Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาฎีกา เอาผิดคดีโกงแชร์ปล่อยดอกเบี้ยเกินอัตรา

รวมคำพิพากษาฎีกา เอาผิดคดีโกงแชร์ปล่อยดอกเบี้ยเกินอัตรา

10472

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2901/2547

พฤติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันประกอบกิจการในชื่อบริษัท ว. จำกัด ประกาศโฆษณาต่อประชาชนทั่วไปรับสมัครสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ป และเรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยรู้อยู่แล้วว่าบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด อันจะมีผลประโยชน์มาปันให้ให้แก่สมาชิกได้ตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิก จึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือเงินค่าสมัครสมาชิกรายละ 3,000 บาท จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม อันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยมีเงื่อนไขในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะแก่ผู้เป็นสมาชิกว่า หากสมาชิกผู้ใดหาสมาชิกใหม่มาสมัครได้ 6 คน จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินดาวน์รถจักรยานยนต์จำนวน 6,000 บาท ทั้งจะได้รับเงินตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่รายละร้อยละ 25 ของเงินค่าสมัคร และหากสมาชิกใหม่หาสมาชิกมาสมัครได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกเดิมก็ยังจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจำนวนลดหลั่นไปตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกนั้น เป็นการประกอบกิจการโดยวิธีชักจูงให้ผู้อื่นส่งเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ตน และให้ผู้นั้นชักจูงผู้อื่นตามวิธีการที่กำหนด และแสดงให้ผู้ถูกชักจูงเข้าใจว่าถ้าได้ปฏิบัติตามจนมีบุคคลอื่นอีกหลายคนเข้าร่วมต่อ ๆ ไปจนครบวงจรแล้วผู้ถูกชักจูงจะได้รับกำไรมากกว่าเงินหรือประโยชน์ที่ผู้นั้นได้ส่งไว้ดังที่บางคนเรียกกันว่าแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเมื่อคำนวณตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกแล้ว จะเห็นได้ว่าหากผู้เป็นสมาชิกปฏิบัติตามเงื่อนไขสามารถชักจูงบุคคลอื่นมาเข้าร่วมได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกรายต้น ๆ จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้หลายเท่า แต่หากการดำเนินการมิได้เป็นไปตามคำชักจูงก็จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้หลงเชื่อมาสมัครรายหลัง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกและผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่สมาชิกในเงื่อนไขตามตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกดังกล่าว ต้องตามความหมายของบทนิยามคำว่า “กู้ยืมเงิน” และ “ผลประโยชน์ตอบแทน” ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 3 และเมื่อมีประชาชนหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามที่จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณามีจำนวนมากกว่าตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยมีจำนวนรวม 394 คนตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหาย วันเวลาและจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์

แม้จำเลยที่ 1 จะประกาศโฆษณาเพียงครั้งเดียวในคราวเดียว แต่ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังยุติว่าในระหว่างวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนั้น มีผู้เสียหายซึ่งหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามประกาศโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีจำนวน 394 คน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกจากผู้เสียหายจำนวนดังกล่าวรายละ 3,000 คน ไปโดยทุจริต ซึ่งความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละรายเป็นการกระทำที่แยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 394 กระทง ศาลย่อมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ตาม ป.อ. มาตรา 91

จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 มีโทษตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีรวม 394 กระทง เป็นกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินยี่สิบปีตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงไม่อาจลงโทษให้เบาลงอีกได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2561

การชักชวนให้บุคคลทั่วไปหรืออย่างน้อยตั้งแต่สิบคนขึ้นไปมาทำการกู้ยืมเงินกันโดยการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน คือการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วๆไป ไม่จำกัดว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่างๆ จึงไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราวๆไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองกับพวกแสดงข้อความหลอกลวงให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองกับพวกก็ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยที่ 2 จะอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 1 และ พ. หรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10330/2557

แม้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้เพียงว่าจำเลยพูดหลอกลวงชักชวน ป. ผู้เสียหายที่ 5 เพียงคนเดียวให้เข้าร่วมลงทุน ส่วนผู้เสียหายอื่นถูกผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นพูดหลอกลวงชักชวนให้เข้าร่วมลงทุน แต่ความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฉ้อโกงประชาชนองค์ประกอบสำคัญคือ มีผู้ร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนองค์ประกอบที่สำคัญคือ ผู้กระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันโฆษณาหรือประกาศต่อประชาชนหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปในการกู้ยืมเงิน ผู้ร่วมกระทำความผิดอาจกระทำการในลักษณะแบ่งงานกันทำ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเอง เพียงจำเลยกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายที่ 5 โดยแนะนำตัวเองว่าเป็นผู้ช่วยผู้บริหารและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน พาผู้เสียหายที่ 5 เดินชมสถานที่ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 30 คน นั่งประจำเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่องจนผู้เสียหายที่ 5 หลงเชื่อและมอบเงินให้แก่จำเลย ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ถึง 4 และที่ 6 ถึงที่ 11 ก็ถูกพวกจำเลยหลอกลวงในทำนองเดียวกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกันหลอกลวงประชาชนและกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยแบ่งงานกันทำกับพวกจำเลย เป็นผลให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกตามฟ้อง จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนทั้งสิบเอ็ดกระทงตามฟ้อง

อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดให้จำเลยต้องชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยต้องคืนแก่ผู้เสียหายที่ 5 ด้วยนั้นชอบแล้ว เพราะเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้อง เมื่อจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิด จำเลยต้องชดใช้ดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของต้นเงินแก่ผู้เสียหายทุกคนด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3021/2557

การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เป็นการกระทำโดยหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและได้เงินหรือทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวง โดยผู้กระทำความผิดมีเจตนาให้เกิดผลต่อผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้ที่ถูกหลอกลวงแต่ละคน ส่วนเหตุการณ์ในภายหลังที่ผู้กระทำความผิดได้เงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนอีกหลายคราว ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงในครั้งแรก หาใช่เป็นการกระทำใหม่อีกกรรมหนึ่งไม่

ผู้เสียหายทั้งสิบได้นำนากหญ้าจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไปเลี้ยงตามคำแนะนำเชิญชวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก โดยจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก คู่ละ 20,000 บาท แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 นำนากหญ้าไปเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกและจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไม่ได้กล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ การได้รับเงินในครั้งต่อมาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากการกระทำครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินไปจากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 แม้จะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน รวม 10 กรรม ตามจำนวนผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4562/2555

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันกับอีก 2 คดี โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4249/2546 ของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่โจทก์ร่วมที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีนี้ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 7 ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันสามสำนวนและโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายทั้งสามสำนวนก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาสำนวนคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 โจทก์ร่วมที่ 3 จึงไม่ใช่โจทก์ร่วมในสำนวนคดีนี้ โจทก์ร่วมที่ 3 จะอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 7 ไม่ได้ ส่วนการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีนี้กับอีก 2 คดี ดังกล่าวรวมกัน เป็นอำนาจของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 25 ซึ่งเป็นคนละเรื่องแยกต่างหากจากกัน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8870/2553

พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อนำเงินมาให้จำเลยทั้งสองกู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ทั้งการกระทำดังกล่าวโดยสภาพเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนจึงอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ การกระทำที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากองค์ประกอบความผิดที่ต้องกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของผู้กระทำเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมทั้งสิบเจ็ด ผู้เสียหายที่ 11 และที่ 14 คนละวันเวลาและในสถานที่แตกต่างกัน โดยเจตนาให้เกิดผลต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองแต่ละครั้งถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6364/2551

พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืนเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้น เพียงแต่จำเลยแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยกู้ยืม ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยไปชักชวนผู้เสียหายแต่ละคน คนละหลายครั้ง ดังนั้น การที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยรับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย คือ 14 กรรม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยหลายกรรม ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขเรื่องโทษได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5016/2547

ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชนชนฯ มาตรา 10 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องผู้กู้ยืมเงินที่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 4 หรือ 5 ของกฎหมายดังกล่าวเป็นบุคคลล้มละลายได้ เป็นการให้อำนาจฟ้องได้ในขณะที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดเท่านั้น ไม่ต้องรอให้ฟ้องคดีอาญาเป็นจำเลยต่อศาลก่อนและไม่ต้องรอให้ศาลพิพากษาถึงที่สุดก่อนว่าผู้กู้ยืมกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาก็ได้ เพราะความผิดตามกฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ รัฐต้องการให้กฎหมายมีสภาพบังคับโดยเร็ว เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่ร้ายแรงมากขึ้นจากความเนิ่นช้าในการบังคับใช้กฎหมายรัฐจึงเลือกใช้ช่องทางให้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 วรรคสองของกฎหมายดังกล่าว เพราะกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายนั้นจะต้องดำเนินการเป็นการด่วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 13 และในมาตรา 10 วรรคสองของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติต่อไปว่า ในการพิจารณาคดีล้มละลาย ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงตามวรรคหนึ่งให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด มิใช่ต้องได้ความจริงว่าลูกหนี้กระทำผิดตามคำพิพากษาถึงที่สุด คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสิบเด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ใช้อำนาจเข้าจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลยทั้งสิบต่อมาตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ จนศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบล้มละลายและเข้าสู่ขั้นตอนการจำหน่ายทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 123 แล้ว ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้และ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มีเจตนารมณ์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายจนสิ้นสุด ไม่อาจขอทุเลาการบังคับอย่างคดีแพ่งธรรมดาและไม่อาจขอให้งดหรือระงับการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดและอายัดไว้ได้

 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

 

Facebook Comments