คำถาม
สิทธินำคดีอาญามาฟ้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่ หากไม่ได้มีการว่ากล่าวกันมาโดยชอบ สามารถยกขึ้นให้ศาลวินิจฉัยได้หรือไม่
คำตอบ เคยมีคำพิพากษาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2594/2562
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยให้การรับสารภาพและไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำเลยก็ชอบที่ยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จำเลยฎีกาแต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 194 ประกอบมาตรา 225
ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นกับความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดคนละประเภทกันและยังเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมกันโดยอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ ทั้งยังเป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับซึ่งมีองค์ประกอบแห่งความผิดแตกต่างกันและเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวทั้งเจตนาในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกันสามารถแยกเจตนาในการกระทำความผิดออกจากกันได้ แม้จำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานโดยมีเจตนาเพื่อฆ่าผู้อื่น การกระทำของจำเลยก็เป็นคนละกรรม ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 มิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน โจทก์ย่อมมีอำนาจแยกฟ้องจำเลยเป็นคนละคดีได้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยและศาลพิพากษาลงโทษ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ไปแล้ว คดีย่อมเสร็จเด็ดขาดเฉพาะกระทงความผิด ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ เท่านั้น ส่วนกระทงความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นยังหาได้มีการวินิจฉัยในเนื้อหาความผิดแต่อย่างใด จะถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดฐานนี้แล้วไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นคดีนี้ได้อีก ไม่เป็นฟ้องซ้ำ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
สรุป เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยให้การรับสารภาพและไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำเลยก็ชอบที่ยกขึ้นฎีกา
มีปัญหาคดีความปรึกษาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @Lawyers.in.th