Home คดีอาญา เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง ตัวแทนหรือแม่ข่าย แชร์ลูกโซ่มีความผิดหรือไม่

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง ตัวแทนหรือแม่ข่าย แชร์ลูกโซ่มีความผิดหรือไม่

9172

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง ตัวแทนหรือแม่ข่าย แชร์ลูกโซ่มีความผิดหรือไม่

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 343
  • พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ม. 4, 5, 9, 12

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2901/2547

{คดีศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องว่า}

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 9, 12 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินจำนวน 1,135,700 บาท แก่ผู้เสียหายตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหายท้ายฟ้องและริบของกลาง

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

{คำตัดสินคดีศาลชั้นต้น }

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก, 83 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 12 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 394 กระทง ซึ่งแต่ละกระทงดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 394 กระทง เป็นจำคุก 1,970 ปี แต่ความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 1,135,700 บาท แก่ผู้เสียหายตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหายท้ายฟ้อง ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4

{คดีชั้นอุทธรณ์}

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

{คดีชั้นฎีกา}

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากัน เมื่อระหว่างวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการใช้ชื่อว่าบริษัทไวท์โฮปกรุ๊ป จำกัด โดยประกาศโฆษณารับสมัครสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ปต่อประชาชนทั่วไปผู้สมัครต้องเสียเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกคนละ 3,000 บาท หากผู้เป็นสมาชิกคนใดหาสมาชิกใหม่มาสมัครได้ครบ 6 คน จะได้รับเงินค่าดาวน์รถจักรยานยนต์จำนวน 6,000 บาท และจะได้รับเงินตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่รายละร้อยละ 25 ของเงินค่าสมัคร และหากสมาชิกใหม่หาสมาชิกมาได้อีก สมาชิกเดิมก็จะได้รับเงินตอบแทนลดหลั่นกันไป นอกจากนี้สมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปมีสิทธิให้ทางบริษัทสั่งซื้อสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้ามาจำหน่ายให้แก่สมาชิกในราคาต้นทุน และสามารถนำบัตรสมาชิกไปใช้บริการซื้อสินค้าจากร้านค้าจำนวน 8 แห่ง ในท้องที่อำเภอชุมแพจะได้รับส่วนลดในราคาพิเศษตามตารางใบประกาศผลประโยชน์แห่งสมาชิกและใบประกาศโฆษณา เอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.5

ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 เจ้าพนักงานตำรวจได้เข้าตรวจค้นจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมยึดได้เอกสารที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวนมากเป็นของกลาง ปรากฏตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย ป.จ.1 นับถึงวันที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกจับ มีผู้สมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปจำนวน 394 คน รวมเป็นเงินที่ได้รับไปทั้งสิ้น 1,135,700 บาท ปรากฏตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหาย วันเวลาและจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไปจากผู้เสียหายเอกสารหมาย ป.จ.2 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางบัวไข วงค์เหม นางจิตรสมร อุ่นใจ นางปัญญา วินไธสง นายวิหาร เจิมขุนทด นางบุญเทียม สงค์คลัง นางซิน ถิ่นฐาน นายสรวง อุปกา นายทองศรี อุทัยสา นางปราณี ปัญญา นายสมบูรณ์ โชคคูณ นายหนูเทียน เชื้อบุญมา นายบุญมี หัสดาลอย นายสม สายทอง นางเต้า แสนสมบัติ นายเขียน เถื่อนช้าง นางวราวรรณ ชาวชุมนุม นายบุญบาล พุทธจันทร์ นางอำนวย ศรีสุทอ นายบุญชู ชำนาญ นายสุวิทย์ พันธ์ศรี นายเคน โคตะรุด นายสมัย คมสันต์ และนายภิรมย์ หงส์วิไล ผู้เสียหาย เป็นพยานเบิกความฟังได้ว่า ผู้เสียหายดังกล่าวได้สมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์กรุ๊ป ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในท้องที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่การเงิน เสียค่าสมัครเป็นสมาชิกคนละ 3,000 บาท และรับแจ้งว่าหากผู้สมัครคนใดชักจูงผู้อื่นมาสมัครสมาชิกใหม่ได้ครบ 6 คน ทางบริษัทจะออกเงินค่าดาวน์รถจักรยานยนต์ให้จำนวน 6,000 บาท หรือให้สร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท และไม่ว่าผู้สมัครเดิมจะหาสมาชิกใหม่ได้กี่คนยังจะได้รับเงินตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่รายละร้อยละ 25 ของเงินค่าสมัคร และหากสมาชิกใหม่หาสมาชิกได้เพิ่ม สมาชิกเดิมก็จะยังได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นจำนวนเงินลดหลั่นกันไป รายละเอียดปรากฏตามใบประกาศโฆษณาตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกเอกสารหมาย จ.1 โดยเมื่อผู้สมัครชำระค่าสมัครเป็นสมาชิกคนละ 3,000 บาท แล้ว จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้รับเงินจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินให้เป็นหลักฐาน จากนั้นจะส่งมอบบัตรสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ปให้แก่ผู้สมัครภายหลัง ซึ่งผู้เสียหายที่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตามเงื่อนไขที่ประกาศมีนางบัวไข วงค์เหม นางจิตรสมร อุ่นใจ และนายบุญมี หัสดาลอย โดยนางบัวไขชักชวนบุคคลอื่นมาสมัครเป็นสมาชิกได้ 6 คน ได้รับเงินจำนวน 6,000 บาท จากทางบริษัทไปชำระค่าดาวน์รถจักรยานยนต์ และได้รับเช็คจ่ายเงินค่าตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่จำนวน 5,690 บาท แต่ยังไม่ได้นำไปเรียกเก็บเงินเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกจับกุมเสียก่อน นางจิตรสมรชักชวนบุคคลอื่นมาสมัครเป็นสมาชิกได้ครบ 6 คน ได้รับเงินจำนวน 6,000 บาท และได้รับเงินค่าตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่จำนวน 4,500 บาท ด้วย สำหรับนายบุญมีมีตำแหน่งเป็นกำนันตำบลบ้านใหม่ อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ได้ไปสมัครตามคำชักจูงของนายประหยัด วุฒิพันธ์ สารวัตรกำนัน

จากนั้นนายบุญมีได้ชักชวนบุคคลอื่นไปสมัครเป็นสมาชิกกับทางบริษัทครบ 6 คน จำเลยที่ 1 ได้พาไปเช่าซื้อรถจักรยานยนต์โดยชำระเงินดาวน์ให้ 6,000 บาท ต่อมานายบุญมีพาคนไปสมัครเป็นสมาชิกอีก 6 คน ครั้งนี้ได้รับสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท เป็นสิ่งตอบแทน และจำเลยที่ 1 เห็นว่า นายบุญมีกับนายประหยัดสามารถหาสมาชิกได้เร็ว จึงเสนอให้เป็นตัวแทนของบริษัทประจำหมู่บ้านใหม่ จำเลยที่ 1 จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่างหากโดยจำเลยที่ 1 ได้มอบเอกสารและใบเสร็จรับเงินจำนวนหนึ่งไว้ ผู้สมัครจะสมัครเป็นสมาชิกให้สมัครกับนายบุญมีและนายประหยัดได้เลย ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปสมัครที่บริษัทซึ่งมีชาวบ้านมาสมัครเป็นสมาชิกกับนายบุญมี 50 ถึง 60 คน หลังจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกจับกุมนายบุญมีต้องจ่ายเงินค่าสมัครสมาชิกคืนให้แก่ชาวบ้านเป็นเงินรวม 100,000 บาทเศษ และ

โจทก์มีนายบุญมี โชครวมชัย เจ้าของห้างทองโชครวมชัย นายไพบูรณ์ เขตจัตุรัส ผู้จัดการโรงพิมพ์วิทยาการพิมพ์ นายสวัสดิ์ เร่งศิริวัฒนกุล เจ้าของร้านทองชายสากล นางสุจินดา มณีรอด เจ้าของร้านเมืองเฟอร์นิเจอร์ กับนางลออ มั่นคง เจ้าของร้านเสริมสวนแคช จำนวน 5 ใน 8 ตามใบประกาศบริการทองสำหรับบัตรสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ปเอกสารหมาย จ.3 เป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ความจริงแม้จำเลยที่ 1 จะไม่มาติดต่อขอส่วนลดให้แก่ผู้ถือบัตรสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ป ทางร้านค้าก็มีส่วนลดให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการอยู่แล้ว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงหรือมีนิติสัมพันธ์กับเจ้าของร้านดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด นอกจากนี้โจทก์มีร้อยตำรวจเอกสุนันท์ หรรษา กับพันตำรวจโทประจักษ์จินต์ผู้ร่วมจับกุม และพันตำรวจโทสุทธิชัย บุนนาค พนักงานสอบสวนเป็นพยานประกอบ โดยร้อยตำรวจเอกสุนันท์และพันตำรวจโทประจักษ์จินต์เบิกความฟังได้ว่า ในการตรวจค้นสำนักงานที่ทำการของจำเลยที่ 1 นอกจากยึดได้เอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 กับพวกแล้วไม่พบสินค้าหรือหลักฐานที่แสดงว่าบริษัทไวท์โฮปกรุ๊ป จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าใด ๆ แต่มีการปิดประกาศภาพถ่ายสมาชิกผู้ที่บริษัทดาวน์รถจักรยานยนต์ให้แล้วจำนวน 46 ภาพ แผ่นป้ายประกาศรายชื่อสมาชิกที่มีสิทธิรับเงินดาวน์รถจักรยานยนต์จำนวน 2 แผ่น เอกสารเสนอราคารถจักรยานยนต์จำนวน 2 แผ่น และแผ่นกระดาษโฆษณาจำนวน 1 แผ่น ปิดประกาศอยู่บริเวณผนังห้องของบริษัทตามบัญชีแนบท้ายบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.11 ส่วนพันตำรวจโทสุทธิชัยเบิกความฟังได้ว่า พยานได้ทำบัญชีของกลางคดีนี้ไว้ตามบัญชีของกลาง คดีอาญาเอกสารหมาย ป.จ.1 จากการสอบสวนพบว่ามีประชาชนหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ปจำนวน 394 คน เสียค่าสมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,135,700 บาท ตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหายและวันเวลาจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไปจากผู้เสียหายเอกสารหมาย ป.จ.2 ชั้นสอบสวนพยานได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย ป.จ.7 และ ป.จ.8 ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบรับว่า ได้ร่วมกันประกอบกิจการในชื่อบริษัทไวท์โฮปกรุ๊ป จำกัด มีการประกาศโฆษณาให้บริการสิทธิและผลประโยชน์แก่ผู้สมัครเป็นสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ป ตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกและใบประกาศโฆษณาเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.5 จริง ซึ่งผู้สมัครเป็นสมาชิกจะต้องเสียเงินคนละ 3,000 บาท จากนั้นสามารถนำบัตรสมาชิกไปใช้ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากร้านค้าที่จำเลยที่ 1 ติดต่อไว้จะได้รับส่วนลดและหากสมาชิกผู้ใดหาสมาชิกใหม่ได้จำนวน 6 คน จำเลยที่ 1 จะส่งเสริมให้เงินไปดาวน์รถจักรยานยนต์เป็นเงินจำนวน 6,000 บาท เพื่อประโยชน์ในการจะออกไปหาสมาชิกใหม่ต่อ ๆ ไปและยังจะได้รับค่าตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่อีกรายละร้อยละ 25 จากเงินค่าสมัคร โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าเพียงมีเจตนาจะให้สมาชิกหรือชาวบ้านทั่วไปได้ซื้อสินค้าในราคาถูกและมีอำนาจในการต่อรองราคา ส่วนจำเลยที่ 2 อ้างว่าได้ไปช่วยทำงานที่บริษัทตามแต่จำเลยที่ 1 จะใช้ เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาก่อน จึงเชื่อว่าได้เบิกความไปตามเหตุการณ์ที่รู้เห็นตามความจริง ทั้งในทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เจือสมกับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ การที่จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณาอ้างว่าสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปมีสิทธิให้ทางบริษัทสั่งซื้อสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดมาจำหน่ายให้แก่สมาชิกในราคาต้นทุน สมาชิกสามารถสั่งซื้อได้โดยไม่จำกัดจำนวนตลอดระยะเวลา 5 ปี และบริษัทสั่งมาจะลดราคาให้สมาชิกอีกร้อยละ 20 ตามใบประกาศบริการทองบัตรสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ป เอกสารหมาย จ.4 นั้น

เห็นได้ว่าเป็นโฆษณาที่เลื่อนลอยไม่มีผลจะปฏิบัติตามประกาศได้จริงและในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นจับกุมก็ไม่พบสินค้าหรือหลักฐานที่แสดงว่าทางบริษัทจำหน่ายหรือเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าใด ทั้งไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกคนใดได้ใช้บริการตามประกาศโฆษณาดังกล่าว และที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ติดต่อร้านค้าไว้จำนวน 8 แห่ง สำหรับให้ส่วนลดพิเศษแก่ผู้ถือบัตรสมาชิกตามใบประกาศบริการทองสำหรับบัตรสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ปเอกสารหมาย จ.3 นั้น ก็ไม่มีข้อผูกพันบังคับระหว่างร้านค้ากับจำเลยที่ 1 และโดยปกติร้านค้าก็จะมีส่วนลดให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการอยู่แล้ว ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่สมาชิกผู้ถือบัตรพิเศษแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ผู้เข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามประกาศโฆษณาดังกล่าวจะยินยอมสมัครใจเสียค่าสมัครคนละ 3,000 บาท เพื่อจะได้สิทธินำบัตรสมาชิกไปใช้บริการและใช้ซื้อสินค้าเพียงเพื่อจะได้รับส่วนลดตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง

ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงรับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณารับสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปและเรียกเก็บเงินจากผู้สมัครเป็นสมาชิกคนละ 3,000 บาท โดยมีผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้สมัครเป็นสมาชิกว่า หากผู้เป็นสมาชิกคนใดหาสมาชิกใหม่มาสมัครได้ 6 คน จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินค่าดาวน์รถจักรยานยนต์จากบริษัทจำนวน 6,000 บาท และจะได้รับเงินตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่รายละร้อยละ 25 ของเงินค่าสมัคร และหากสมาชิกใหม่หาสมาชิกใหม่มาสมัครได้อีกสมาชิกเดิมก็จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินมีจำนวนลดหลั่นกันไปตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ก็รับว่าทำหน้าที่เป็นผู้จัดการบริษัท จำเลยที่ 2 รับว่าทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่การเงินและได้ให้การสอดคล้องตรงตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย ป.จ.7 และ ป.จ.8 พฤติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันประกอบกิจการในชื่อบริษัทไวท์โฮปกรุ๊ป จำกัด ประกาศโฆษณาต่อประชาชนทั่วไปรับสมัครสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ป และเรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้มาสมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยรู้อยู่แล้วว่าบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะมีผลประโยชน์มาปันให้แก่สมาชิกได้ตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือเงินค่าสมัครสมาชิกรายละ 3,000 บาท จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยมีเงื่อนไขในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะแก่ผู้เป็นสมาชิกว่า หากสมาชิกผู้ใดหาสมาชิกใหม่มาสมัครได้ 6 คน จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินไปดาวน์รถจักรยานยนต์จำนวน 6,000 บาท ทั้งจะได้รับเงินตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่รายละร้อยละ 25 ของเงินค่าสมัคร และหากสมาชิกใหม่หาสมาชิกมาสมัครได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกเดิมก็ยังจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจำนวนลดหลั่นไปตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกเอกสารหมาย จ.1 นั้น เป็นการประกอบกิจการโดยวิธีชักจูงให้ผู้อื่นส่งเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ตน และให้ผู้นั้นชักจูงผู้อื่นตามวิธีการที่กำหนดและแสดงให้ผู้ถูกชักจูงเข้าใจว่าถ้าได้ปฏิบัติตามจนมีบุคคลอื่นอีกหลายคนเข้าร่วมต่อ ๆ ไปจนครบวงจรแล้วผู้ถูกชักจูงจะได้รับกำไรมากกว่าเงินหรือประโยชน์ที่ผู้นั้นได้ส่งไว้ดังที่บางคนเรียกกันว่าแชร์ลูกโซ่

ซึ่งเมื่อคำนวณตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกตามเอกสารหมาย จ.1 แล้ว จะเห็นได้ว่าหากผู้เป็นสมาชิกปฏิบัติตามเงื่อนไขสามารถชักจูงบุคคลอื่นมาเข้าร่วมได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกรายต้น ๆ จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้หลายเท่า แต่หากการดำเนินการมิได้เป็นไปตามคำชักจูงก็จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้หลงเชื่อมาสมัครรายหลัง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกและผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่สมาชิกในเงื่อนไขตามตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกดังกล่าวต้องตามความหมายของบทนิยามคำว่า “กู้ยืมเงิน” และ “ผลประโยชน์ตอบแทน” ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 พ.ศ.2534 มาตรา 3 และเมื่อมีประชาชนหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามที่จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณามีจำนวนมากกว่าตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โดยมีจำนวนรวม 394 คน ตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหาย วันเวลาและจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไปจากผู้เสียหายเอกสารหมาย ป.จ.2 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์ ปัญหาต่อไปที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่าตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏแจ้งชัดถึงวันเวลาสถานที่อ้างว่าจำเลยได้กล่าวหลอกลวงผู้เสียหายจำนวน 394 คน เมื่อใดบ้าง เพราะผู้เสียหายเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกในระยะเวลาแตกต่างกันและมีผู้ชักชวนหลายคน หากพิจารณาจากใบประกาศโฆษณาของจำเลยที่ 1 ก็เป็นการกระทำครั้งเดียวในคราวเดียวกัน จึงเรียงกระทงลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะประกาศโฆษณาเพียงครั้งเดียวในคราวเดียวแต่ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังยุติว่าในระหว่างวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนั้นมีผู้เสียหายซึ่งหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามประกาศโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีจำนวน 394 คน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกจากผู้เสียหายจำนวนดังกล่าวรายละ 3,000 บาท ไปโดยทุจริต ซึ่งความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละรายเป็นการกระทำที่แยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 394 กระทง ศาลย่อมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 มีโทษตามพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีรวม 394 กระทง เป็นกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินยี่สิบปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงไม่อาจลงโทษให้เบาลงอีกได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกา ย่อสั้น

พฤติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันประกอบกิจการในชื่อบริษัท ว. จำกัด ประกาศโฆษณาต่อประชาชนทั่วไปรับสมัครสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ป และเรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยรู้อยู่แล้วว่าบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด อันจะมีผลประโยชน์มาปันให้ให้แก่สมาชิกได้ตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิก จึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือเงินค่าสมัครสมาชิกรายละ 3,000 บาท จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม อันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยมีเงื่อนไขในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะแก่ผู้เป็นสมาชิกว่า หากสมาชิกผู้ใดหาสมาชิกใหม่มาสมัครได้ 6 คน จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินดาวน์รถจักรยานยนต์จำนวน 6,000 บาท ทั้งจะได้รับเงินตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่รายละร้อยละ 25 ของเงินค่าสมัคร และหากสมาชิกใหม่หาสมาชิกมาสมัครได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกเดิมก็ยังจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจำนวนลดหลั่นไปตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกนั้น เป็นการประกอบกิจการโดยวิธีชักจูงให้ผู้อื่นส่งเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ตน และให้ผู้นั้นชักจูงผู้อื่นตามวิธีการที่กำหนด และแสดงให้ผู้ถูกชักจูงเข้าใจว่าถ้าได้ปฏิบัติตามจนมีบุคคลอื่นอีกหลายคนเข้าร่วมต่อ ๆ ไปจนครบวงจรแล้วผู้ถูกชักจูงจะได้รับกำไรมากกว่าเงินหรือประโยชน์ที่ผู้นั้นได้ส่งไว้ดังที่บางคนเรียกกันว่าแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเมื่อคำนวณตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกแล้ว จะเห็นได้ว่าหากผู้เป็นสมาชิกปฏิบัติตามเงื่อนไขสามารถชักจูงบุคคลอื่นมาเข้าร่วมได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกรายต้น ๆ จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้หลายเท่า แต่หากการดำเนินการมิได้เป็นไปตามคำชักจูงก็จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้หลงเชื่อมาสมัครรายหลัง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกและผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่สมาชิกในเงื่อนไขตามตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกดังกล่าว ต้องตามความหมายของบทนิยามคำว่า “กู้ยืมเงิน” และ “ผลประโยชน์ตอบแทน” ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 3 และเมื่อมีประชาชนหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามที่จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณามีจำนวนมากกว่าตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยมีจำนวนรวม 394 คนตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหาย วันเวลาและจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์

แม้จำเลยที่ 1 จะประกาศโฆษณาเพียงครั้งเดียวในคราวเดียว แต่ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังยุติว่าในระหว่างวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนั้น มีผู้เสียหายซึ่งหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามประกาศโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีจำนวน 394 คน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกจากผู้เสียหายจำนวนดังกล่าวรายละ 3,000 คน ไปโดยทุจริต ซึ่งความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละรายเป็นการกระทำที่แยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 394 กระทง ศาลย่อมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ตาม ป.อ. มาตรา 91

จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 มีโทษตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีรวม 394 กระทง เป็นกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินยี่สิบปีตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงไม่อาจลงโทษให้เบาลงอีกได้

สรุป ศาลฎีกามองว่ามีเจตนากระทำความผิดร่วมกันเนื่องจากการประกาศหรือเชิญชวนของจำเลยเป็นการให้กู้ยืมหรือผลประโยชน์ตอบแทน

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments