Home คดีครอบครัว วิเคราะห์คำพิพากษาฎีกาจำนวนค่าเลี้ยงดูบุตร ศาลฎีกาพิเคราะห์จากพฤติการณ์ใดบ้าง

วิเคราะห์คำพิพากษาฎีกาจำนวนค่าเลี้ยงดูบุตร ศาลฎีกาพิเคราะห์จากพฤติการณ์ใดบ้าง

2742

วิเคราะห์คำพิพากษาฎีกาจำนวนค่าเลี้ยงดูบุตร ศาลฎีกาพิเคราะห์จากพฤติการณ์ใดบ้าง

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ส่วนแบ่งในสินสมรสของจำเลยเป็นเหตุคนละส่วนกับหน้าที่ของบิดามารดาตามกฎหมายที่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุที่จำเลยมิได้ขอแบ่งสินสมรสจากโจทก์มาเป็นข้ออ้างว่าไม่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ เมื่อโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรผู้เยาว์คนละ 10,000 บาท ในแต่ละภาคเรียน และตามความเป็นจริงนอกจากค่าใช้จ่ายในการศึกษาแล้วยังจะต้องคำนึงถึงค่าอุปการะเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ ในการครองชีพและการดำรงอยู่ในสังคมตามวัยและความเจริญเติบโต ของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองต่อไปในอนาคตจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ ประกอบด้วยตามสมควร โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำมีเงินเดือน เดือนละ 6,590 บาท ในขณะที่จำเลยรับราชการมีเงินเดือน เดือนละ 12,000 บาท และจะเพิ่มมากขึ้นต่อไป ในแต่ละปี และยังมีรายได้พิเศษส่วนหนึ่งจากการเล่นดนตรี จึงมีรายได้มากกว่าโจทก์แม้จำเลยจะอ้างว่าตนต้องผ่อนชำระหนี้ ส่วนหนึ่งนั้น ก็เป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยและเป็น เหตุเพียงชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่เป็นเหตุที่จะยกขึ้นมา เป็นข้ออ้างได้ การที่ศาลกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู แก่ผู้เยาว์ทั้งสองในชั้นประถมศึกษาคนละ 2,000 บาทต่อเดือน ชั้นมัธยมศึกษาคนละ 3,000 บาทต่อเดือน และชั้นอุดมศึกษา คนละ 4,000 บาทต่อเดือน จนกว่าผู้เยาว์ทั้งสองจะ บรรลุนิติภาวะจึงเหมาะสมแก่สภาพและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยมีบุตรด้วยกัน 2 คน บุตรทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์โจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 3,000 บาท ต่อบุตร 1 คน นับแต่เดือนเมษายน 2537 จนกว่าผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ และจ่ายเพิ่มอีก 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์แต่ละปี

จำเลยให้การว่า โจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2537 โดยมีข้อตกลงให้จำเลยยกสินสมรสทั้งหมดให้แก่โจทก์และโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท และให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสองเป็นรายเดือนดังนี้ ขณะผู้เยาว์เรียนชั้นประถมศึกษาให้จ่ายคนละ 2,000 บาทต่อเดือน ชั้นมัธยมศึกษาให้จ่ายคนละ 3,000 บาทต่อเดือน และชั้นอุดมศึกษาให้จ่ายคนละ 4,000 บาทต่อเดือน นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน อายุ 11 ปี และ 7 ปี ตามลำดับ โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2536 บุตรทั้งสองโจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูแต่เพียงลำพังผู้เดียว ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองหรือไม่ และสมควรจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ในปัญหาแรกจำเลยฎีกาว่าระหว่างอยู่กินด้วยกัน โจทก์และจำเลยมีสินสมรสหลายรายการเฉพาะส่วนของจำเลยซึ่งไม่ได้ขอแบ่งจากโจทก์มีมูลค่ามากพอที่จะอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจนบรรลุนิติภาวะได้โดยโจทก์ไม่ต้องเดือดร้อนนั้นเห็นว่า ส่วนแบ่งในสินสมรสของจำเลยเป็นเหตุคนละส่วนกับหน้าที่ของบิดามารดาตามกฎหมายที่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุที่จำเลยมิได้ขอแบ่งสินสมรสจากโจทก์มาเป็นข้ออ้างว่าไม่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ ส่วนจำเลยจะมีสิทธิในส่วนแบ่งสินสมรสเท่าใดเป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก หาได้เกี่ยวกับคำขอของโจทก์คดีนี้ไม่เมื่อจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองโดยปล่อยให้โจทก์รับภาระแต่เพียงลำพังผู้เดียวตั้งแต่ปี 2536 จำเลยจึงต้องรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองตามสมควร ซึ่งจำเลยฎีกาต่อไปว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ศาลกำหนดมานั้นสูงเกินสมควรกว่ารายได้และภาระหนี้สินที่จำเลยมีอยู่นั้น เห็นว่าจากทางนำสืบของโจทก์ซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านเป็นอย่างอื่นโจทก์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรผู้เยาว์คนละ 10,000 บาท ในแต่ละภาคเรียน และตามความเป็นจริง นอกจากค่าใช้จ่ายในการศึกษาแล้วยังจะต้องคำนึงถึงค่าอุปการะเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆในการครองชีพและการดำรงอยู่ในสังคมตามวัยและความเจริญเติบโตของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองต่อไปในอนาคตจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะประกอบด้วยตามสมควร โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำมีเงินเดือนเดือนละ 6,590 บาท ในขณะที่จำเลยรับราชการมีเงินเดือนเดือนละ 12,000 บาท และจะเพิ่มมากขึ้นต่อไปในแต่ละปีและยังมีรายได้พิเศษส่วนหนึ่งจากการเล่นดนตรีจึงมีรายได้มากกว่าโจทก์ ข้ออ้างว่าจำเลยต้องผ่อนชำระหนี้ส่วนหนึ่งนั้นเห็นว่า หนี้ดังกล่าวเป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยมิได้เกี่ยวกับหน้าที่ที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และเป็นเหตุเพียงชั่วคราวเท่านั้น มิได้มีอยู่ตลอดไป จึงไม่เป็นเหตุที่จะยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างได้ ดังนั้น จำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จึงพอเหมาะสมแก่สภาพและพฤติการณ์แห่งคดี ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุปหลักการณ์โดยกว้างที่ศาลฎ๊กาพิจารณาจากคำพิพากษาฎ๊กานี้

  1. สรุปค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนหรือภาคเรียนที่เกิดขึ้นจริง
  2. คำนึงถึงค่าอุปการะเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ ในการครองชีพและการดำรงอยู่ในสังคมตามวัยและความเจริญเติบโต ของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองต่อไปในอนาคตจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ ประกอบด้วยตามสมควร
  3. รายได้ที่แต่ละฝ่ายมีในปัจจุบัน โดยถาวรมิใช่ชั่วคราว
  4. ความเหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้ให้หรือผู้รับ
  5. หนี้ดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นเหตุส่วนตัว
  6. สินสมรสที่แบ่งกัน

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments