การแกล้งฟ้องคดีอาญา การฟ้องปิดปาก
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161/1
… ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฏต่อศาลเองหรือมีพยานหลักฐาน ที่ศาลเรียกมาว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย หรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประชาชนที่พึงได้โดยชอบ ให้ศาลยกฟ้อง และห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
… การฟ้องคดีโดยไม่สุจริตตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง การที่โจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล ในคดีอาญาอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรด้วย

มาตรา 161/1 เพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับที่ 34 พ. ศ. 2562

ศาสตราจารย์ ดร. สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล
ได้อธิบายไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับอ้างอิง พิมพ์ครั้งที่ 19 พ.ศ. 2562 ว่า
… เหตุผลของการเพิ่มมาตรา 161/1 เข้ามาปรากฏตามเหตุผลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับที่ 34 พ. ศ. 2562 คือ …
… นอกจากนี้หากปรากฏว่ามีการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบจำเลยในหลายกรณี หรือฟ้องคดีโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้ตามปกติธรรมดา อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ถูกฟ้องร้อง และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้ศาลมีอำนาจยกฟ้อง …
… ดังนั้นเพื่อให้ระบบการปล่อยชั่วคราวและการพิจารณาพิพากษาคดีอาญา มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบัน และสามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้…
… มาตรานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการใช้คดีอาญา ในวัตถุประสงค์ที่มิใช่เพื่อเอาความผิดกับผู้กระทำความผิดอาญาอย่างแท้จริง เช่น การฟ้องผู้ไม่ชำระหนี้ทางแพ่งเป็นคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกง การฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือกลั่นแกล้งฟ้องร้องต่างๆเป็นต้น …
… นอกจากนี้ยังรวมถึงสิ่งที่เรียกว่า “SLAPP” ที่ย่อมาจากคำว่า Strategic Lawsuit Against Public Particcipation ซึ่งหมายถึงการดำเนินคดีอาญา หรือแพ่งเพื่อข่มขู่มีให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ หรือที่เรียกว่า “การฟ้องคดีเพื่อปิดปาก” หรือ “การแกล้งฟ้อง” คดีประเภทนี้จะแตกต่างจากคดีทั่วไป ตรงที่ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัว หรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำ หรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายเท่านั้น …
… การแกล้งฟ้องต่างๆเหล่านี้มักจะอ้างสิทธิ์ในการฟ้องคดีตามมาตรา 28 ว่าตนเป็นผู้เสียหาย ดังนั้นมาตรา 161/1 จะใช้เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อศาลตรวจคำฟ้องเห็นว่าถูกต้องแล้ว ศาลจะสั่งให้มีการไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 162 (2) ซึ่งหากเป็นการแกล้งฟ้องจริงก็จะเป็นการเสียเวลาในการดำเนินการไต่สวน …
… ดังนั้นมาตรานี้จึงอนุญาตให้ศาลสามารถยกฟ้องได้เลย หากความปรากฏต่อศาลเองหรือมีพยานหลักฐานที่ศาลเรียกมาว่าโจทก์ ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย หรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ และห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นอีก ซึ่งไม่ใช่คดีอาญาระงับเพราะมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องตามมาตรา 39 (4) แต่อย่างใด หากเป็นข้อห้ามเชิงกระบวนการทำนองการห้ามฟ้องใหม่ กรณีโจทก์ขาดนัดไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 166 วรรค 3…
…การฟ้องคดีโดยไม่สุจริตตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงการที่โจทก์ จงใจฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในคดีอื่น เพิ่งถึงที่สุดแล้วโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรด้วย…

ติดต่อสำนักงาน SCLLAW 0917127444
ทนายอธิป

Facebook Comments