Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาฎีกาใหม่เหตุผลใดบ้างที่ ขอศาลให้ศาลรอการลงโทษ

รวมคำพิพากษาฎีกาใหม่เหตุผลใดบ้างที่ ขอศาลให้ศาลรอการลงโทษ

17470

รวมคำพิพากษาฎีกาใหม่เหตุผลใดบ้างที่ ขอศาลให้ศาลรอการลงโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7503/2561

สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งพ้นโทษในคดีก่อนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 นับถึงวันกระทำความผิดคดีนี้แม้จะเกินกว่า 5 ปีก็ตาม แต่เมื่อมากระทำความผิดคดีนี้ซึ่งไม่ใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขตาม ป.อ. มาตรา 56 ที่จะรอการกำหนดโทษให้ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งพ้นโทษในคดีก่อนเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 และกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 จึงยังพ้นโทษมาไม่เกิน 5 ปี ทั้งความผิดในคดีก่อนคือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 837/2552 ของศาลจังหวัดนางรอง และความผิดคดีนี้ต่างก็ไม่ใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ โดยโทษจำคุกในคดีก่อนมีกำหนด 5 ปี 3 เดือน ซึ่งเป็นโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน กรณีของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการกำหนดโทษให้ได้เช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7264/2561

ตาม ป.อ. มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น (1) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน… ศาลจะรอการลงโทษผู้นั้นไว้ก็ได้ นั้น หมายถึงว่า จำเลยไม่ได้รับโทษจำคุกมาก่อนคดีที่ศาลกำลังจะพิพากษา ซึ่งมาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) มิได้ระบุว่าคดีที่จำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนนั้น ต้องเป็นการกระทำความผิดมาก่อนคดีเรื่องหลัง เมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและเป็นโทษในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนและมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5501/2560

ขณะศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยได้รับโทษจำคุก 14 ปี 12 เดือน ตามคดีหมายเลขแดงของศาลอาญา ในความผิดต่อ พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน และความผิดเกี่ยวกับเอกสาร และได้พ้นโทษในเดือนสิงหาคม 2557 ก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุก ตาม ป.อ. มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5307/2560

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง และขอให้บวกโทษจำคุกที่เปลี่ยนเป็นคุมความประพฤติของจำเลยไว้ในคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวคดีก่อน เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 14 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ หากแต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ซึ่งเป็นวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน มีกำหนด 5 ปี หลังจากนั้นภายในกำหนดเวลาที่ถูกคุมความประพฤติซึ่งเป็นเงื่อนไขในการปล่อยตัวจำเลยในคดีก่อน จำเลยกลับมากระทำผิดในคดีนี้อีกหลังมีอายุพ้นเกณฑ์การเป็นเยาวชน ซึ่งชอบที่จะว่ากล่าวไปตามวิธีการที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะใน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ไม่อาจนำมาเทียบเคียงว่ากรณีเช่นนี้ของจำเลยเป็นการกลับมากระทำความผิดภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 58 ฉะนั้น แม้คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษจำคุกก็ไม่อาจนำโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385/2560

การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถขับรถบรรทุกสิบล้อ อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นที่ใช้เส้นทางเดินรถร่วมกับจำเลยได้ทุกขณะเพราะอาการมึนเมาเมทแอมเฟตามีนย่อมทำให้ขาดสติไม่สามารถใช้ความระมัดระวังในการขับรถได้อย่างเต็มที่ดังเช่นในภาวะที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวหรือมีเหตุอื่นก็ตาม ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1393/2560

โจทก์บรรยายฟ้องข้อหาความผิดฐานให้เช่าภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เพียงว่าจำเลยนำแผ่นสามดีและแผ่นวีซีดีภาพยนตร์รวมจำนวน 3 แผ่น ซึ่งไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกให้เช่าแก่ประชาชนทั่วไปในราชอาณาจักรเท่านั้น โดยไม่บรรยายให้ปรากฏว่าภาพยนตร์ที่จำเลยนำออกให้เช่านั้นเป็นภาพยนตร์ที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 แต่อย่างใด ทั้งนี้เนื่องจาก พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ได้บัญญัติถึงภาพยนตร์ที่ไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามมาตรา 27 (1) (3) วรรคหนึ่ง ดังนั้น โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ว่าภาพยนตร์ที่จำเลยนำออกให้เช่านั้นเป็นภาพยนตร์ที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยเป็นภาพยนตร์ประเภทใดตามมาตรา 26 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 (2) (4) และ (6) วรรคสอง ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 (5) วรรคสาม ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เช่น เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไปตามมาตรา 26 (2) วรรคหนึ่ง หรือเป็นภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดูตามมาตรา 26 (6) วรรคหนึ่ง ซึ่งการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานให้เช่าภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นการนำภาพยนตร์ประเภทที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามมาตรา 26 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 (2) (4) และ (6) วรรคสอง ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 (5) วรรคสาม ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ออกให้เช่า แต่ฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เกี่ยวกับประเภทของภาพยนตร์ที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังกล่าว ทั้งมิได้บรรยายให้ปรากฏด้วยว่าผู้กระทำความผิดดังกล่าวต้องมีหน้าที่นำภาพยนตร์ที่จะนำออกให้เช่าไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เมื่อฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าภาพยนตร์ที่จำเลยนำออกให้เช่านั้นเป็นภาพยนตร์ที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และเป็นภาพยนตร์ประเภทใดตามที่ระบุไว้ในบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และจำเลยมีหน้าที่ต้องนำภาพยนตร์ดังกล่าวไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์หรือไม่ จึงเป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) มาตรา 161 วรรคหนึ่ง และมาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มาตรา 12 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 (เดิม) และ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

ภายหลังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาแล้ว ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 มาตรา 7 ยกเลิกความในมาตรา 56 แห่ง ป.อ. และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งตามมาตรา 56 ที่แก้ไขใหม่ เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10126/2559

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย แต่โทษจำคุกให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยวางเงื่อนไขคุมความประพฤติ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย แต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรม อันเป็นการกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) การที่จำเลยฎีกาขอให้จำเลยปรับปรุงตัวเองอยู่กับครอบครัวแทนการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรม เป็นฎีกาที่โต้แย้งดุลพินิจของศาลเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม มาตรา 180 ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 183 ประกอบมาตรา 180 และไม่มีบทบัญญัติใดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2559

แม้ ป.อ. มาตรา 74 (3) กำหนดให้ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติเด็ก ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 56 โดยมาตรา 56 (5) กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร แต่เงื่อนไขดังกล่าว ย่อมต้องเป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นคุ้มครองสังคมและฟื้นฟูตัวผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้ผู้กระทำความผิดหลาบจำไม่ก่อเหตุซ้ำอีก โดยเงื่อนไขดังกล่าวย่อมต้องเป็นไปในทำนองที่บัญญัติไว้ใน (1) (2) (3) หรือ (4) คือเป็นบทบังคับเกี่ยวกับตัวเด็กซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายในทางแพ่งก็มีกฎหมายบัญญัติไว้ต่างหากแล้ว และคดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 520,000 บาท แล้ว การกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลย โดยกำหนดให้จำเลยและผู้ปกครองเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี จึงเป็นการซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลย และเงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันไม่ให้กระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 56 (5) การที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2894/2559
ตามบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก จะเห็นได้ว่าโทษที่รอไว้ในคดีก่อนอันจะนำมาบวกกับโทษในคดีหลังนั้น ความผิดในคดีหลังจะต้องกระทำภายในระยะเวลาระหว่างรอการลงโทษตามที่คดีก่อนกำหนดไว้ เมื่อคดีก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษารอการลงโทษจำคุกจำเลยในปี 2557 แต่คดีนี้จำเลยกระทำผิดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะพิพากษาคดีดังกล่าว และก่อนมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีดังกล่าวให้จำเลยทราบ การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้จึงมิใช่กระทำภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษตามความใน ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก จะนำโทษในคดีก่อนที่รอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับคดีนี้ไม่ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 57/2557 ของศาลอุทธรณ์ภาค 2 มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2559

แม้ข้อความที่จำเลยแจ้งจะเป็นความเท็จเพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่ ภ. และจำเลยนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างเพื่อขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อพันตำรวจโท บ.เจ้าพนักงาน ธ. และ พ. เจ้าพนักงานที่ดิน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึง ภ. หรือนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างต่อ ภ. อันจะถือว่า ภ. ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย อีกทั้งจำเลยมอบให้มารดานำโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไปเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับ ภ. เท่านั้น ซึ่ง ภ. ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอากับโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย ภ. จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้หรืออ้างเอกสารราชการซึ่งแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ภ. เข้าร่วมเป็นโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อ ภ. มิใช่คู่ความในคดีจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของ ภ. จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2559

คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 56 เดือน การที่ระหว่างฎีกาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลนำคดีเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์และสันติวิธี และต่อมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าคดีมีทางตกลงกันได้โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจแก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 วางเงินต่อศาลชั้นต้น 883,357 บาท ซึ่งคิดเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดพิสูจน์ต่อศาล ชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดเพื่อบรรเทาผลร้ายแก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ด แสดงว่าจำเลยที่ 1 วางเงินจำนวนดังกล่าวโดยมีเจตนาที่จะให้โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดยอมความกับจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลชั้นต้นได้นำคดีเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์และสันติวิธี มิใช่เพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นเหตุบรรเทาโทษจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง มิได้ขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อถึงวันนัดสมานฉันท์ครั้งที่ 2 ทนายโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดแถลงว่า ไม่ประสงค์จะเจรจากับฝ่ายจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำมูลเหตุในคดีนี้ไปฟ้องโจทก์บางคนเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวม 6 คดี และหลังจากนั้นโจทก์บางคนซึ่งได้รับหมายนัดของศาลชั้นต้นที่แจ้งให้ทราบว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดและได้นำเงินวางศาลจำนวน 883,357 บาทแล้ว ก็ไม่ได้มารับเงินที่จำเลยที่ 1 วางไว้ไปจากศาลชั้นต้น จนกระทั่งศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดไม่ประสงค์ที่จะยอมความกับจำเลยที่ 1 ดังนี้ เมื่อคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยไม่มีการดำเนินการตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 แล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะขอถอนเงินที่วางต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวคืนไปได้ เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ขอถอนเงินที่วางศาลคืน ย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่จะให้เป็นไปตามเจตนาของจำเลยที่ 1 แล้วศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดมารับเงินก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 318/2559

คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แม้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยยังคงต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา การที่คดียังไม่ถึงที่สุดไม่ใช่เหตุที่จะนำมานับโทษต่อไม่ได้

จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การจากให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพในชั้นฎีกาได้ เพราะการแก้ไขคำให้การต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา แต่การยื่นคำร้องดังกล่าวถือเป็นการรับข้อเท็จจริงว่ากระทำความผิดโดยไม่โต้แย้งคำพิพากษาลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2

จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยเป็นทนายความ ทำให้โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลย เป็นการกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คำนึงถึงความเสียหายและความเดือดร้อนของผู้อื่น ไม่มีเหตุรอการลงโทษ แต่การนำเงินค่าเสียหายมาวางต่อศาลเพื่อชดใช้แก่โจทก์ เป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งคดี ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17225/2557

เมื่อจำเลยยื่นคำแถลงและวางเงินเพื่อบรรเทาผลร้ายให้แก่โจทก์ร่วมต่อศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธและขอให้การรับสารภาพ กับแถลงขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษแก่จำเลย การที่จำเลยวางเงินต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงว่าจำเลยได้พยายามบรรเทาความเสียหายอันเป็นผลที่เกิดจากจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมเพื่อประกอบดุลพินิจของศาลในการพิจารณาพิพากษา เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษารอการลงโทษให้แก่จำเลย แม้คดีจะถึงที่สุด โจทก์ร่วมก็ยังมีสิทธิขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาลเพื่อชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมได้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าไม่ประสงค์จะรับเงินค่าเสียหายที่จำเลยวางไว้ดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิมาขอรับเงินจำนวนดังกล่าวคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12387/2557

แม้จำเลยที่ 1 สั่งให้รื้อถอนบ้านของโจทก์ร่วมด้วยความระมัดระวัง ไม่เป็นเหตุให้วัสดุที่รื้อถอนเสียหาย ทั้งนำไปเก็บรักษาไว้อย่างดีเพื่อให้โจทก์ร่วมนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้บ้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์สิ้นสภาพไม่เป็นที่อยู่อาศัยอีกต่อไป อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น การที่อำเภอบุณฑริกแต่งตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนันตำบลคอแลนเป็นประธานกรรมการกลางและประธานกรรมการปกครองเพื่อประกวดหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองนั้นไม่เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมโดยพลการได้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์วัสดุที่รื้อถอนจากบ้านของโจทก์ร่วม โดยไม่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วยเป็นเรื่องข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ถือว่าเป็นข้อแตกต่างกันในรายละเอียด มิใช่ข้อสาระสำคัญตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้

ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดอันยอมความได้ การที่โจทก์ร่วมทำหนังสือร้องทุกข์มีใจความสำคัญว่า โจทก์ร่วมขอร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกที่ร่วมกันรื้อถอน ทำลายบ้านเรือน ทรัพย์สินและลักเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต แม้ไม่มีข้อความระบุให้ชัดเจนว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานใด ก็แปลเจตนาของโจทก์ร่วมได้ว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 และ 121 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมและไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยนานนับสิบปี แล้วสร้างศาลาที่พักสาธารณประโยชน์ขึ้นแทน เพื่อให้ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันตามโครงการพัฒนาหมู่บ้าน แม้เป็นความผิดต่อกฎหมายที่ไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน แต่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนัก จึงให้รอการกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 56

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments