คำถาม
ยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก โดยไม่ได้ระบุถึงทรัพย์สินทุกรายการ ถือเป็นการปิดบังทรัพย์มรดกหรือไม่
คำตอบ
เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558
การนำสืบพยานบุคคลถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าเพราะเหตุใดจึงมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน ไม่ใช่การนำสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง
ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้ระบุที่ดินอีก 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
สรุป ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th