Home คดีอาญา เหตุสุดวิสัย หมายถึงเหตุการณ์เช่นไรบ้าง มีตัวอย่างฎีกา

เหตุสุดวิสัย หมายถึงเหตุการณ์เช่นไรบ้าง มีตัวอย่างฎีกา

6627

เหตุสุดวิสัยหมายถึงเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน โดยไม่มีบุคคลใดคาดหมายหรือคาดคิดว่าจะมีเหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้น และไม่อาจป้องกันหรือหลีกเลี่ยงให้พ้นไปได้ แม้ว่าตัวเองจะใช้ความระมัดระวังแล้วก็ตาม โดยบุคคลนั้นมิได้มีความประมาทเลย จึงทำให้บุคคลต่างๆที่ประสบภาวะเช่นนั้นหลุดพ้นจากความรับผิดทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดทางแพ่งหรือความรับผิดทางอาญาก็ตาม

ตามพจนานุกรมคำว่า เหตุสุดวิสัย หมายถึง เหตุที่พ้นความสามารถของใครอันที่จะป้องกันได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 บัญญัติว่า คำว่าเหตุสุดวิสัยหมายความว่า เหตุใดๆอันจะเกิดขึ้นก็ดีนั้น เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้กระทั่งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น

มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2015/2520 ผู้ตายวิ่งตัดหน้ารถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับมาในระยะกระชั้นชิด ถือว่าเป็นความประมาทของผู้ตายเอง จำเลยไม่อาจห้ามล้อหยุดได้ทัน เป็นการสุดวิสัยที่จะป้องกันได้ ไม่ใช่เกิดจากความประมาทของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326/2522 จำเลยขับรถยนต์หลบรถยนต์ของ ย. ที่ขับเล่นสวนทางล้ำเส้นทางเข้ามาในระยะกระชั้นชิด จำเลยจึงบังคับรถไม่ได้ จึงไปชนรถยนต์ของโจทก์ที่คนขับหลบรถออกมานอกเขตถนน ดังนี้ มิใช่จำเลยประมาท แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 383/2537
จำเลยขับรถยนต์ไปด้วยความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผู้ตายได้วิ่งไล่ตี ซ. ข้ามถนนตัดหน้าช่องทางเดินรถที่จำเลยขับไปแล้ว แต่ได้มีรถยนต์อีกคันหนึ่งแล่นตามมา ผู้ตายจึงชะงักและถอยหลังกลับเข้ามาในช่องทางเดินรถของจำเลยโดยกระทันหันและในระยะกระชั้นชิด ทำให้จำเลยไม่สามารถหยุดรถหรือหลบไปทางอื่นได้ทันท่วงที และในภาวะเช่นนั้น จำเลยไม่อาจคาดคิดได้ว่าจะมีคนวิ่งข้ามถนนตัดหน้าช่องทางเดินรถที่จำเลยขับไปแล้วกลับไปชะงัก และถอยหลังเข้ามาขวางหน้ารถยนต์ที่จำเลยกลับไปอีก การที่จำเลยขับรถยนต์ชนผู้ตาย จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยไม่อาจป้องกันได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 983/2546 ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาพลบค่ำ รถที่แล่นบนถนนทุกคันต่างเปิดไฟแล้ว แสดงว่าถนนมืดรถจักรยานยนต์ที่ ส.ขับนั้นไม่มีไฟหน้า ไฟเลี้ยวก็ใช้การไม่ได้ ทั้งก่อนขับรถมีการดื่มสุรามาบ้างแล้ว จุดที่รถจักรยานยนต์เลี้ยวกลับก็เป็นทางลงเนิน อยู่ในช่องทางเดินรถของจำเลย เชื่อได้ว่า เมื่อจำเลยขับรถยนต์กระบะลงเนินแล้วจำเลยเห็นรถจักรยานยนต์เลี้ยวกลับในช่องทางเดินรถ ของตนในระยะกระชั้นชิด ทำให้ไม่สามารถบังคับรถให้หยุดได้ทันท่วงที การที่รถยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้ ส. และโจทก์ร่วม ที่นั่งซ้อนท้ายมานั้นได้รับอันตรายสาหัส จึงมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลย

ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงฎีกาส่วนหนึ่ง เท่านั้นเกี่ยวกับเหตุสุดวิสัย

มีปัญหาก็ดีความติดต่อ
สำนักงาน SCLLAW 091 712 7444

Facebook Comments