Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีล่อซื้อสินค้าลิขสิทธิ์

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีล่อซื้อสินค้าลิขสิทธิ์

8385

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีล่อซื้อสินค้าลิขสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9600/2554

ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะอันเป็นการก่อให้จำเลยทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้กระทำความผิดโดยทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ก่อนแล้วและนำแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นออกขายแก่ ร. ผู้ล่อซื้ออันจะถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) เมื่อ ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) เพื่อให้เจ้าพนักงานจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้ แผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ ที่ ร. ว่าจ้างจำเลยให้ทำขึ้นและวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์การบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลยที่ ร. แอบถ่ายไว้เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบและเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5834/2550

ความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 34 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาปรับจำเลยทั้งสามคนละไม่เกิน 5,000 บาท การที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้ลดโทษปรับ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการกำหนดโทษ เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 39 (4)

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ กับขอให้ริบทรัพย์ของกลางแต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาฯมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้เอง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

โดยสภาพของการกระทำความผิดฐานร่วมกันขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งแผ่นวีซีดีคาราโอเกะ แผ่นซีดีเพลงเอ็มพีสาม และแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ อันเป็นงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อการค้า แม้จำเลยทั้งสามไม่มีหรือไม่ใช้แผงเหล็กตั้งสินค้า สมุดบันทึกรายรับรายจ่ายตะกร้า กล่องพลาสติก ถุงพลาสติก ซองพลาสติก และผ้าปูโต๊ะของกลางในการกระทำความผิด จำเลยทั้งสามก็สามารถกระทำความผิดนี้สำเร็จได้ ของกลางเหล่านี้จึงไม่เป็นปัจจัยหลักหรือส่วนสำคัญในการกระทำความผิดดังกล่าว ทั้งสิ่งของเหล่านี้ก็มักจะเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามปกติในร้านค้าที่ขาย เสนอขาย หรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าไม่ว่าเป็นสินค้าประเภทใด ข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ชัดแจ้งพอฟังได้ว่า ของกลางดังกล่าวเป็นวัตถุหรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นหลักหรือมีส่วนสำคัญในการกระทำละเมิดต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรง จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดที่ต้องริบเสียทั้งสิ้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75 ส่วนแผ่นซีดีก๊อปปี้ 350 แผ่น ของกลางนั้น ไม่ปรากฏว่ามีงานสร้างสรรค์อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่ใช่สิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดที่ต้องริบตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75 เช่นกัน

ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต สาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้นแผงเหล็กตั้งสินค้า สมุดบันทึกรายรับรายจ่าย ตะกร้า กล่องพลาสติก ซองพลาสติก ผ้าปูโต๊ะ และแผ่นซีดีก๊อปปี้ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานนี้ที่ศาลจะมีอำนาจริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

สิ่งบันทึกเสียงและสิ่งบันทึกภาพและเสียงที่เจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของกลางในคดีนี้มีทั้งที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายกับที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้เงินสด 1,750 บาท ของกลางมาโดยการขายงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในคดีนี้โดยมีการวางแผนล่อซื้อ จึงไม่ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสามได้เงินจำนวนดังกล่าวมาจากการขายงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่เจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของกลางในคดีนี้ หรือเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามได้มาจากการขายงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือของผู้อื่นก่อนหน้านี้ ทั้งความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ที่จำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไว้เพื่อประกอบกิจการดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานนี้ ดังนั้นแม้เงินที่จำเลยทั้งสามได้รับมาเป็นค่าตอบแทนการให้เช่าแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ตามฟ้อง ก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามได้มาโดยการกระทำความผิดฐานนี้ จึงไม่อาจริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (2) เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4077/2549

จำเลยไม่มีเจตนาแต่แรกที่จะขายแผ่นซีดีภาพยนตร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แต่เป็นกรณีที่ฝ่ายผู้เสียหายได้ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย การแจ้งความร้องทุกข์จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4077/2549

การที่ผู้เสียหายได้ใช้ให้ อ. สั่งให้จำเลยซื้อแผ่นซีดีละเมิดสิขสิทธิ์ของกลางจากตลาดนัดมาให้เพื่อที่จะได้หลักฐานในการกระทำความผิด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยความสมัครใจของตนเองมาก่อนและพร้อมที่จะจัดหาแผ่นซีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาได้ทันที นอกจากนี้เจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่ทราบเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในคดีนี้ และไม่ทราบเรื่องที่ อ. ได้ติดต่อขอซื้อแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ของกลางจากจำเลยไว้ก่อน แต่เป็นการที่ผู้เสียหายดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง แล้วแจ้งความร้องทุกข์เพื่อนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลย จึงเป็นกรณีที่ผู้เสียหายได้ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และไม่อาจถือว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย การแจ้งความร้องทุกข์จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695/2546

ร. เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ทำการแทนโจทก์ในประเทศไทยรู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 69 และ 70 ประกอบมาตรา 30 และ 31 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 ส่วนการตรวจสอบคอมพิวเตอร์และโปรแกรมที่ซื้อมา ก็เพื่อให้ได้หลักฐานชัดเจนยิ่งขึ้นอันจะเป็นประโยชน์ในการฟ้องคดี ไม่ใช่เพื่อให้รู้ถึงการกระทำความผิดเมื่อ ร. มีอำนาจร้องทุกข์และฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์แทนโจทก์ เช่นเดียวกับผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของโจทก์ ร. ก็ดี ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของโจทก์ก็ดีต้องดำเนินการร้องทุกข์หรือฟ้องร้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่ ร. รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นครั้งแรกแม้โจทก์จะเพิ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2542 ก็ไม่ทำให้อายุความขยายออกไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4085/2545

เมื่อเกิดกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินคดีแก่ผู้ทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งมีวิธีพิจารณาคดีและการชั่งน้ำหนักรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน เมื่อโจทก์เลือกดำเนินคดีอาญา จึงต้องนำ ป.วิ.อ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้นนอกจากโจทก์จะต้องสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นโดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำความผิดจริงตามคำฟ้อง ยังต้องได้ความว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้อีกด้วย

เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าฝ่ายจำเลยมีเจตนากระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว และโจทก์เป็นผู้ว่าจ้างนาย ฟ. ไปทำการล่อซื้อ จึงเท่ากับว่าโจทก์มีส่วนเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามคำฟ้องขึ้นเอง โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9525/2544

คดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า งานที่มีการฟ้องร้องในคดีนั้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง

ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยถือว่าเป็น การฟ้องคดีแทนผู้เสียหาย จึงต้องถือว่าผู้เสียหายได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 62 เช่นเดียวกับที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์

จำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์แต่เพียงว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ให้การหรือนำสืบโต้แย้งว่า ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมตามฟ้อง หรือโต้แย้งสิทธิของผู้เสียหายในงานดังกล่าวมาโดยชัดแจ้ง ผู้เสียหายย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ว่า งานดนตรีกรรมที่มีการฟ้องร้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยโจทก์ไม่จำต้องสืบพยานในข้อนี้อีก ดังนั้น ไม่ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาในข้อนี้จะมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อคดีของโจทก์

งานดนตรีกรรมตามรายชื่อเพลงท้ายฟ้องรวม 22 เพลง เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและแผ่นซีดีของกลางซึ่งบันทึกงานดนตรีกรรมตามรายชื่อเพลงท้ายฟ้องดังกล่าวเป็นแผ่นซีดีเพลงที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย จำเลยได้เสนอขายแผ่นซีดีเพลงวัตถุพยานของกลางซึ่งมีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายให้แก่พนักงานของผู้เสียหายผู้ล่อซื้อและพฤติการณ์ที่มีการวางปกแผ่นซีดีเพลงดังกล่าวในร้านค้าที่เกิดเหตุ ย่อมชี้ให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเสนอขายแผ่นซีดีเพลงตามแผ่นปกดังกล่าวมาแต่ต้นแล้ว กรณีนี้ถือไม่ได้ว่า พนักงานของผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5688/2544

จำเลยเอากล่องซีดีภาพยนตร์พร้อมปกซึ่งมีภาพและชื่อของภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ประมาณ 100 เรื่อง วางแสดงไว้ที่หน้าร้านเพื่อเตรียมไว้เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป แม้ภายในกล่องจะไม่มีแผ่นซีดีภาพยนตร์อยู่ก็ตาม แต่จำเลยก็สามารถไปนำแผ่นซีดีภาพยนตร์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของกลางที่อยู่หลังร้านออกมาขายให้แก่ผู้ซื้อได้ หากจำเลยมีแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางไว้โดยไม่มีเจตนาเพื่อจะขายแผ่นซีดีและแม้คดีนี้จะไม่มีการล่อซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์จากจำเลย แต่การที่จำเลยมีแผ่นซีดีภาพยนตร์หลายเรื่องหลายแผ่นไว้ พร้อมทั้งมีการวางกล่องกับปกซีดีภาพยนตร์ไว้ในร้านแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยได้ว่าจำเลยมีแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางไว้เพื่อขายแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง

จำเลยกระทำผิดโดยเพียงแต่มีแผ่นซีดีภาพยนตร์ซึ่งมีบุคคลอื่นทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดไว้เพื่อขายจำนวนเพียง 102 แผ่น ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้จ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็มิได้ขอให้จ่ายเงินแก่ผู้เสียหายคนละเท่า ๆ กัน และไม่ปรากฏเหตุอันควรที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะพิพากษาให้จ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่เข้าเป็นโจทก์ร่วมคนละเท่า ๆ กัน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขเป็นให้จ่ายเงินค่าปรับที่จำเลยได้ชำระตามคำพิพากษากึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งเจ็ดตามคำขอในคำฟ้องของโจทก์เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2543

เมื่อมีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาซึ่งมีวิธีพิจารณาคดีและการรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน เมื่อโจทก์เลือกดำเนินคดีอาญาจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลมดังนี้ ในการที่ศาลจะลงโทษจำเลยตามคำฟ้องนั้น นอกจากโจทก์จะต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามคำฟ้องแล้ว ยังต้องได้ความว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ด้วย

จำเลยที่ 1 ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องก่อนที่ ส. ซึ่งรับจ้างทำงานให้โจทก์จะไปล่อซื้อ แต่จะมีการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วมีการทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์หลังจากที่ ส. ตกลงซื้อกับจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 3 ต้องการแถมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่ ส. ตามที่ได้ตกลงกันในวันที่ ส. ไปล่อซื้อ พนักงานของจำเลยที่ 1อาจนำแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรเครื่องต้นแบบเข้ามาใช้เป็นต้นแบบบันทึกถ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงไปในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องที่ ส. ล่อซื้อในช่วงเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 1 ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โรงงานเสร็จและส่งไปที่สำนักงานจำเลยที่ 1 เพื่อรอส่งมอบแก่ลูกค้าที่สั่งซื้อตามเวลาที่นัดไว้ การทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ ส. ล่อซื้อนั้นเป็นการทำซ้ำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หลังจากวันที่ ส. ไปล่อซื้อแล้วเพื่อมอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำให้แก่ ส. มิใช่ทำซ้ำโดยผู้กระทำมีเจตนากระทำผิดอยู่แล้วก่อนการล่อซื้อ น่าเชื่อว่าการกระทำผิดดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของ ส. ซึ่งได้รับจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดโจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2543

โจทก์มีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ได้ทั้งทางแพ่งและ ทางอาญา ซึ่งมีวิธีพิจารณาคดีและการรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน เมื่อโจทก์เลือกดำเนินคดีนี้โดยฟ้องจำเลย ทั้งสามเป็นคดีอาญาจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในการดำเนินคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ซึ่งให้นำ ป.วิ.อ. มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ดังนี้ ในการที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ได้นั้นนอกจากโจทก์จะต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามคำฟ้องของโจทก์จริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 แล้ว ยังต้องได้ความว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมาตรา 28 (2) ด้วย

พยานหลักฐานของโจทก์เองแสดงให้เห็นว่า การทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ ส. ล่อซื้อนั้น เป็นการทำซ้ำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หลังจาก วันที่ ส. ไปล่อซื้อแล้ว โดยเป็นการทำซ้ำเพื่อมอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำนั้น ให้แก่ ส. ตามที่ ส. ได้ล่อซื้อนั่นเอง มิใช่เป็นการทำซ้ำโดยผู้กระทำมีเจตนากระทำผิดอยู่แล้วก่อนการล่อซื้อ ดังนี้ จึงน่าเชื่อว่าการที่มีผู้กระทำผิด ด้วยการทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อและแจกจ่ายตามฟ้องนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของ ส. ซึ่งได้รับจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ ผู้อื่นกระทำผิดดังกล่าวขึ้น โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมาตรา 28 (2) ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2543

การทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อและแจกจ่ายตามฟ้องนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของ ส. ซึ่งได้รับจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดดังกล่าวขึ้น โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมาตรา 28 (2) ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

 

Facebook Comments