Home ทั้งหมด เงินที่ได้จากการจัดการงานศพ หากไม่มีผู้จัดการมรดก ผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิเบิกถอน

เงินที่ได้จากการจัดการงานศพ หากไม่มีผู้จัดการมรดก ผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิเบิกถอน

4634

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปเบิกถอนเงินร่วมกับผู้มีชื่อในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ บัญชีเลขที่ 329-0-xxxxxx ทั้งหมดและหรือส่งมอบเงินฝากในบัญชีทั้งหมดแก่โจทก์และหรือให้จำเลยเปลี่ยนชื่อในบัญชีเงินฝากมาเป็นชื่อของบุคคลที่โจทก์ยินยอม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยไปถอนเงินร่วมกับผู้มีชื่อในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ บัญชีเลขที่ 329-0-xxxxxx ทั้งหมดและหรือส่งมอบเงินฝากในบัญชีทั้งหมดแก่โจทก์ และหรือให้จำเลยเปลี่ยนชื่อในบัญชีเงินฝากมาเป็นชื่อของบุคคลที่โจทก์ยินยอม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า พระครูประสาทพรหมคุณหรือหลวงปู่หงษ์ มีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์ หลวงปู่หงษ์ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2557 นายประถม นายอำเภอปราสาท มีคำสั่งอำเภอปราสาท ที่ 136/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานบำเพ็ญกุศลสรีระสังขารพระครูประสาทพรหมคุณ (หลวงปู่หงษ์ พรฺหมฺปญฺโญ) ลงวันที่ 5 มีนาคม 2557 มีการจัดงานพิธีบำเพ็ญกุศลศพหลวงปู่หงษ์ขึ้นที่ปราสาทเพชรภายในสุสานทุ่งมน ตำบลสมุด อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โดยมีพุทธศาสนิกชนร่วมกันบริจาคเงิน เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว มีเงินเหลืออยู่ 1,725,214 บาท คณะกรรมการจัดงานจึงได้นำเงินไปเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ บัญชีเลขที่ 329-0-xxxxxx ในชื่อบัญชี พระสิน นายจำลอง และจำเลย เพื่อหลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้ไปถอนเงินในบัญชีให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินในบัญชีเป็นเงินที่ได้มาจากการทำศพของหลวงปู่หงษ์ ดังนั้นจึงมีข้อที่ต้องพิจารณาว่า โจทก์เป็นผู้มีอำนาจจัดการศพของหลวงปู่หงษ์หรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ต้องในอันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการดังว่านั้น” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น” คดีนี้ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่า ผู้ตายไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกและไม่ได้ตั้งผู้จัดการศพ ทายาทไม่ได้มอบหมายตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการศพ อีกทั้งไม่มีผู้ได้รับทรัพย์มรดกด้วย เพราะผู้ตายไม่มีทรัพย์รับมรดก จึงเป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ต้องวินิจฉัยคดีโดยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง โดยนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 มาปรับใช้ว่า ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายเป็นผู้มีหน้าที่จัดการศพ เมื่อไม่ปรากฏว่าหลวงปู่หงษ์มีทายาท คงมีแต่โจทก์ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่หงษ์มีภูมิลำเนาขณะถึงแก่มรณภาพเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของหลวงปู่หงษ์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในลักษณะ 2 ว่าด้วยสิทธิโดยธรรมในการรับมรดก จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกโดยสิทธิโดยธรรมตามนัยแห่งบทบัญญัติในมาตรา 1649 โจทก์จึงเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพหลวงปู่หงษ์ ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยจัดการมอบเงินในบัญชีให้โจทก์เพื่อนำไปใช้ในการจัดการทำศพหลวงปู่หงษ์ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง เห็นสมควรปรับปรุงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้เหมาะสมในการบังคับคดีเสียใหม่

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยไปถอนเงินร่วมกับผู้มีชื่อในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ บัญชีเลขที่ 329-0-xxxxxx ทั้งหมด แล้วส่งมอบเงินฝากทั้งหมดให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

ข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินในบัญชีเป็นเงินบริจาคที่ได้มาจากการทำศพของผู้ตาย จึงต้องพิจารณาว่า โจทก์เป็นผู้มีอำนาจจัดการศพของผู้ตายหรือไม่ ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์จำเลยว่า ผู้ตายไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกและไม่ได้ตั้งผู้จัดการศพ ทายาทไม่ได้มอบหมายตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการศพ อีกทั้งไม่มีผู้ได้รับทรัพย์มรดกด้วย เพราะผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดก จึงเป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ต้องวินิจฉัยโดยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง โดยนำ ป.พ.พ. มาตรา 1649 มาปรับใช้ว่า ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายเป็นผู้มีหน้าที่จัดการศพ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตาย มีทายาท คงมีแต่โจทก์ซึ่งเป็นวัดที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาขณะถึงแก่มรณภาพเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ป.พ.พ. มาตรา 1623 จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกโดยสิทธิโดยธรรมตามนัยมาตรา 1649 โจทก์จึงเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตาย มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยจัดการมอบเงินในบัญชีให้โจทก์เพื่อนำไปใช้ในการจัดการทำศพผู้ตายต่อไป

คดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ @lawyers.in.th

 

 

 

Facebook Comments