คำตอบ
องค์ประกอบที่ศาลฎีกา ใช้พิจารณาคดีค้ามนุษย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2562
องค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ต้องประกอบด้วย การเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของบุคคลอื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6
เมื่อไม่ปรากฏว่า นับตั้งแต่ผู้เสียหายเข้ามาทำงานในโรงงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จนถึงวันที่ ผู้เสียหายหลบหนีออกมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำการอันใดเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทำงานโดยทำให้ผู้เสียหายกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แต่อย่างใด คงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ผู้เสียหายทำงานหนักและไม่จ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้เสียหายเท่านั้น ควบคุมให้ทำงานต่อเนื่อง ส่วนการที่จำเลยที่ 2 นำกุญแจมาคล้องประตูห้องพักซึ่งเป็นบ้านพักของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 พักอาศัยอยู่ด้วย ก็เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้เสียหาย และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 พูดห้ามผู้เสียหายมิให้ออกไปนอกโรงงานและบ้านพัก หากออกไปจะตัดผมให้สั้นเหมือนผู้ชาย ก็มิได้พูดด้วยน้ำเสียงข่มขู่ และผู้เสียหายไม่เคยเห็นคนงานคนใดถูกลงโทษ กรณีไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ใช้กำลังประทุษร้าย ทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้เพื่อให้ผู้เสียหายทำงานให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2)
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91, 310, 310 ทวิ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 52 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 64 บวกโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6252/2556 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3091/2558, 3092/2558 และ 3093/2558 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ และจำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2), 9 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคสอง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก, 310 ทวิ ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และเป็นการกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่ถึงสิบแปดปีกับฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังให้ปราศจากเสรีภาพ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 9 ปี ฐานร่วมกันช่วยด้วยประการใด ๆ ให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม จำคุกคนละ 1 ปี รวม 3 กระทง จำคุกคนละ 13 ปี สำหรับจำเลยที่ 1 บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6252/2556 ของศาลชั้นต้น เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 9 ปี 9 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3091/2558, 3092/2558 และ 3093/2558 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า ผู้เสียหายเป็นคนต่างด้าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากันและเป็นเจ้าของโรงงานผลิตขนมจีนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมดูแลคนงานในโรงงาน เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2557 ผู้เสียหายเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทางพรมแดนช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี โดยไม่มีหนังสือเดินทางและไม่ผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วมีชายไทยไปรับผู้เสียหายพามาส่งที่โรงงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ขณะผู้เสียหายออกจากโรงงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ร้อยตำรวจโทพัฒนธรวิทย์ ออกตรวจท้องที่ผ่านมาพอดีได้พบผู้เสียหายสวมเสื้อเปียกน้ำสอบถามได้ความว่า ผู้เสียหายเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงจับผู้เสียหายส่งร้อยตำรวจเอกเชวงศักดิ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเสนาเพื่อดำเนินคดี ร้อยตำรวจเอกเชวงศักดิ์สอบปากคำผู้เสียหายไว้ แล้วส่งตัวผู้เสียหายให้เจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตรวจสอบและดำเนินการ ร้อยตำรวจเอกหญิงนันท์นภัส พนักงานสอบสวนกองกำกับการ 2 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์รับผู้เสียหายไว้ แล้วสอบคำให้การผู้เสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 ผู้เสียหายโดยสารรถแท็กซี่มาถึงโรงงานผลิตขนมจีนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 พบจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 บอกให้ผู้เสียหายทำหน้าที่ตักขนมจีนที่ต้มสุกแล้ว ให้เงินเดือน เดือนละ 6,000 บาท เริ่มทำงานเวลา 4 นาฬิกา จนถึงเวลา 24 นาฬิกา ผู้เสียหายทำงานร่วมกับคนสัญชาติลาว 11 คน คนสัญชาติไทย 2 คน การทำงานจะมีจำเลยทั้งสามกับชายอีกคนหนึ่งจำชื่อไม่ได้คอยควบคุม ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักของโรงงานไม่สามารถออกไปข้างนอกได้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ห้ามไว้ และบอกว่าหากออกไปจะถูกลงโทษด้วยการตัดผมให้สั้นเหมือนผู้ชาย ช่วงเวลากลางคืนจำเลยที่ 2 นำกุญแจมาคล้องประตูห้องพักทั้งสองบาน ผู้เสียหายไม่อยากทำงานที่โรงงานเพราะเป็นงานที่หนัก ผู้เสียหายเคยบอกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าอยากกลับบ้าน จำเลยที่ 1 และที่ 2 บอกว่าต้องทำงาน 2 ปีถึง 3 ปีก่อนแล้วจึงจะให้กลับ ผู้เสียหายทำงานอยู่ประมาณ 1 เดือนโดยไม่ได้รับเงินเดือน ต่อมามีลูกค้ามาซื้อขนมจีน ผู้เสียหายแอบไปสอบถามว่าจะออกจากโรงงานได้อย่างไร ลูกค้าบอกให้ปีนกำแพงด้านหลังโรงงาน ผู้เสียหายปีนกำแพงด้านหลังโรงงานออกมาเดินผ่านวัด ข้ามทางน้ำจนถึงตลาดและไปขอความช่วยเหลือจากแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวแล้วมีเจ้าพนักงานตำรวจพาไปสถานีตำรวจ ผู้เสียหายเล่าเหตุการณ์ให้เจ้าพนักงานตำรวจฟัง ต่อมาจำเลยที่ 2 มาที่สถานีตำรวจจะนำตัวผู้เสียหายกลับไป แต่ผู้เสียหายไม่ยอมกลับ จากนั้นผู้เสียหายถูกส่งตัวไปที่กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า ผู้เสียหายมาตามหาญาติที่โรงงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อผู้เสียหายเข้ามาในโรงงานแล้วไม่พบญาติร้องไห้บอกว่าไม่มีที่ไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 สงสารจึงอนุญาตให้พักค้างคืน เช้าวันรุ่งขึ้นไม่พบผู้เสียหาย แต่ช่วงสายได้รับโทรศัพท์จากเจ้าพนักงานตำรวจให้ไปที่สถานีตำรวจภูธรเสนา เมื่อไปถึงพบผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจว่าผู้เสียหายไม่ใช่คนงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 พิเคราะห์แล้ว แม้โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวที่เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผู้เสียหายไว้เป็นคนงานในโรงงานผลิตขนมจีนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ผู้เสียหายก็เบิกความเป็นขั้นเป็นตอนนับตั้งแต่มีการติดต่อผู้เสียหายขณะที่พักอาศัยอยู่ในแขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้มาทำงานที่โรงงานผลิตขนมจีนในประเทศไทย ผู้เสียหายลักลอบเข้ามาในประเทศไทยทางพรมแดนช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี แล้วมีชายไทยพาผู้เสียหายเดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานีมาที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามลำดับ จากนั้นพามาส่งที่โรงงานผลิตขนมจีนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำงานอยู่ในโรงงานประมาณ 1 เดือน จนกระทั่งหลบหนีออกมาพบร้อยตำรวจโทพัฒนธรวิทย์ผู้จับกุม และร้อยตำรวจเอกเชวงศักดิ์ พนักงานสอบสวน โดยโจทก์มีร้อยตำรวจโทพัฒนธรวิทย์และร้อยตำรวจเอกเชวงศักดิ์มาเบิกความเป็นพยานยืนยันตรงกันว่า ขณะพบผู้เสียหาย ผู้เสียหายมีอาการตกใจและเสื้อผ้าเปียกน้ำ เมื่อผู้เสียหายไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาก่อน ส่วนร้อยตำรวจโทพัฒนธรวิทย์กับร้อยตำรวจเอกเชวงศักดิ์ต่างไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสามจะกลั่นแกลงปรักปรักจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อให้รับโทษทางอาญา คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผู้เสียหายซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายไว้เป็นคนงานในโรงงานผลิตขนมจีนของจำเลยที่ 1 และที่ 2
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยบังคับใช้แรงงาน ซึ่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 ให้คำนิยาม คำว่า “การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ” หมายความว่า การข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของผู้อื่น (2) ขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ (3) ใช้กำลังประทุษร้าย (4) ยึดเอกสารสำคัญประจำตัวของบุคคลนั้นไว้ หรือนำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่นมาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ (5) ทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ดังนี้ องค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามฟ้อง จึงต้องประกอบด้วย การเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของผู้อื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดให้ผู้เสียหายอยู่อาศัยและไม่ให้ผู้เสียหายออกจากโรงงานหรือบ้านพักไปไหน โดยจำเลยที่ 2 ขู่ว่าถ้าออกไปจะถูกลงโทษด้วยการตัดผมให้สั้นเหมือนผู้ชาย แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่า ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2557 ที่ผู้เสียหายเข้ามาทำงานในโรงงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ที่ผู้เสียหายหลบหนีออกมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำการใดอันเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทำงานโดยทำให้ผู้เสียหายกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แต่อย่างใด คงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ผู้เสียหายทำงานเวลาตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา จนถึงเวลา 24 นาฬิกา และไม่จ่ายเงินเดือนให้ผู้เสียหายเท่านั้น แม้ในระหว่างการทำงานจำเลยทั้งสามคอยควบคุมดูแลการทำงานก็น่าจะเป็นเพราะต้องการให้ผู้เสียหายทำงานอย่างต่อเนื่องตามลักษณะงานที่มอบหมายให้ตักขนมจีนที่ต้มสุกแล้ว ในช่วงเวลากลางคืนจำเลยที่ 2 นำกุญแจมาคล้องประตูห้องพักทั้งสองบานก็ได้ความจากผู้เสียหายและจำเลยที่ 2 ตรงกันว่า นอกจากผู้เสียหายแล้วยังมีคนงานอื่นพักอาศัยอยู่ในบ้านรวมทั้งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านด้วย การที่จำเลยที่ 2 นำกุญแจมาคล้องประตูห้องพักไว้ทั้งสองบานก็เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้พักอาศัย ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สั่งห้ามไม่ให้ออกไปนอกโรงงานหรือบ้านพักโดยจำเลยที่ 2 บอกว่าถ้าออกไปจะถูกลงโทษด้วยการตัดผมให้สั้นเหมือนผู้ชายก็ได้ความจากผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 พูดด้วยน้ำเสียงปกติธรรมดา ไม่ได้ขู่เข็ญ และผู้เสียหายไม่เคยเห็นคนงานคนใดถูกลงโทษ เพียงแต่รับฟังมาจากนางแก้วเท่านั้น กรณีจึงยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ใช้กำลังประทุษร้าย ทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้เพื่อให้ผู้เสียหายทำงานให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น และกรณีไม่จำต้องพิจารณาสั่งคำร้องฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ของจำเลยที่ 1 ที่ขอส่งเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายมีอายุกว่าสิบแปดปีในขณะเกิดเหตุเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ดังกล่าวมาแล้ว จึงลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานค้ามนุษย์ไม่ได้อันเป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผู้เสียหายไว้เป็นคนงานในโรงงานผลิตขนมจีนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ทำหน้าที่ตักขนมจีนต้มสุกแล้ว จำเลยทั้งสามควบคุมผู้เสียหายให้ทำงานตลอดเวลามิให้ไปไหนมาไหนโดยอิสระกักขังให้หลับนอนอยู่ในบ้านพักในโรงงาน การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและให้ผู้เสียหายทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 และมาตรา 310 ทวิ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันให้ผู้เสียหายซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้ว่าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายพ้นจากการจับกุมหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผู้เสียหายซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายไว้เป็นคนงานในโรงงานผลิตขนมจีนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยให้ผู้เสียหายทำงานตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา จนถึง 24 นาฬิกา จัดให้ผู้เสียหายอยู่อาศัยและไม่ให้ผู้เสียหายออกจากโรงงานหรือบ้านพักของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปไหนมาไหนโดยอิสระ บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาร่วมกันช่วยเหลือผู้เสียหายคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการจับกุมตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก, 310 ทวิ จำคุกคนละ 3 ปี และจำเลยที่ 1 กับที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 4 ปี สำหรับจำเลยที่ 1 ให้บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6252/2556 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษในคดีนี้เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 3 หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 3 เดือน ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) และมาตรา 9 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
สรุป
องค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ต้องประกอบด้วย การเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของบุคคลอื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th