กักกันถือเป็นโทษทางอาญาหรือไม่ ต้องห้ามฎีกาหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1455/2511
โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ คดีฟังได้ว่าจำเลยได้ร่วมกันซ่อนเร้นหรือรับทรัพย์ตามฟ้องซึ่งถูกคนร้ายลักไปบนรถยนต์ประจำทางสายร้อยเอ็ด – กรุงเทพฯ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักไป จำเลยที่ 1เคยต้องโทษจำคุกฐานลักทรัพย์มาแล้ว 2 ครั้ง ภายใน 3 ปีนับแต่พ้นโทษอันเข้าเกณฑ์เพิ่มโทษและโทษกักกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357, 83 ให้จำคุกคนละ 4 ปีเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามมาตรา 93 เป็นจำคุก 6 ปีลดโทษฐานรับสารภาพกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 3 ปี จำเลยที่ 2 ไว้ 2 ปี พ้นโทษแล้วให้ส่งจำเลยที่ 1 ไปกักกันไว้มีกำหนด5 ปี จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ลดหย่อนโทษ และขอให้งดกักกันหรือลดกำหนดเวลากักกันให้น้อยลง ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่มีเหตุควรเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นพิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะในข้อขอให้งดหรือลดหย่อนโทษกักกัน ส่วนในข้อขอให้ลดหย่อนโทษจำคุก สั่งไม่รับเพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า การกักกันไม่ใช่โทษอาญาเป็นแต่เพียงวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 39(1) ซึ่งมีลักษณะเบากว่าโทษจำคุก ฉะนั้น จะอนุโลมกำหนดเวลากักกันเป็นกำหนดโทษจำคุกหรือรวมกับโทษจำคุกเพื่อใช้สิทธิฎีกาไม่ได้ ให้ยกฎีกาจำเลย.
สรุป
การกักกันตามประมวลกฎหมายอาญาไม่ใช่โทษอาญา. แต่เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยอันมีลักษณะเบากว่าโทษจำคุก. ฉะนั้นจะอนุโลมกำหนดเวลากักกันเป็นกำหนดโทษจำคุกไม่ได้. และไม่ว่ากักกันจะมีกำหนดเวลาต่ำหรือเกินกว่า 5 ปีก็ตามย่อมเป็นอันต้องห้ามฎีกา.(ประชุมใหญ่ ครั้งที่21/2511).
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th