Home คดีครอบครัว รวมคำพิพากษาฎีกาคดี ฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตร

รวมคำพิพากษาฎีกาคดี ฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตร

7379

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 965/2562

จำเลยได้เงินจากการออกจากงาน จำเลยย่อมสามารถนำมาชำระแก่โจทก์ตามสัญญาหย่าได้ แต่จำเลยก็หากระทำไม่ กลับอ้างลอย ๆ ว่านำไปชำระหนี้นอกระบบหมด จำเลยจะอ้างเอาเงินที่ได้ไปชำระหนี้ที่จำเลยอ้างว่านอกระบบ ซึ่งหมายความว่าไม่มีมูลที่จะเรียกร้องตามกฎหมายมามีเหตุผลเหนือกว่าการชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาหย่าที่จำเลยมีตามสัญญาที่ตนกระทำอันเป็นหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรมอันดีในฐานะบิดาที่จะต้องดูแลบุตรผู้เยาว์หาได้ไม่ ส่วนหนี้ครัวเรือนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีส่วนรับผิดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาหย่ามีข้อตกลงชัดเจนที่จำเลยจะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเกี่ยวกับการศึกษาบุตร มีลักษณะเป็นการตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีต่อกันในการจัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง หากจำเลยมีข้ออ้างว่าโจทก์กับจำเลยมีหนี้ร่วมกันจริง ก็ควรมีการยกขึ้นพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยก่อนที่จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับภาระผูกพันที่จำเลยจะรับผิดต่อโจทก์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสัญญาหย่าว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์โดยระบุว่า หนี้สินไม่ประสงค์ให้มีการบันทึก จึงต้องถือว่า หนี้สินระหว่างจำเลยกับโจทก์ ไม่ว่าจะมีหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่กระทบต่อข้อตกลงที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาหย่า ทั้งสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนหรือสละได้ คดีนี้โจทก์ทำข้อตกลงกับจำเลยเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นมารดากระทำการแทนบุตรผู้เยาว์ สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงยังเป็นของบุตรผู้เยาว์ จำเลยไม่อาจนำมาอ้างขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ ดังนั้นจำเลยจะมาหยิบยกภาระหนี้ดังกล่าวมาอ้างเพื่อขอหักกลบลบหนี้ที่ตนมีต่อโจทก์หาได้ไม่..

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2561

การที่โจทก์หายไปจากบ้านทิ้งจำเลยกับบุตรสองคนอยู่ตามลำพังนาน 3 เดือน ไม่สามารถติดต่อได้ จำเลยเป็นฝ่ายออกติดตามจนพบว่าโจทก์ไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล ส. จังหวัดภูเก็ต จำเลยเดินทางไปอยู่กับโจทก์ 3 เดือนต่อครั้ง โดยโจทก์จำเลยยังมีเพศสัมพันธ์กัน แม้โจทก์อ้างว่าการมีเพศสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามปกติในความเป็นสามีภริยา แต่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงย่อมต้องมีความยินยอมพร้อมใจ โดยเฉพาะฝ่ายชายหากไม่ยินยอมพร้อมใจ ย่อมยากที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ จึงหาใช่โจทก์จำเลยไม่มีเพศสัมพันธ์กันจนทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินควรและจนเป็นเหตุหย่าไม่ การที่จำเลยเดินทางไปตามหาโจทก์ที่จังหวัดภูเก็ต พบคลินิกแต่ไม่พบตัวโจทก์ พบแต่ ก. ทำงานในคลินิกและมีห้องนอนอยู่ติดกับห้องนอนโจทก์ในคลินิก แล้วจำเลยก็ไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้อีก เมื่อทราบว่าโจทก์มาเรียนต่อเฉพาะทางที่กรุงเทพ จำเลยจึงไปดักพบ โจทก์ไม่ยอมพูดด้วย จำเลยต้องเข้าไปนั่งข้างโจทก์ในห้องเรียน การที่ทันตแพทย์ที่ร่วมเรียนด้วยและอาจารย์ที่สอนพูดว่า โจทก์มีเมียมาคุม น่าจะเป็นคำพูดล้อเล่น ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำใด ๆ ทำให้โจทก์ต้องอับอาย การที่สามีภริยาปรากฏตัวด้วยกันเป็นครั้งคราวย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งจำเลยกลับถูก ก. ที่มานั่งเฝ้าโจทก์ใช้กำลังทำร้ายและตะโกนด่าต่อหน้าบุคคลอื่น เมื่อโจทก์ขอร้องจำเลยก็ใจอ่อนไม่ดำเนินคดี การกระทำของจำเลยจึงหาใช่จำเลยทำให้โจทก์เสียหายเดือดร้อนเกินควรและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่ จึงไม่เป็นเหตุหย่า

สามีภริยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง เมื่อฝ่ายภริยาคือจำเลยไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้ จำเลยย่อมเป็นฝ่ายได้รับการอุปการะเลี้ยงดู แต่เมื่อไม่ได้รับ จึงมีสิทธิเรียกจากฝ่ายสามีคือโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38

ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลหรือค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเลี้ยงชีพตนเองจากโจทก์ การที่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นฟ้องแย้ง 200 บาท และศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งจำเลยให้เป็นพับมานั้น จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2560

สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 ที่ระบุว่า หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดนัดชำระตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้ทันทีเต็มตามฟ้อง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นการบังคับคดีในส่วนที่อีกฝ่ายผิดสัญญา แต่การที่โจทก์ไม่นำบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแล อันเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จำเลยมีสิทธิบังคับคดีเพื่อให้มีการบังคับให้โจทก์ส่งบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแลตามที่ระบุไว้ในสัญญา หาได้หมายความถึงโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ไม่ เพราะนอกจากจะทำให้โจทก์และจำเลยต้องรับภาระเพิ่มขึ้นแล้ว การผิดสัญญาในข้อที่ไม่ต้องชำระด้วยเงิน กฎหมายกำหนดวิธีการบังคับคดีไว้แล้ว ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีข้อความไม่รัดกุมถือว่าเป็นกรณีมีข้อสงสัย ต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องว่า โจทก์ผิดนัดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10361/2557

โจทก์ฟ้องขอหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 และขอให้พิพากษาแบ่งสินสมรสแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแบ่งสินสมรสที่ดินสวนยางพาราพิพาทเนื้อที่ 60 ไร่ และที่ดินสวนปาล์มน้ำมันพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่ แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 8 โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราว และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทำบัญชีดอกผลรายได้จากผลผลิตในที่ดินพิพาทเป็นรายเดือน แล้วนำเงินรายได้จากผลผลิตที่จะได้รับจำนวนกึ่งหนึ่งของทั้งหมดมาวางศาลเป็นรายเดือน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงเป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยดอกผลของทรัพย์พิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ซึ่งในที่สุดหากโจทก์ชนะคดีโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับแบ่งดอกผลของทรัพย์ที่พิพาทดังกล่าวซึ่งเป็นสินสมรสได้ คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวจึงหาเกินกว่าคำขอในคำฟ้อง อันเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2557

อาคารพาณิชย์เลขที่ 35 และ 36 ที่โจทก์และจำเลยเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แม้มีเพียงสิทธิการเช่า แต่สิทธิการเช่าก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่มีราคาและถือเอาได้ เมื่อได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส และตรงตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง จำเลยจึงต้องแบ่งสินสมรสให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15066/2555

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์ก เขตปกครองเรนเซลาเออร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นบิดาของเด็กชาย อ. บุตรผู้เยาว์ และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย อ. เป็นรายเดือนแก่โจทก์ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้เป็นไปตามสัญญา การที่จำเลยกลับมาประเทศไทยโดยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วโจทก์มายื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้จำเลยชำระเงินตามที่กำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อข้อ 6 แห่งสัญญาระบุว่า สัญญานี้จะผูกพัน โจทก์จำเลยและบุตรผู้เยาว์ให้เป็นไปตามมาตรา 516 ของกฎหมายศาลครอบครัว ย่อมเห็นเจตนาของโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีว่าประสงค์จะให้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบังคับ ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใด บังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ หรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี…” เมื่อข้อสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนชาวไทยตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ศาลไทยจึงรับพิจารณาคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา และคำสั่งศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์กได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6542/2552

ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ด้านหลังมี ณ. เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ 5 ลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายของโจทก์ ที่พิมพ์ลงในหนังสือมอบอำนาจจริง และมีเจตนาในการทำนิติกรรมการโอนที่ดินโดย ณ. ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน และในวันเดียวกันก็มีหนังสือมอบอำนาจอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งรับรองโดย ณ. เช่นเดียวกัน แต่เป็นการมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกเฉพาะส่วนพร้อมสิ่งปลูกสร้างตลอดจนให้ผู้รับมอบอำนาจให้ถ้อยคำต่างๆ ต่อเจ้าพนักงานที่ดินแทนโจทก์จนเสร็จการ การที่โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือโดยมีพยานรับรอง 2 คน จึงเป็นการสมบูรณ์ ถือเสมอกับการลงลายมือชื่อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง และตามมาตรา 822 การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าลงลายนิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความ ทั้งมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลยที่ 1 ไป แสดงถึงความประมาทเลินเล่อของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ของโจทก์และนำไปแสดงต่อบุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 2 จนจำเลยที่ 2 หลงเชื่อว่าโจทก์มอบอำนาจเช่นนั้นจริง โจทก์จะยกความประมาทเลินเล่อของตนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่จำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริตหาได้ไม่ เว้นแต่โจทก์จะนำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 2

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7108/2551

ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า บิดาและมารดามีหน้าที่ร่วมกันในการให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะทำนองเป็นลูกหนี้ร่วมกัน หาใช่เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวไม่ ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 การกำหนดความรับผิดเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายดังกล่าวอาจกำหนดโดยนิติกรรมสัญญาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ถึงแม้โจทก์และจำเลยจะแยกกันอยู่และโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยกับโจทก์ก็ตาม เมื่อมิได้ตกลงกันให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเพื่อแบ่งส่วนตามความรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดชำระค่าค่าเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มีทรัพย์สินมากกว่าและโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยเพื่อปฏิเสธที่จะไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ แม้จำเลยจะได้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ดังที่จำเลยอ้างก็เป็นเรื่องให้การศึกษาซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่าอุปการะเลี้ยงดู จำเลยก็จะนำมาอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเห็นสมควรเป็นจำนวนเพียงใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดโดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 ทั้งศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกในภายหลังได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39

ทุนทรัพย์ที่จะนำมาคำนวณในการชำระค่าขึ้นศาลแต่ละชั้นศาลตามตาราง 1 (1) ท้าย ป.วิ.พ. ต้องเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในแต่ละชั้นศาล ส่วนทุนทรัพย์หรือจำนวนเงินที่จะต้องชำระหลังจากวันฟ้องในศาลชั้นต้นเป็นหนี้ในอนาคตไม่ถือเป็นทุนทรัพย์ที่จะนำมาคิดคำนวณเพื่อชำระค่าขึ้นศาล เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์คนละ 8,000 บาท ต่อเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้เป็นการพิพากษาให้ชำระหนี้ในอนาคตจึงไม่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาที่จะนำมาคิดคำนวณเป็นค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ การที่จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่าไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นระยะเวลาในอนาคตที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ก็ไม่ต้องด้วยตาราง 1 (4) ท้าย ป.วิ.พ. เพราะกรณีตามตาราง 1 (4) เป็นกรณีที่ขอให้ชำระ ดังนั้น อุทธรณ์และฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องชำระค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (2) (ก) คือ 200 บาท เท่านั้น แต่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาเกินมา เห็นสมควรคืนค่าขึ้นส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5467 – 5468/2550

โจทก์จำเลยตกลงกันให้โจทก์เป็นฝ่ายชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นรายเดือนในอนาคตและกำหนดวิธีการชำระเงินไว้ถูกต้องตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/40 แล้ว เพียงแต่มีเงื่อนไขเป็นบทบังคับในกรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญาว่าหากโจทก์ผิดสัญญาไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดหรืองวดหนึ่งงวดใด ให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาทั้งหมดยอมให้จำเลยบังคับคดีเต็มตามจำนวนเงินตามข้อตกลงได้ทันที อันเป็นความประสงค์ของโจทก์จำเลยในการทำนิติกรรมสัญญาโดยไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 150 จึงมีผลใช้บังคับกันได้โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4247/2539

กรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา199วรรคหนึ่งให้โอกาสจำเลยขออนุญาตยื่นคำให้การได้โดยมิได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนไว้เพียงแต่กำหนดว่าจำเลยจะต้องมาศาลเมื่อเริ่มต้นสืบพยานหรือแจ้งให้ศาลทราบก่อนเริ่มสืบพยานถึงเหตุที่จำเลยมิได้ยื่นคำให้การซึ่งจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การก่อนวันสืบพยานโจทก์อันเป็นวันเริ่มต้นสืบพยานจำเลยย่อมมีสิทธิทำได้โดยชอบแม้ว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยจะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม เมื่อจำเลยเพิ่งทราบเรื่องที่ถูกโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่25ตุลาคม2536ประกอบกับจำเลยได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การต่อศาลในวันที่26ตุลาคม2536หลังจากทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเพียง1วันเท่านั้นพฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ในวันนัดชี้สองสถานโจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าหลังจากจดทะเบียนหย่าแล้วโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยมีข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินซึ่งตรงกับทรัพย์สินที่โจทก์อ้างว่าเป็นสินสมรสตามฟ้องเมื่อข้อแถลงดังกล่าวให้ข้อเท็จจริงซึ่งมีสาระสำคัญเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้วโดยไม่ต้องทำการสืบพยานโจทก์จำเลยอีกศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยได้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงที่เกี่ยวกับเรื่องบุตรและสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยโดยโจทก์จำเลยประสงค์จะระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับสินสมรสที่มีอยู่หรือที่จะมีขึ้นต่อไปภายหน้าให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา850จึงเป็นสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับสินสมรสซึ่งโจทก์ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปโจทก์คงได้สิทธิใหม่ตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวตามมาตรา852เท่านั้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์สินอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 899/2535

โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้านายทะเบียนว่าจำเลยจะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เป็นรายเดือนจำเลยไม่ปฏิบัติตามโจทก์จึงฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าวแม้ภายหลังที่ยื่นฟ้องแล้วโจทก์จะได้ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของสามีใหม่แต่บุตรบุญธรรมก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่เกิดมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1578/28โจทก์ยังคงมีอำนาจฟ้อง

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลนไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments