/2537 ในขณะที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน จำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าที่ดินจะถูกเวนคืนเพียงแต่จำเลยทั้งสองพูดรับรองว่าที่ดินไม่มีภาระผูกพันใดๆเท่านั้น ทั้งโจทก์ในฐานะผู้จะซื้อที่ดินจากจำเลยทั้งสองก็มีหน้าที่ต้องระวังอยู่แล้ว การเวนคืนถึงหากจะมีก็ยังไม่เป็นการแน่นอนในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขาย
พฤติการณ์แห่งคดีจำเลยทั้งสองไม่อาจทราบได้ว่าจะมีการเวนคืนหรือไม่มากน้อยเพียงใด ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งตกอยู่ในเขตที่ดินที่ต้องถูกทางราชการเวนคืนโดยทุจริตแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
แต่ถ้าจำเลย มีเจตนาทุจริต มาแต่แรกที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือคำรับรอง คงอาศัยสัญญาหรือคำรับรองเป็นเครื่องมือหรือกลอุบาย ให้ผู้ครอบครองทรัพย์ส่งมอบทรัพย์ให้เท่านั้น ดังนี้เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
แนวคำพิพากษาที่ 4608/2560 จำเลยที่ 2 เป็นผู้วางแผนและมอบเงินให้จำเลยที่ 1 ไปเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากโจทก์ร่วม โดยไม่มีเจตนาผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อ เพียงแต่อาศัยการหลอกลวงโจทก์ร่วมว่าจะปฏิบัติตามสัญญาเพื่อเป็นช่องทางให้ได้รถจักรยานยนต์ไป คณะรถจักรยานยนต์มาแล้วจำเลยที่ 2 นำรถจักรยานยนต์ไป และมอบเงินค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1
ดังนี้เป็นการร่วมกันกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ประกอบมาตรา 83
ข้อสังเกต เรื่องนี้แม้จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้วางแผนและมอบเงินให้จำเลยที่ 1 ไปหลอกลวงโจทก์ร่วม โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ไปด้วย ศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่าเป็นตัวการร่วมด้วย