Home คดีอาญา ฉ้อฉลประกันภัย และคนประกันภัยฉ้อฉล

ฉ้อฉลประกันภัย และคนประกันภัยฉ้อฉล

4682

ฉ้อฉลประกันภัย และคนประกันภัยฉ้อฉล

พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562

เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยทุจริต
มาตรา 108/4 ผู้ใด เรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่ง

ในมาตรา 108/4 วรรคแรก เป็นเรื่องของบุคคลใดๆ คือใครก็แล้วแต่ ทำการเรียกร้องค่าสินไหมหรือการเคลมโดยทุจริต ซึ่งคำว่าโดยทุจริต ไม่มีคำนิยามในกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็จะใช้คำว่าโดยทุจริต จากประมวลกหมายอาญา
มาตรา 1(1) หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
ตัวอย่าง เช่น การกระทำตามมาตรา 347 ประมวลกฎหมายอาญาก็เขียนไว้เหมือนกัน ว่า ผู้ใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัย แกล้งทำให้เกิดเสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในมาตรา 347 เป็นความผิดอันยอมความได้ ตามมาตรา 348 จึงทำให้บุคคลที่ทุจริตเคลม ไม่ได้เกรงกลัวอะไรมากมายกับมาตรา 347 จึงเกิดการแก้กฎหมายฉบับนี้ขึ้น

ตัวอย่างการ ทุจริตเคลม เช่น จัดฉากให้รถชนกัน โดยไม่มีการชนกันจริง,รถชนกันไม่มีประกันภัย จัดให้มีประกันภัยย้อนหลังเพื่อให้ บ.ประกันภัยรับผิดชอบจ่ายค่าสินไหมทดแทน
ที่ผมพบเองกับตัว ตกต้นไม้ขาหักพามาสวมว่ารถคันทำประกันชน และ สุนัขกัดเด็กนำมาสวมว่ารถประกันชน เป็นต้น ซึ่งในอดีตและปัจจุบันก่อนที่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ถ้าบ.ประกันจับผิดได้ ส่วนใหญ่จะขอยกเลิกเคลม แยกย้ายทางใครทางมัน จบ อย่างมากที่สุดบ.ประกันก็ยกเลิกกรมธรรม์คืนเบี้ย และขึ้นบัญขีดำไว้เท่านั้น

ในมาตรา 108/4 วรรคสอง เป็นเรื่องที่มีคนสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดตามวรรคแรก ถ้าเราดูในกำหมายอาญา ผู้สนับสนุนต้องรับโทษ 2 ใน 3 ส่วนของฐานความผิดนั้นๆ แต่ในกฎหมายฉบับนี้ บัญญัติให้ผู้สนับสนุนต้องรับโทษเท่ากับตัวการ พูดง่ายๆ ทำให้คนที่มีส่วนร่วมสนับัสนุนไม่ว่าในทางใดต้องรับโทษเท่ากันหมด คือมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ในมาตราต่อไป เรียก รับสินบน
มาตรา 108/5 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่กรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจากบริษัท เพื่อจูงใจให้
ดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในมาตรา 108/5 วรรคแรก เป็นเรื่องของบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่กรณี อู่ซ่อมรถ ที่กระทำการ ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชนือื่นใดแก่บุคลากรของ บ.ประกันภัย เพื่อจะให้ได้ค่าสินไหมทดแทนโดยทุจริต ก็คือทำให้ได้มากว่าที่ควรจะได้นั่นเอง มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนมาตรา108/5 วรรคสอง ก็เป็นเรื่องของบุคลากรของ บ.ประกันภัยเอง ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายตรวจสอบอุบัติเหตุ ฝ่ายสินไหมทดแทน หรือ นิติบุคคลคู่ค้าที่รับงานไปทำแทน บ.ประกันภัย ที่กระทำการ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้มากกว่าที่ควรจะจ่ายนั่นเอง มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เช่นกัน

กฎหมายทั้งสองมาตรานี้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของ บ.ประกันภัย และคนประกันภัย ผมคิดว่าผู้ร่างกฎหมายต้องการให้การทุจริตในระบบอุตสาหกรรมประกันภัย ลดลงหรือหมดสิ้นไปนั่นเอง

ลืมไปนิดนึง ความผิดในกฎหมายฉบับนี้ รัฐเป็นผู้เสียหายยอมความไม่ได้นะครับ

Facebook Comments