คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2561
แม้จะฟังได้ว่าข้อกล่าวหาของโจทก์เป็นเหตุหย่าตามกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้ให้อภัยในการกระทำของจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ย่อมหมดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518
โจทก์นำ จ.มาอยู่ในบ้านโจทก์และอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาจนมีบุตรด้วยกัน 1 คน โดยโจทก์ให้ใช้นามสกุลของโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภรรยา เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ให้อภัยในการกระทำของโจทก์ จำเลยจึงมีเหตุฟ้องหย่าโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา1516 (1)
เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียว ทั้งจำเลยไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรโดยโจทก์เคยให้เงินจำเลยเป็นค่าใช้จ่าย การที่โจทก์หย่ากับจำเลยทำให้จำเลยยากจนลง จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2561
การที่โจทก์หายไปจากบ้านทิ้งจำเลยกับบุตรสองคนอยู่ตามลำพังนาน 3 เดือน ไม่สามารถติดต่อได้ จำเลยเป็นฝ่ายออกติดตามจนพบว่าโจทก์ไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล ส. จังหวัดภูเก็ต จำเลยเดินทางไปอยู่กับโจทก์ 3 เดือนต่อครั้ง โดยโจทก์จำเลยยังมีเพศสัมพันธ์กัน แม้โจทก์อ้างว่าการมีเพศสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามปกติในความเป็นสามีภริยา แต่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงย่อมต้องมีความยินยอมพร้อมใจ โดยเฉพาะฝ่ายชายหากไม่ยินยอมพร้อมใจ ย่อมยากที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ จึงหาใช่โจทก์จำเลยไม่มีเพศสัมพันธ์กันจนทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินควรและจนเป็นเหตุหย่าไม่ การที่จำเลยเดินทางไปตามหาโจทก์ที่จังหวัดภูเก็ต พบคลินิกแต่ไม่พบตัวโจทก์ พบแต่ ก. ทำงานในคลินิกและมีห้องนอนอยู่ติดกับห้องนอนโจทก์ในคลินิก แล้วจำเลยก็ไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้อีก เมื่อทราบว่าโจทก์มาเรียนต่อเฉพาะทางที่กรุงเทพ จำเลยจึงไปดักพบ โจทก์ไม่ยอมพูดด้วย จำเลยต้องเข้าไปนั่งข้างโจทก์ในห้องเรียน การที่ทันตแพทย์ที่ร่วมเรียนด้วยและอาจารย์ที่สอนพูดว่า โจทก์มีเมียมาคุม น่าจะเป็นคำพูดล้อเล่น ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำใด ๆ ทำให้โจทก์ต้องอับอาย การที่สามีภริยาปรากฏตัวด้วยกันเป็นครั้งคราวย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งจำเลยกลับถูก ก. ที่มานั่งเฝ้าโจทก์ใช้กำลังทำร้ายและตะโกนด่าต่อหน้าบุคคลอื่น เมื่อโจทก์ขอร้องจำเลยก็ใจอ่อนไม่ดำเนินคดี การกระทำของจำเลยจึงหาใช่จำเลยทำให้โจทก์เสียหายเดือดร้อนเกินควรและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่ จึงไม่เป็นเหตุหย่า
สามีภริยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง เมื่อฝ่ายภริยาคือจำเลยไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้ จำเลยย่อมเป็นฝ่ายได้รับการอุปการะเลี้ยงดู แต่เมื่อไม่ได้รับ จึงมีสิทธิเรียกจากฝ่ายสามีคือโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38
ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลหรือค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเลี้ยงชีพตนเองจากโจทก์ การที่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นฟ้องแย้ง 200 บาท และศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งจำเลยให้เป็นพับมานั้น จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 157/2561
การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์ในเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมต้องมีความรักและหึงหวงสามีอันเป็นสิทธิของจำเลยย่อมกระทำได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ถูกดำเนินการทางวินัยแต่อย่างใด การที่จำเลยฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก ส. เป็นอีกคดีหนึ่งจนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ ส. ชำระค่าทดแทนแก่จำเลย 500,000 บาท ก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำเพื่อรักษาสิทธิในครอบครัวเพื่อไม่ให้ ส. เข้ามาเกี่ยวข้องกับโจทก์ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอันจะทำให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัว แม้จำเลยจะเป็นผู้ออกจากบ้านพักโจทก์ไปก็เพราะโจทก์เปลี่ยนกุญแจบ้านทำให้จำเลยกลับเข้าไปในบ้านไม่ได้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ ทั้งพฤติกรรมของโจทก์ก็เป็นฝ่ายไปยกย่องหญิงอื่นคือ ส. เป็นภริยา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่าหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)
ส่วนที่จำเลยเพียงแต่ใช้นิ้วจิ้มที่หน้าอกและยันที่หน้าอกของ ท. มารดาของโจทก์ 1 ครั้ง การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้กิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่สมควรเยี่ยงบุตรสะใภ้พึงปฏิบัติต่อมารดาของสามีเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจบุพการีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8803/2559
จำเลยใช้ถ้อยคำพูดกับโจทก์ว่า “กูเบื่อผู้ชายแก่ ๆ ควยเล็ก เซ็กส์ห่วย หัวล้าน ตัวเตี้ย ๆ หน้าเหี้ยใจยังเหี้ย หัวขโมยแบบมึงเต็มที” และ “กูมีความพร้อมทุกอย่าง สาวสวยเหมาะสมกับหนุ่ม ๆ แข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ พร้อมเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรยาก กูแต่งงานกับมึงเพื่อประชด อ. เจ็บ ก็แค่นั้น กูไม่ได้พิศวาสมึงเลย…” และส่งข้อความทางโทรศัพท์ว่า “เดี๋ยวกูจะไปนอนให้คนอื่นเอา” เป็นถ้อยคำหยาบคาย อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนอันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และ (6) ส่วนการที่โจทก์ไม่กลับบ้านนานนับสัปดาห์ ไม่ยอมหลับนอนกับจำเลย ออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมาอยู่ด้วยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ไม่อุปการะเลี้ยงดู จึงเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. 1516 (6) เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้หย่ากัน โจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คู่ความจึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้อีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247
เงินฝากในบัญชีธนาคารและสลากออมสิน นั้น โจทก์นำสืบว่า ระหว่างสมรสจำเลยนำเงินส่วนที่โจทก์มอบให้ไปเปิดบัญชีเงินฝากและซื้อสลากออมสิน ทางนำสืบจำเลยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินดังกล่าวที่อ้างว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยได้มาอย่างไร จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากโจทก์ที่ให้เงินมาในระหว่างเป็นสามีภริยา จึงเป็นการได้มาภายหลังจากที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ กรณีต้องถือตามข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคท้ายว่า เงินฝากในบัญชีธนาคาร และสลากออมสินเป็นสินสมรส ชายและหญิงพึงได้ส่วนเท่ากัน โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรสดังกล่าวกึ่งหนึ่งมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันฟ้องหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) และ 1533
รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า โจทก์ซื้อมาใส่ชื่อจำเลยในใบคู่มือจดทะเบียน ก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ จำเลยนำสืบประกอบภาพในสื่อสังคมออนไลน์ (facebook) ที่ลงภาพเพื่อขอบคุณโจทก์ มีของใช้ส่วนตัวของจำเลยวางในรถ มีสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยแปะกระจกรถ โจทก์ได้แสดงความเห็นในเชิงหยอกล้อการขับรถของจำเลย และโจทก์เองก็มีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว ถือว่าโจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา เป็นสินส่วนตัวจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) โจทก์ต้องคืนรถทั้งสองคันดังกล่าวที่โจทก์เอาไปให้จำเลย
เดิมจำเลยได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์เดือนละ 100,000 บาท โจทก์รับว่าไม่ได้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยก่อนฟ้องเป็นเวลา 4 เดือน เมื่อสามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 และจำเลยไม่มีหลักฐานมายืนยันรายได้ก่อนสมรสกับโจทก์ ที่ศาลล่างกำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยเดือนละ 50,000 บาท เหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยขอค่าอุปการะเลี้ยงดูภายหลังจากหย่าไปจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่นั้น เนื่องจากการหย่าเป็นความผิดของทั้งสองฝ่าย ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูส่วนนี้ให้
จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์บุกรุกเข้าไปในบ้านใช้สเปรย์ฉีดพ่นทรัพย์สินได้รับความเสียหายนั้น เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่ได้อาศัยเหตุแห่งการหย่าและการเรียกค่าทดแทนตามฟ้องเดิมเป็นมูลหนี้ แต่เป็นการกล่าวอ้างการกระทำอีกตอนหนึ่งของโจทก์อันเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างจากฟ้องเดิม
ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องแย้งในข้อนี้มานั้นชอบแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะฟ้องใหม่เพื่อเรียกค่าซ่อมแซมทรัพย์สินดังกล่าวภายในอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8455/2559
โจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน จำเลยเป็นคนสัญชาติไทย จดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน โดยในคดีนี้โจทก์นำสืบเพียงว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อติดตามจำเลยมาต่อสู้คดี โดยส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบัญญัติให้คู่สามีภริยาหย่ากันได้ 2 กรณีคือ 1. กรณีหย่าไม่มีผู้คัดค้าน หมายถึง คู่สมรสยินยอมที่จะหย่ากัน 2. กรณีหย่าโดยมีผู้คัดค้าน ส่วนคำพิพากษาศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียก็ไม่ได้ระบุถึงเหตุแห่งการหย่าไว้ว่าเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใด หรือเพราะเหตุใดระบุแต่เพียงว่าจำเลยขาดนัดแล้วพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยเท่านั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่ากฎหมายบัญญัติเหตุหย่าไว้ว่าอย่างไร นอกจากนี้พฤติการณ์ของโจทก์ที่ได้ยื่นฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นก่อน แต่ยังไม่ทันที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี โจทก์กลับไปแต่งงานกับหญิงอื่นแล้วอาศัยคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมาบังคับจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธินำคดีไปฟ้องยังศาลต่างประเทศโดยไม่สุจริตและยังขัดกับหลักเกณฑ์การยอมรับและบังคับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย กล่าวคือโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด แต่โจทก์กลับส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุให้ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยขาดนัด การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของโจทก์จึงไม่ได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรมและโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าเหตุแห่งการฟ้องหย่าไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของกฎหมายภายในของประเทศสยาม ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามมาใช้บังคับแก่คดี ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่ามีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 หรือไม่ เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้จงใจทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี และฎีกาของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างวินิจฉัยมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) คำพิพากษาศาลล่างชอบแล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เพราะการแบ่งสินสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการหย่าแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และ 1533 ส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ซึ่งต้องบังคับตามกฎหมายสัญชาติของโจทก์ แต่โจทก์มิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นจนเป็นที่พอใจแก่ศาล จึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามบังคับ ที่ศาลล่างพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยโดยใช้ ป.พ.พ. มาตรา 1461 และ 1598/38 จึงชอบแล้ว
โจทก์บันทึกข้อความหลายตอนลงในสมุดบันทึกที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความรักฉันชู้สาวกับชายอื่น ย่อมทำให้ครอบครัวแตกแยกขาดความปกติสุข อีกฝ่ายหนึ่งต้องมีความทุกข์ทรมาน ถือว่าได้รับความเดือดร้อนเกินควร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6)
ในคดีแพ่งผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาให้ชัดแจ้งเท่านั้น ส่วนการปรับบทกฎหมายแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุหย่าตามป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แต่เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ความจากการสืบของทั้งสองฝ่ายถือเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (6) ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแห่งคดีได้
จำเลยที่ 1 มีเจตนาโอนที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ อันเป็นสัญญาที่สมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้ ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามมาตรา 1471 (3) ไม่ใช่สินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม แม้ที่ดินเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ศาลจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปกว่าคำขอของโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
แม้โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้าง แต่การร่วมประเวณีต้องเกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ไม่อาจบังคับได้ หากขืนใจถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276
การที่จำเลยเรียกบุตรผู้เยาว์มาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีเพื่อให้บุตรผู้เยาว์ไปพักผ่อน เช่นนี้จะถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีไม่ได้ และการที่โจทก์มดลูกอักเสบจากการร่วมประเวณีของจำเลย จำเลยทราบแต่ไม่หยุดร่วมประเวณีกับโจทก์ จนโจทก์ต้องหนีออกจากบ้าน พฤติกรรมของจำเลยถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และยังถือเป็นพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13552/2558
บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852 แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า “ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง” แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13082/2558
โจทก์ประกอบอาชีพครู ต้องให้การศึกษาอบรมลูกศิษย์และได้รับการยกย่องว่าอาชีพดังกล่าวเป็นแม่พิมพ์ของชาติ แต่โจทก์กลับต้องอดทนต่อความประพฤติของจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวที่กระทำต่อตนซึ่งเป็นภริยาและยังกระทำต่อบุตรสาวจำเลยเองอีกด้วย แม้จำเลยจะไม่มีความอ่อนหวานหรือไม่รู้จักการให้เกียรติภริยาของตนก็ตาม แต่จำเลยก็ควรรู้จักการทะนุถนอมน้ำใจของอีกฝ่ายเยี่ยงสามีที่ดีทั่วไปอันจะช่วยประคับประคองชีวิตสมรสให้ราบรื่น มิใช่ด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคายอันเป็นการเหยียดหยามโจทก์ การที่โจทก์อดทนอยู่กับจำเลยอีกหลายปีนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ให้อภัยตามที่จำเลยเข้าใจเอาเอง เพราะการให้อภัยเป็นเรื่องที่ผู้กระทำผิดสำนึกผิดแล้วอีกฝ่ายไม่เอาโทษ แต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ให้โอกาสจำเลยปรับปรุงตนเองเป็นเวลาหลายปี แต่จำเลยหาได้สำนึกและกลับตนไม่ จนกระทั่งโจทก์และบุตรสาวไม่สามารถอดทนอยู่กับจำเลยได้ จึงพากันย้ายหนีจำเลยไปอาศัยอยู่กับมารดาโจทก์ ดังนั้น พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นภริยาได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (2) (ค)
เดิมโจทก์ฟ้องว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะเพราะจดทะเบียนสมรสซ้อน จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเสนอคำฟ้องฉบับใหม่อ้างว่าโจทก์สมรสกับจำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลจึงขอบอกล้างโมฆียะกรรมเท่ากับว่าโจทก์สละหรือยกเลิกข้อหาในฟ้องเดิมและแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหาใหม่ตามคำฟ้องฉบับใหม่แล้ว ข้อหาตามคำฟ้องเดิมจึงเป็นอันยุติไป การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง
โจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในขณะนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นอันสิ้นผลไปทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่สถานะเดิมหมายถึงการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิและได้รับการคุ้มครองในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมเป็นภริยาจนมีบุตรด้วยกันจนถึงวันที่มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นเหตุต่อเนื่องที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยมิได้หยุดการกระทำหรือหมดสิ้นไป จำเลยยังคงมีสิทธิฟ้องหย่าโจทก์ได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง
โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ตั้งแต่ปลายปี 2538 จนถึงวันฟ้องและฟ้องแย้งเป็นเวลาประมาณ 16 ปี โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความพยายามที่จะกลับไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอีก คงมีแต่การฟ้องคดีกันทั้งสองฝ่าย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินกว่า 3 ปี แม้คดีจะมีเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ประกอบด้วย แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์มาตรา 1526 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th