Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาศาลฎีกา การขอลดโทษคดียาเสพติด (ฎีกาใหม่ปี2562)

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา การขอลดโทษคดียาเสพติด (ฎีกาใหม่ปี2562)

17665

คำถาม

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา การขอลดโทษคดียาเสพติด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2351/2562

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำ ศาลชั้นต้นรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดคงรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องเช่นกัน แต่กรณีที่มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา กรณีถือว่าฎีกาของจำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาเฉพาะความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี เมื่อศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว สำหรับความผิดฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำซึ่งมิใช่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุก 8 เดือน อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และความผิดฐานนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 ก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดจึงให้ยกฟ้องปล่อยจำเลยไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2108/2562

จทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 4, 16 วรรคหนึ่ง, 88 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยมีกำหนดโทษตามมาตรา 118 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 มากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961/2562

จำเลยทั้งสองและ ส. ซึ่งรู้จักกัน จำเลยที่ 1 กับ ส. แล่นเรือไปนำเมทแอมเฟตามีนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่ 2 ขับรถมารับจำเลยที่ 1 และ ส. พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยทั้งสองและ ส. ร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2562

คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 20 เม็ด หรือหน่วยการใช้น้ำหนัก 1.819 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.187 กรัม กับอีก 6 เม็ด น้ำหนัก 0.54 กรัม น้ำหนักสารบริสุทธิ์ไม่ปรากฏชัด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต มิได้บรรยายว่าจำเลยครอบครองเมทแอมเฟตามีนทั้ง 2 จำนวนดังกล่าวรวม 26 เม็ด ในคราวเดียวกัน แล้วจำหน่ายครั้งแรกให้แก่ผู้อื่นไป 20 เม็ด ส่วนที่เหลืออีก 6 เม็ด จำเลยมีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้วต่อมาพยายามจำหน่ายให้แก่ผู้อื่น ทั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้ว่าตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา ไม่ปรากฏว่าจำเลยครอบครองเมทแอมเฟตามีนในคราวเดียวกันทั้ง 26 เม็ด ซึ่งศาลฎีกาจำต้องถือตามในการวินิจฉัยข้อกฎหมายข้อนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 222 จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงว่าเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องข้อ (ก) และจำหน่ายไปตามฟ้องข้อ (ข) เป็นจำนวนเดียวกัน และเมทแอมเฟตามีน 6 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องข้อ (ก) และพยายามจำหน่ายไปตามฟ้องข้อ (ค) เป็นจำนวนเดียวกัน ที่โจทก์ฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายมาดังกล่าวเนื่องจากเมทแอมเฟตามีน 6 เม็ด ที่เหลือ ผู้ตรวจพิสูจน์มิได้คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ให้ก็ดี จำเลยสามารถพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 6 เม็ด ให้แก่ผู้ซื้อได้ในวันเดียวกันกับที่จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ดแรกนั้นเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอยู่แล้วในคราวเดียวรวม 26 เม็ด ก็ดี และศาลต้องลงโทษจำเลยเป็นสามกรรมว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 26 เม็ด จำหน่าย 20 เม็ด และพยายามจำหน่ายอีก 6 เม็ด นั้น ไม่อาจรับฟังได้ เพราะการครอบครองหรือจำหน่ายอาจเป็นการจัดหามาครอบครองเพื่อจำหน่ายใหม่ที่ละครั้ง และสามารถกระทำในวันเดียวกันได้อีกหลายๆ ครั้งก็ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรมดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2562

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้วกลับมากระทำความผิดเป็นคดีนี้ภายในเวลาห้าปี นับแต่วันพ้นโทษ ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 โดยโจทก์แนบรายการประวัติอาชญากรของจำเลยมากับคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดี เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมถือได้ว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดจริงและหมายความรวมถึงรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษด้วย การสอบถามคำให้การจำเลยจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยให้ลงโทษจำเลยและเพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบ ส่วนที่ศาลชั้นต้นคำนวณจำนวนวันและเดือนเพิ่มโทษจำเลยน้อยกว่าความเป็นจริงและไม่ถูกต้องเป็นเรื่องความผิดพลาดในการคำนวณโทษ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่แก้ไขโทษที่ศาลชั้นต้นคำนวณโทษที่เพิ่มผิดพลาด กลับพิพากษาไม่เพิ่มโทษจำเลยโดยยกคำร้องขอเพิ่มโทษ เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สอบถามคำให้การจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้ไม่ได้ขอให้ศาลฎีกาเพิ่มโทษจำเลยโดยตรงก็ตาม แต่เห็นได้ว่าฎีกาโจทก์ประสงค์ให้เพิ่มโทษจำเลยให้ถูกต้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั่นเอง จึงแปลได้ว่าโจทก์ฎีกาในทำนองขอให้เพิ่มเติมโทษแก่จำเลยแล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาแก้ไขเพิ่มโทษจำเลยให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2562

แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้น แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีการนำสืบกันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประเด็นแห่งคดี

จำเลยมิได้ยื่นคำร้องหรือแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลสำคัญในคดีต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จนสามารถขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด แต่เมื่อจำเลยไม่สืบพยานให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ไม่เคยเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบกันไว้ แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะปรากฏตามสำเนาบันทึกจับกุมเอกสารท้ายคำร้องขอฝากขัง ครั้งที่ 1 ก็ตาม เมื่อโจทก์และจำเลยไม่เคยนำสืบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไว้ในศาลชั้นต้น แต่เป็นข้อที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงนี้ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8961/2561

ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งตอนท้าย แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ได้กำหนดข้อยกเว้นกรณีต่างๆ เอาไว้ที่ทำให้พนักงานสอบสวนไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลเพื่อมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดภายในสี่สิบแปดชั่วโมง เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง เฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ ซึ่งในกรณีหลังนี้เอง เป็นเรื่องที่กฎหมายเปิดกว้างเอาไว้โดยมีเจตนารมณ์จะให้ผู้เสพยาเสพติดซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการของกฎหมายได้ เช่น ถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องสมควรกับความผิดที่ได้กระทำ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับคดีนี้ในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งในที่สุดโจทก์ก็มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี เท่ากับโดยสาระแล้ว จำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เสพเมทแอมเฟตามีนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มิได้เป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกอีกต่อไป จำเลยจึงเป็นผู้ป่วยซึ่งอยู่ในเงื่อนไขของกฎหมายที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอย่างแท้จริง การมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในความผิดฐานอื่นของโจทก์ที่เกิดขึ้นในภายหลังเช่นนี้ เข้าลักษณะของพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ไม่อาจนำตัวจำเลยไปศาลเพื่อมีคำสั่งให้ส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดได้ทันภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่จำเลยมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนดังที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ประกอบกับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดี โจทก์ทราบดีถึงพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว เท่ากับข้อเท็จจริงปรากฏแก่โจทก์แล้วว่าจำเลยมิได้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก กรณีย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์หรือพนักงานสอบสวนจะต้องนำตัวจำเลยไปยังศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดต่อไป เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเสียก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8941/2561

เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวซึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมีจำนวนตั้งแต่สิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณ ดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย …

(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป …

และ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 15 วรรคสาม มาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ไม่ให้ใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นำกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ บังคับแก่คดีดังกล่าวต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด” ซึ่งหมายความว่ามิให้นำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับแก่คดีนี้ เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ใช้บังคับ (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2560 เป็นต้นไป) อย่างไรก็ตามเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 6 – 7/2561 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ในส่วนที่ห้ามมิให้นำมาตรา 15 วรรคสาม มาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาใช้บังคับแก่คดีที่ยังไม่ถึงที่สุด เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 29 วรรคสอง ตามประกาศสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 104 ก ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ดังนั้น เมื่อคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจนำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.อ. มาตรา 3 จึงสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8929/2561

การที่จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวนหนึ่งที่บริเวณลานจอดรถ และนำไปตรวจค้นยึดได้ที่ในห้องพักอีกจำนวนหนึ่งเป็นการที่เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่พักพบของกลางตามปกติในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดลักษณะนี้อยู่แล้ว ไม่ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในอันที่จะให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8640/2561

คดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษใหม่ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) โดยอ้าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาตรา 15 วรรคสาม (เดิม) คำร้องของจำเลยจึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และคดีถึงที่สุดก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ดังนี้ คดีของจำเลยจึงเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “…คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด” และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้” ดังนี้ เมื่อจำเลยยื่นฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2561

การร่วมกระทำความผิดในลักษณะตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 จะต้องเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันซึ่งต้องพิจารณาทั้งในส่วนการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ หมายถึงต้องร่วมกระทำผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งทุกคนที่กระทำจะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้นที่เป็นผู้เสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ร่วมเสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 เพิ่งจะเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในลักษณะของตัวการ และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 นั้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้หรือขอให้เงินสินบนแก่เจ้าพนักงานตำรวจแล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจในภายหลังจึงไม่เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะการเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 จะต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วยการปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้พ้นจากการจับกุม เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดแยกได้ต่างหากจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากคำฟ้องที่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงานก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานแล้ว เพราะในการกระทำนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันกระทำหรือต่างกระทำความผิดเพียงลำพัง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนก็ย่อมถูกลงโทษ เป็นแต่จะลงโทษได้เต็มคำขอของโจทก์หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณานั้น ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า “ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น… (3) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการถูกจับกุม” และมาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติต่อไปว่า “ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้” แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ต้องการลงโทษผู้ที่จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินหรือที่ประชุมหรือที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยตรง โดยผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ้นจากการถูกจับกุม การจัดหาหรือให้เงินตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) นี้จะต้องเป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น และหากเป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนเพื่อช่วยให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลก็มีอำนาจที่จะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาหรือให้เงินสินบนแก่เจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกจากการถูกจับกุม มิใช่เป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7998/2561

แม้ฟังได้ว่าจำเลยกับพวกในสาธารณรัฐคอสตาริการ่วมกันกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำในการนำโคคาอีนเข้ามาในประเทศไทย โดยส่งพัสดุภัณฑ์ทางไปรษณีย์อันเป็นการกระทำในขั้นตอนสุดท้ายแล้วก็ตาม แต่โคคาอีนดังกล่าวถูกตรวจยึดไว้ได้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก่อน ผลจากการกระทำของจำเลยกับพวกถือว่าสิ้นสุดลงแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสำเร็จสมบูรณ์ในประเทศไทยตามเจตนาของจำเลยกับพวก กรณีเป็นการลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล จึงเป็นการพยายามกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 80 เท่านั้น การที่ต่อมามีการนำโคคาอีนจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาในประเทศไทยเป็นเรื่องภายหลังที่พบการกระทำผิดและตรวจยึดโคคาอีนดังกล่าวได้แล้ว จึงมีการร่วมมือกันระหว่างทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศฝ่ายประเทศสหรัฐอเมริกาและฝ่ายประเทศไทยเพื่อสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้ร่วมกระทำผิดที่อยู่ในประเทศไทยต่อไป ไม่ได้เป็นผลลำพังจากการกระทำของจำเลยกับพวก เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังกล่าวการกระทำในส่วนนี้เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดเท่านั้น แต่ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 ที่โจทก์ฟ้องขอมาด้วยบัญญัติว่า “ผู้ใดพยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ” จึงเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จแล้ว สำหรับฐานร่วมกันพยายามนำโคคาอีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันมีโคคาอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันพยายามนำโคคาอีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตาม ป.อ. มาตรา 90 ส่วนที่จำเลยขอให้ยกฟ้องมาในคำแก้ฎีกานั้นไม่อาจทำได้โดยไม่ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกาแล้วได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา จึงวินิจฉัยให้ไม่ได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments