Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ สู้คดียาเสพติดให้ยกฟ้อง

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ สู้คดียาเสพติดให้ยกฟ้อง

37025

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ สู้คดียาเสพติดให้ยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2351/2562

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำ ศาลชั้นต้นรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดคงรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องเช่นกัน แต่กรณีที่มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา กรณีถือว่าฎีกาของจำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาเฉพาะความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี เมื่อศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว สำหรับความผิดฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำซึ่งมิใช่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุก 8 เดือน อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และความผิดฐานนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 ก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดจึงให้ยกฟ้องปล่อยจำเลยไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2108/2562

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 4, 16 วรรคหนึ่ง, 88 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยมีกำหนดโทษตามมาตรา 118 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 มากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2562

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยถูกพนักงานสอบสวนดำเนินคดีในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ชอบที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีจำเลยไปเหมือนคดีอื่น ๆ แต่เมื่อพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนโดยประสงค์ที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเพียงข้อหาเดียว กรณีจึงถือว่าในขณะนั้นจำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ต้องหาในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกอีกต่อไป คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งดังกล่าว โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นคดีนี้โดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของบทบัญญัติดังกล่าวส่งผลให้จำเลยขาดสิทธิอันพึงได้ตามกฎหมาย ไม่ได้รับประโยชน์ในการที่จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแทนการถูกฟ้องคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2562

แม้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า เดิมจำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขที่พนักงานสอบสวนต้องนำตัวจำเลยไปศาลเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งตัวจำเลยไปรับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีก็มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน แล้วโอนคดีมาให้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนที่ศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ ย่อมมีผลเท่ากับว่าจำเลยไม่เคยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก เมื่อความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหาดำเนินคดีคงเหลือเฉพาะความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ก่อน โดยต้องให้พนักงานสอบสวนรับตัวจำเลยกลับไปเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดต่อไป การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2562

แม้คำให้การชั้นสอบสวนของ จ. จะระบุว่า จำเลยพูดขอร้อง จ. ว่าจำเลยจะทำอย่างไรดีช่วยจำเลยด้วย ซึ่งหากจำเลยไม่มีเจตนาที่จะใช้ จ. ไปฆ่าผู้ตายทั้งสองแล้วจำเลยก็น่าจะพูดในทำนองขอร้องให้ จ. ไปทำร้ายผู้ตายทั้งสองซึ่งเป็นการเพียงพอแล้ว มิใช่พูดทำนองให้ จ. ฆ่าผู้ตายทั้งสองเมื่อใดก็ได้ ถ้อยคำที่ จ. เล่าให้พนักงานสอบสวนฟังและพนักงานสอบสวนบันทึกลงในคำให้การดังกล่าว พอแปลได้ชัดว่า จำเลยมีเจตนาที่จะให้ จ. ไปฆ่าผู้ตายทั้งสอง ไม่ใช่เป็นการปรับทุกข์หรือปรึกษาหารือระหว่างจำเลยกับ จ. ในฐานะคนคุ้นเคย รักใคร่ชอบพอกันแต่อย่างใด แต่เป็นการพูดจาในลักษณะหว่านล้อม โน้มน้าวขอร้องโดยมีความประสงค์ที่จะให้ จ. ฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและชิงทรัพย์ผู้ตายทั้งสอง อันเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดแล้ว

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองและชิงทรัพย์ไปในลักษณะต่อเนื่องคราวเดียวแสดงให้เห็นถึงเจตนาของ จ. ว่า จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองเพื่อประสงค์ต่อผลในการฆ่าผู้ตายทั้งสองและประสงค์จะเอาทรัพย์ของผู้ตายทั้งสองไปเพื่อเป็นค่าดำเนินการด้วย ตามที่จำเลยแจ้งต่อ จ. ว่าจะต้องฆ่าผู้ตายทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากัน และผู้ตายทั้งสองมีทรัพย์สินอยู่ในที่เกิดเหตุสามารถชิงไปได้ มิได้มีเจตนาฆ่าผู้ตายที่ 1 และชิงทรัพย์ไป แล้วเกิดเจตนาฆ่าผู้ตายที่ 2 แล้วชิงทรัพย์ ขึ้นภายหลังเพิ่มขึ้นอีก ลักษณะเจตนาในการกระทำความผิดจึงเป็นอันเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 75/2562

เดิมจำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขที่พนักงานสอบสวนจะต้องนำตัวจำเลยไปศาลเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งตัวจำเลยไปรับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน แล้วโอนคดีมาให้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นคดีนี้ ย่อมมีผลเท่ากับว่าจำเลยไม่เคยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก เมื่อความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหาดำเนินคดีคงเหลือเฉพาะความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้จำเลยได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเสียก่อน เป็นการไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8962/2561

แม้ข้อเท็จจริงตามฟ้องได้ความว่า จำเลยถูกพนักงานสอบสวนดำเนินคดีในความผิดสองฐาน คือ ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนนั้นเป็นความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนนั้น เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนที่ควรส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดเสียแต่แรก เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีแล้วพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนและผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ไม่โต้แย้งคำสั่ง เช่นนี้ เท่ากับพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ย่อมส่งผลให้จำเลยมิได้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนอีกต่อไป และต้องหาเพียงความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเพียงข้อหาเดียว จึงเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับการส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ทั้งการที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นเหตุยกเว้นที่พนักงานสอบสวนสามารถส่งตัวผู้ต้องหาไปศาลเกินกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงได้ ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน และยังไม่มีการส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด พนักงานสอบสวนต้องนำตัวจำเลยไปศาลเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดเสียก่อน การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว จึงทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8961/2561

ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งตอนท้าย แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ได้กำหนดข้อยกเว้นกรณีต่างๆ เอาไว้ที่ทำให้พนักงานสอบสวนไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลเพื่อมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดภายในสี่สิบแปดชั่วโมง เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง เฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ ซึ่งในกรณีหลังนี้เอง เป็นเรื่องที่กฎหมายเปิดกว้างเอาไว้โดยมีเจตนารมณ์จะให้ผู้เสพยาเสพติดซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการของกฎหมายได้ เช่น ถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องสมควรกับความผิดที่ได้กระทำ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับคดีนี้ในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งในที่สุดโจทก์ก็มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี เท่ากับโดยสาระแล้ว จำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เสพเมทแอมเฟตามีนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มิได้เป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกอีกต่อไป จำเลยจึงเป็นผู้ป่วยซึ่งอยู่ในเงื่อนไขของกฎหมายที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอย่างแท้จริง การมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในความผิดฐานอื่นของโจทก์ที่เกิดขึ้นในภายหลังเช่นนี้ เข้าลักษณะของพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ไม่อาจนำตัวจำเลยไปศาลเพื่อมีคำสั่งให้ส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดได้ทันภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่จำเลยมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนดังที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ประกอบกับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดี โจทก์ทราบดีถึงพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว เท่ากับข้อเท็จจริงปรากฏแก่โจทก์แล้วว่าจำเลยมิได้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก กรณีย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์หรือพนักงานสอบสวนจะต้องนำตัวจำเลยไปยังศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดต่อไป เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเสียก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8929/2561

การที่จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวนหนึ่งที่บริเวณลานจอดรถ และนำไปตรวจค้นยึดได้ที่ในห้องพักอีกจำนวนหนึ่งเป็นการที่เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่พักพบของกลางตามปกติในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดลักษณะนี้อยู่แล้ว ไม่ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในอันที่จะให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2561

การร่วมกระทำความผิดในลักษณะตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 จะต้องเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันซึ่งต้องพิจารณาทั้งในส่วนการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ หมายถึงต้องร่วมกระทำผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งทุกคนที่กระทำจะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้นที่เป็นผู้เสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ร่วมเสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 เพิ่งจะเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในลักษณะของตัวการ และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 นั้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้หรือขอให้เงินสินบนแก่เจ้าพนักงานตำรวจแล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจในภายหลังจึงไม่เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะการเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 จะต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วยการปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้พ้นจากการจับกุม เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดแยกได้ต่างหากจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากคำฟ้องที่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงานก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานแล้ว เพราะในการกระทำนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันกระทำหรือต่างกระทำความผิดเพียงลำพัง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนก็ย่อมถูกลงโทษ เป็นแต่จะลงโทษได้เต็มคำขอของโจทก์หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณานั้น ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า “ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น… (3) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการถูกจับกุม” และมาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติต่อไปว่า “ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้” แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ต้องการลงโทษผู้ที่จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินหรือที่ประชุมหรือที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยตรง โดยผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ้นจากการถูกจับกุม การจัดหาหรือให้เงินตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) นี้จะต้องเป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น และหากเป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนเพื่อช่วยให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลก็มีอำนาจที่จะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาหรือให้เงินสินบนแก่เจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกจากการถูกจับกุม มิใช่เป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8491/2561

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร เป็นการฟ้องให้ศาลเลือกลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยพร้อมกันทั้งสองข้อหาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนศาลอุทธรณ์ เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานรับของโจรได้ตามที่โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในฟ้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8049/2561

อ. และ พ. ร่วมกันซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยแล้วนำไปเสพและจำหน่ายให้แก่ลูกค้า เมื่อ อ. และ พ. ได้เงินค่าเมทแอมเฟตามีนจากลูกค้าแล้วจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยเพื่อชำระค่าเมทแอมเฟตามีน ลักษณะการตกลงกันเพื่อให้มีการขายและส่งมอบเมทแอมเฟตามีนกันเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการคบคิดร่วมกันอันเป็นความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 และข้อเท็จจริงได้ความว่า ในที่สุดได้มีการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ อ. และ พ. รับไว้ในครอบครองแล้ว ถือว่าได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันแล้วอันเป็นความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามมาตรา 8 วรรคสอง อีกด้วยเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับ อ. และ พ. สมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยตกลงกันเพื่อจัดหาลูกค้า ลําเลียง เก็บรักษา ตกลงราคา ซื้อขาย ส่งมอบ และรับเงินค่าเมทแอมเฟตามีน โดยจำเลยเป็นผู้จัดหาเมทแอมเฟตามีน 50 เม็ด มาส่งมอบให้ อ. นำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าโดยตกลงว่าจะให้ อ. ชำระเงินค่าเมทแอมเฟตามีนผ่านทางบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยหลังจากนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าได้แล้ว วันที่ 16 ธันวาคม 2558 เวลากลางวัน อ. และ พ. ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่สั่งซื้อมาจากจำเลย 17 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.305 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีเมทแอมเฟตามีน 17 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.305 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพียงบทเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 90

โจทก์บรรยายฟ้องว่า อ. และ พ. ร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ดหรือหน่วยการใช้น้ำหนัก 0.970 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.196 กรัม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยนำมาส่งมอบให้ไปจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 2,000 บาท นั้น แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ อ. และ พ. อันเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนระหว่างจำเลยกับ อ. และ พ. ด้วยกันเอง ไม่เกี่ยวกับสายลับ ทั้งทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏความเชื่อมโยงว่าจำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็นในการที่ อ. และ พ. ร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อแต่อย่างใด ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลต้องยกฟ้องในความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและได้มีการกระทำความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7998/2561

แม้ฟังได้ว่าจำเลยกับพวกในสาธารณรัฐคอสตาริการ่วมกันกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำในการนำโคคาอีนเข้ามาในประเทศไทย โดยส่งพัสดุภัณฑ์ทางไปรษณีย์อันเป็นการกระทำในขั้นตอนสุดท้ายแล้วก็ตาม แต่โคคาอีนดังกล่าวถูกตรวจยึดไว้ได้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก่อน ผลจากการกระทำของจำเลยกับพวกถือว่าสิ้นสุดลงแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสำเร็จสมบูรณ์ในประเทศไทยตามเจตนาของจำเลยกับพวก กรณีเป็นการลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล จึงเป็นการพยายามกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 80 เท่านั้น การที่ต่อมามีการนำโคคาอีนจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาในประเทศไทยเป็นเรื่องภายหลังที่พบการกระทำผิดและตรวจยึดโคคาอีนดังกล่าวได้แล้ว จึงมีการร่วมมือกันระหว่างทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศฝ่ายประเทศสหรัฐอเมริกาและฝ่ายประเทศไทยเพื่อสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้ร่วมกระทำผิดที่อยู่ในประเทศไทยต่อไป ไม่ได้เป็นผลลำพังจากการกระทำของจำเลยกับพวก เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังกล่าวการกระทำในส่วนนี้เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดเท่านั้น แต่ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 ที่โจทก์ฟ้องขอมาด้วยบัญญัติว่า “ผู้ใดพยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ” จึงเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จแล้ว สำหรับฐานร่วมกันพยายามนำโคคาอีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันมีโคคาอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันพยายามนำโคคาอีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตาม ป.อ. มาตรา 90 ส่วนที่จำเลยขอให้ยกฟ้องมาในคำแก้ฎีกานั้นไม่อาจทำได้โดยไม่ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกาแล้วได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา จึงวินิจฉัยให้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7947/2561

ณ. ให้ ท. เก็บรักษาเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อรอคำสั่งให้นำไปส่งต่อ จำเลยเป็นคนรักของ ณ. และนั่งรถมากับ ณ. เวลามาส่งเมทแอมเฟตามีนให้ ท. บ่อยครั้ง ว. และ ช. ไปรับเมทแอมเฟตามีนจาก ท. ไปส่งให้ลูกค้าตามคำสั่งของ ณ. ผู้ว่าจ้าง และรับเมทแอมเฟตามีนบางส่วนไปจำหน่ายเอง ณ. สั่งให้ ช. โอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนเข้าบัญชีเงินฝากทั้งสองบัญชีของจำเลย ในแต่ละวันมีการนำเงินเข้าฝากหลายจำนวนแล้วถอนเงินออกจากบัญชีโดยตลอด จำเลยมอบบัตรเอทีเอ็มให้ ณ. นำไปใช้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยรู้เห็นเป็นใจให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือ ณ. ในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของ ว. และ ช. โดยใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวชำระเงินค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ณ. อันเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก่อนหรือขณะกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7815/2561

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 106 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มีกำหนดโทษตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7551/2561

โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายกัญชาเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยฎีกาเฉพาะข้อหาจำหน่ายกัญชา ข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมิใช่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และไม่ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยในข้อหานี้ ซึ่งไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย เมื่อศาลฎีกาฟังว่า พยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยมีกัญชาแห้ง จำนวน 4 ถุง และเมล็ดกัญชาแห้ง จำนวน 1 ถุง ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายโดยการขายกัญชาแห้งนั้นให้แก่ ป. จำนวน 1 ถุง และ พ. จำนวน 2 ถุง และมีอาวุธปืนยาวบรรจุปาก (ปืนแก๊ป) และปืนยาวอัดลม ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของนายทะเบียนประทับไว้ และเครื่องกระสุนปืนบรรจุปาก (ดินดำ แก๊ปกระดาษ เม็ดตะกั่ว ใยมะพร้าว) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ข้อหาความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน และเมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิด จึงให้ยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7519/2561

ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 250,000 บาท และในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 3 ปี ภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษทั้งสองคดี จำเลยกลับมากระทำผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันดังกล่าวตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง กรณีมิใช่จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อันจะเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลังตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 คงเพิ่มโทษได้เพียงหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7100/2561

การที่จำเลยรับฝากเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้จาก ส. ด้วยการซุกซ่อนไว้ในเสื้อยกทรงของจำเลยในขณะที่จำเลยกับพวกขับรถผ่านด่านตรวจเพื่อช่วยเหลือ ส. ให้นำเมทแอมเฟตามีนของกลางให้รอดพ้นจากการตรวจค้นของเจ้าพนักงานตำรวจโดยไม่ถูกจับกุม เป็นการช่วยเหลือเพื่อให้ความสะดวกแก่ ส. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ส. ให้กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7018/2561

มาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง…” ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า ในส่วนคดีอาญาศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกฟ้อง เป็นผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์เป็นอันสิ้นสุดลง จำเลยไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์อีกต่อไป จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นในคดีริบทรัพย์สินตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ดำเนินกระบวนพิจารณามีคำสั่งริบทรัพย์สินโดยมิชอบ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งริบทรัพย์สินและคืนเงินที่ริบแก่โจทก์ต่อไป โจทก์จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่ยื่นฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6930/2561

จำเลยที่ 1 ข้ามเขตแดนไปสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีน โดยจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นเป็นอย่างดี ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองถูกเจ้าพนักงานควบคุมตัวไว้ก่อน ทำให้ไม่มีอิสระที่จะไปรับเมทแอมเฟตามีนตามที่นัดหมายกับพวกไว้ได้ โดยจำเลยที่ 2 ไปรับเมทแอมเฟตามีนก็เพราะเจ้าพนักงานสั่งให้ไปรับ ส่วนจำเลยที่ 1 แม้ปฏิเสธไม่ยอมไปรับด้วย แต่เมทแอมเฟตามีนถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้เพราะพวกของจำเลยที่ยืนอยู่ในแม่น้ำเหืองฝั่ง ส.ป.ป. ลาว ขว้างข้ามเขตแดนมาให้จำเลยที่ 2 ตามที่โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมลงมือกระทำการนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว เพียงแต่การกระทำนั้นยังไม่บรรลุผล จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย

เมื่อจำเลยที่ 2 เก็บเมทแอมเฟตามีนที่พวกของจำเลยขว้างข้ามเขตแดนมาก็ส่งให้เจ้าพนักงานทันที ไม่สามารถยึดถือไว้เพื่อตนได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-1427773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments