Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ สู้คดีพยายามฆ่า

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ สู้คดีพยายามฆ่า

21236

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2562

การที่จำเลยที่ 1 ยิงปืนเพื่อข่มขู่ผู้เสียหายเป็นการยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อันเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายอยู่ในตัว จึงเป็นการกระทำความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ซึ่งศาลจะลงโทษอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อีกสถานหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2594/2562

สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยให้การรับสารภาพและไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำเลยก็ชอบที่ยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จำเลยฎีกาแต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 194 ประกอบมาตรา 225

ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นกับความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดคนละประเภทกันและยังเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมกันโดยอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ ทั้งยังเป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับซึ่งมีองค์ประกอบแห่งความผิดแตกต่างกันและเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวทั้งเจตนาในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกันสามารถแยกเจตนาในการกระทำความผิดออกจากกันได้ แม้จำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานโดยมีเจตนาเพื่อฆ่าผู้อื่น การกระทำของจำเลยก็เป็นคนละกรรม ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 มิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน โจทก์ย่อมมีอำนาจแยกฟ้องจำเลยเป็นคนละคดีได้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยและศาลพิพากษาลงโทษ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ไปแล้ว คดีย่อมเสร็จเด็ดขาดเฉพาะกระทงความผิด ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ เท่านั้น ส่วนกระทงความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นยังหาได้มีการวินิจฉัยในเนื้อหาความผิดแต่อย่างใด จะถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดฐานนี้แล้วไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นคดีนี้ได้อีก ไม่เป็นฟ้องซ้ำ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 325/2562

ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 1,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะฎีกา กับทั้งไม่ใช่กรณีที่จะอนุญาตให้ฎีกาได้ การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาและรับฎีกาในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบ ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ย่อมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2562

การยื่นคำร้องขอค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของทายาทแต่ละคนที่จะพึงเรียกจากผู้กระทำละเมิดต่อผู้ตาย เมื่อ ศ. ซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยมีอายุ 20 ปี บริบูรณ์ และพ้นจากภาวะผู้เยาว์แล้วมิได้ยื่นคำร้องขอค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ตายที่ 3 ซึ่งเป็นบิดาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ร่วมที่ 3 ซึ่งเป็นมารดายื่นคำร้องขอค่าขาดไร้อุปการะแทนตน โจทก์ร่วมที่ 3 จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายดังกล่าวแทน ศ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8970/2561

ฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยกระทำความผิดในคดีก่อนเมื่ออายุ 14 ปีเศษและจำเลยได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้นั้น แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงสามารถหยิกยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ขณะกระทำความผิดในคดีก่อนจำเลยมีอายุ 14 ปีเศษ เมื่อความผิดที่ได้กระทำในขณะมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ไม่ถือว่าเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 94 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยจึงไม่ชอบ ประกอบกับโจทก์ฟ้องว่าจำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้วกลับมากระทำความผิด คดีนี้อีกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2548 แสดงให้เห็นว่าจำเลยพ้นโทษในคดีก่อนตั้งแต่ก่อนวันที่ 24 มีนาคม 2548 แล้ว เมื่อ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 2 บัญญัติให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป และมาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในคดีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้นเมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8882/2561

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา โดย พ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 1 ส่วน ข. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ท. และตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พ. และ ข. ผู้ตายทั้งสองได้ร่วมทำร้ายหรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาที่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกทำร้ายจำเลย แม้ผู้ตายทั้งสองจะอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเกิดความฮึกเหิมรุมทำร้ายจำเลยกับพวก หลังเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองไปกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกก็คงเป็นเพราะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน พฤติการณ์ของผู้ตายทั้งสองฟังไม่ได้ว่า ผู้ตายทั้งสองข่มเหงหรือร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยขับรถกระบะซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแรงประทะมากกว่ารถจักรยานยนต์หลายเท่าฝ่าเข้าไปหรือพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกโดยแรง แม้กระทำเพียงครั้งเดียวก็เห็นได้ว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า ทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกชนจะถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเจตนาที่จะกระทำต่อกลุ่มคนที่รุมทำร้ายจำเลย แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ผู้ตายทั้งสองโดยพลาดไป เมื่อผู้ตายทั้งสองมิได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยพลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8731/2561

คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปยังที่เกิดเหตุพร้อมกับอาวุธปืน เมื่อจำเลยที่ 2 เห็นผู้เสียหายที่บริเวณหน้าบ้านที่เกิดเหตุเข้าใจว่าเป็นพวกของ บ. จำเลยที่ 2 จึงใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นที่พกติดตัวมายิงไปที่ผู้เสียหายนั่งอยู่เพราะสำคัญผิดคิดว่าผู้เสียหายเป็นพวกของ บ. แต่จำเลยที่ 2 ก็จะยกเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวหาได้ไม่ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะกระทำต่อพวกของ บ. เช่นใด ก็ต้องรับผิดในผลของการกระทำที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายเช่นนั้นตาม ป.อ. มาตรา 61 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8261/2561

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 83 กับร่วมกันมีอาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด โดยไม่มีหมายเลขทะเบียนและมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 83 และข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนและมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7159/2561

การกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนผู้กระทำความผิดต้องได้มีเวลาคิดไตร่ตรองและทบทวนแล้วจึงตกลงใจที่จะฆ่าผู้อื่น หาใช่กรณีที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนไม่ และการจะเป็นตัวการร่วมฐานความผิดดังกล่าวจะต้องมีลักษณะมีการวางแผนและคบคิดมาแต่ต้น โดยคิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด แม้การท้าทายถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์คิดไตร่ตรองจะฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 แต่เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ปฏิเสธคำท้าทายของจำเลยที่ 3 ทางโทรศัพท์แล้ว จำเลยทั้งสามย่อมไม่สามารถเริ่มลงมือกระทำแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ตามคำท้าทายได้ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามรู้ว่าหลังจากวางสายโทรศัพท์แล้วโจทก์ร่วมที่ 2 ไปไหนหรืออยู่ที่ใด และจำเลยทั้งสามออกตามหาโจทก์ร่วมที่ 2 ต่อไปหรือไม่ กรณีจึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสามมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 ในที่เกิดเหตุโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน การที่จำเลยที่ 1 ชักอาวุธปืนออกมายิงโจทก์ร่วมที่ 2 ทันที ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางแผนจัดเตรียมของจำเลยทั้งสาม แต่เป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันทีที่ขับรถมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 โดยบังเอิญ ส่วนการตามไล่ยิงไปอย่างกระชั้นชิดจนถึงบ้านโจทก์ร่วมที่ 3 ก็ยังได้ยิงเข้าไปในบ้านอีก 1 นัด เป็นเพียงการกระทำต่อเนื่องหลังจากประสบโอกาสที่จะยิงโจทก์ร่วมที่ 2 อย่างทันทีทันใดเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4344/2561

คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพทุกข้อหาตามฟ้องโจทก์ ในระหว่างนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้อง ขอให้บวกโทษจำคุกที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้อง โดยศาลชั้นต้นไม่ได้สอบถามและโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ได้ความว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีก่อนที่โจทก์ขอให้บวกโทษ การที่ศาลชั้นต้นนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ของจำเลยจึงไม่ถูกต้อง แต่ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษจำคุกของศาลชั้นต้น โดยขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก และในชั้นฎีกาโจทก์ฎีกาขอให้นำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ โดยได้แนบคำพิพากษาในคดีก่อนที่ขอให้บวกโทษมาท้ายฎีกาด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาและส่งสำเนาให้จำเลยแก้ฎีกาแล้ว แต่จำเลยไม่ยื่นคำแก้ฎีกาภายในกำหนดคัดค้านว่าคำพิพากษาที่ขอให้บวกโทษแนบท้ายฎีกาของโจทก์ดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่อย่างใด กรณีถือได้ว่าจำเลยได้ยอมรับในข้อที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนที่ขอให้บวกโทษ และความได้ปรากฏแก่ศาลแล้ว เมื่อคดีก่อนที่ขอให้บวกโทษศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ ภายในกำหนดระยะเวลาที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน ศาลฎีกาจึงย่อมมีอำนาจนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2561

ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้” ปรากฏตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้จำเลยทราบ และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวนแล้ว จำเลยให้การว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้ตามคำให้การดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะจัดหาหรือไม่จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2561

แม้ในชั้นพิจารณาผู้เสียหาย ส. ร. และ พ. เบิกความว่าจำหน้าคนร้ายไม่ได้เพราะเกิดเหตุมานานสิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็มีคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ส. ร. และ พ. ซึ่งคำให้การดังกล่าวระบุรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องต้องกัน โดยเฉพาะผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนแต่ก็ให้การถึงรูปพรรณสัณฐานของจำเลยไว้โดยละเอียด อีกทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ร. และ พ. พนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ยากที่พนักงานสอบสวนจะปั้นแต่งขึ้นเอง แม้บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) แม้จำเลยจะไม่มีทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจของจำเลยเข้าร่วมในการสอบสวน แต่ตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยระบุว่าก่อนสอบปากคำ พนักงานสอบสวนถามจำเลยว่าต้องการพบทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ อย่างไร จำเลยตอบว่าไม่ต้องการ ดังนี้ แสดงว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิดังกล่าวให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยสละสิทธิในการมีทนายความ เมื่อคดีมีเพียงอัตราโทษจำคุกไม่ใช่มีอัตราโทษประหารชีวิต กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดหาทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2561

การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งใหม่เป็นรับฎีกาในคดีส่วนแพ่งของจำเลยที่ว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไว้พิจารณาและเมื่อสำนวนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้ร้องแก้ฎีกาก่อน โดยเห็นว่าการพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในคดีอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมาบังคับใช้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ไม้ตีจำเลยบริเวณท้ายทอยแล้วผู้ร้องเข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 โดยเข้าห้ามมิให้จำเลยใช้มีดฟันแทงผู้เสียหายที่ 1 ขณะผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 เข้าแย่งและปัดมีดจากมือจำเลย ทำให้มีดพลาดแทงถูกบริเวณท้องด้านซ้ายของผู้ร้อง มีดปักคาอยู่ พฤติการณ์แห่งคดีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแก่จำเลยด้วยการใช้ไม้ตีจำเลยที่บริเวณท้ายทอย ผู้ร้องจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ เมื่อผู้ร้องได้มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments