ประเด็น: ก่อนตายผู้ตายได้ยกที่ดินพิพาท ( น.ส.3 ก ) โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนให้ถูกต้อง ผู้รับการให้จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่และหากผู้รับการให้ได้ขายที่ดินพิพาทไปโดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนให้ถูกต้องตามแบบ ผู้ซื้อที่ดินพิพาทจะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทนั้นหรือไม่ และภายหลังต่อมาผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้โอนที่ดินพิพาทให้กับทายาทและได้มีการนำที่ดินพิพาทไปขายฝากไว้กับบุคคลภายนอก ดังนี้ ผู้ซื้อที่ดินพิพาทจะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาขายฝากได้หรือไม่อย่างไร
คำตอบ: มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1476/2561 เห็นว่า แม้การให้ที่ดินพิพาทระหว่างนาง ส .กับพระภิกษุ ป. ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ก็ตาม แต่เมื่อนาง ส. สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุ ป. ดังนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของนาง ส. ย่อมสิ้นสุดลง นาง ส .ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท พระภิกษุ ป. ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 มาตรา 1377 และมาตรา 1378
แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพระภิกษุ ป.กับโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อพระภิกษุ ป.ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว พระภิกษุ ป.ได้สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินพิพาทของพระภิกษุ ป. ย่อมสิ้นสุดลง พระภิกษุ ป. ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 มาตรา 1377 และมาตรา 1378
นาง ค. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง ส .จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่มรดกของนาง ส. ให้แก่นาง ป. นาง ป.ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เมื่อนาง ป.ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท บุคคลอื่นซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทต่อมา รวมทั้งจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิครอบครองด้วย แม้จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) และได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด โจทก์สามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้
โจทก์ได้ซื้อและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 1 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาททางทะเบียนโดยรับซื้อฝากมาจากนาง ช.ซึ่งไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามความเป็นจริง จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้การขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริตและจำเลยที่ 2 เสียค่าตอบแทนก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด
โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วก็สมควรพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองด้วย ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
Facebook Comments