เจตนารมณ์ของการเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา44/1 ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไรบ้าง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8001 – 8002/2560
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตามลำดับ และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 6
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 83, 91, 288, 371 ริบของกลาง กำหนดโทษจำเลยที่ 2 ที่รอการกำหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ และเพิ่มโทษจำเลยที่ 6 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ และจำเลยที่ 6 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ระหว่างพิจารณา นางแพงมารดาของนายศราวุฒิ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพและค่าขาดรายได้หรือค่าขาดไร้อุปการะรวมเป็นเงิน 2,980,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งหกให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 83 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ให้ปรับคนละ 90 บาท คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ให้จำคุกคนละตลอดชีวิต และปรับคนละ 60 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันเกิดเหตุ (วันที่ 3 กรกฎาคม 2556) จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6
โจทก์ โจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ให้จำคุกคนละ 6 ปี ฐานฆ่าผู้อื่น ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 18 ปี ลดโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี และปรับ 60 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 ปี และปรับ 60 บาท จำเลยที่ 2 กระทำความผิดนี้ภายในระยะเวลาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดร้อยเอ็ดรอการกำหนดโทษ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 21/2556 จึงกำหนดโทษในคดีอาญาดังกล่าวบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ ขณะกระทำความผิดคดีดังกล่าวจำเลยที่ 2 อายุ 17 ปีเศษ ให้ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 40 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 20 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 ปี 6 เดือน และปรับ 80 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 6 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 (11) เป็นจำคุก จำเลยที่ 6 มีกำหนด 9 ปี ริบอาวุธมีดของกลาง ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม และยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
คดีอยู่ระหว่างฎีกา นางสาวน้ำฝนน้องสาวจำเลยที่ 1 และเป็นบุตรสาวของนายประกันยื่นคำร้องว่า นายสาคร นายประกันและเป็นบิดาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 และจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายจริง เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 1 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ในส่วนคดีอาญาเสียจากสารบบความ
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้โดยคู่ความไม่ได้โต้เถียงในชั้นฎีกาว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ นายศราวุฒิ ผู้ตายกับพวกไปชมหมอลำที่บ้านหัวดงกำแพง แล้วเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกับกลุ่มจำเลยทั้งหกที่หน้าเวทีหมอลำ นายไพฑูรย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเข้ามาห้ามและให้ทั้งสองกลุ่มแยกย้ายกัน กับให้หมอลำยุติการแสดง จากนั้นกลุ่มผู้ตายไปรออยู่ที่บริเวณสามแยกเข้าบ้านหัวดงกำแพง เมื่อรถกระบะที่จำเลยทั้งหกนั่งผ่านมา กลุ่มผู้ตายใช้ท่อนไม้ ก้อนหินขว้าง เกิดเหตุทะเลาะวิวาทกันอีก กลุ่มผู้ตายอ้างว่าจำเลยทั้งหกได้ปาระเบิดปิงปองและใช้อาวุธปืนยิงด้วยแต่ไม่ถูกผู้ใด ส่วนผู้ตายถูกทำร้ายในซอยแยกเข้าบ้านหัวดงกำแพง โดยมีบาดแผลถูกฟันที่บริเวณหูขวาลึกเห็นชิ้นส่วนของกระดูกศีรษะและล้มลง มีบาดแผลบริเวณท้ายทอยลึกถึงกระดูกและบาดแผลที่ข้อศอกขวา ผู้ตายถึงแก่ความตายในซอยที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานไปยึดอาวุธมีดที่ใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลาง จำเลยที่ 2 รับว่าใช้มีดของกลางเป็นอาวุธกวัดแกว่งเพื่อป้องกันไม่ให้พวกผู้ตายเข้ามาทำร้าย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 กระทำความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุทั้งสองกลุ่มมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันในงาน เมื่อมีคนห้ามก็แยกย้ายกันกลับ กลุ่มผู้ตายกลับมาดักรอบริเวณที่จำเลยทั้งหกจะต้องขับรถผ่านเพื่อกลับบ้าน ได้ความจากคำเบิกความของนายพงษ์สิทธิ์และนายอำนาจพยานโจทก์ตอบทนายจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ถามค้านรับว่า ขณะที่รถของจำเลยทั้งหกวิ่งผ่านมา คนในกลุ่มร้องบอกว่ามาแล้ว แล้วมีการขว้างปาทำร้ายกัน ฟังได้ว่ากลุ่มผู้ตายมาดักรอจำเลยทั้งหกเพื่อจะทำร้ายทะเลาะวิวาทกัน เมื่อจำเลยทั้งหกขับรถผ่านมีการขว้างปาระเบิดปิงปองและท่อนไม้ ก้อนหินใส่กันแล้ว จำเลยทั้งหกกลับขับรถย้อนกลับมาที่กลุ่มผู้ตายรออยู่ แล้วมีการลงจากรถวิ่งไล่ทำร้ายร่างกายกันอีก พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่ากลุ่มผู้ตายและกลุ่มจำเลยทั้งหกมีเจตนาร่วมวิวาททำร้ายกันมาแต่แรกและเป็นการสมัครใจวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า ขณะเกิดเหตุได้หยิบมีดของกลางจากในรถของจำเลยที่ 1 ไล่ฟันกลุ่มผู้ตาย ได้กวัดแกว่งมีดไม่ทราบว่าถูกผู้ใดนั้น ไม่อาจรับฟังได้เพราะตามสภาพศพผู้ตายมีบาดแผลถูกฟันที่บริเวณหูขวา ท้ายทอยและข้อศอกขวาบาดแผลทั้งลึกทั้งยาวจนเห็นชิ้นส่วนของกระดูกศีรษะและสมอง ผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยเหตุบาดเจ็บอย่างรุนแรงและเสียเลือดมาก บาดแผลดังกล่าวเกิดจากการเจตนาฟันโดยเลือกฟันในส่วนที่เป็นอวัยวะสำคัญ และฟันอย่างรุนแรงหลายครั้ง เป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่า มิใช่บาดแผลที่เกิดจากการกวัดแกว่งมีดตามที่จำเลยที่ 2 อ้าง และเมื่อฟังได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากทั้งสองฝ่ายสมัครใจวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าการกระทำของตนเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ซึ่งนั่งรถไปด้วยกันกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 และเมื่อเกิดเหตุแล้วได้หลบหนีไปด้วยกัน มีเจตนาร่วมวิวาททำร้ายผู้ตายกับพวกมาแต่แรก แม้จะฟังไม่ได้ว่าเป็นตัวการร่วมในการที่จำเลยที่ 2 ใช้มีดของกลางฟันผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่การร่วมทำร้ายดังกล่าวมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งความตายที่เกิดขึ้นด้วย จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของโจทก์ร่วมที่ว่า ผู้ตายเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมเป็นมารดาของผู้ตายมีอำนาจจัดการแทน มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ตายสมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้กับจำเลยทั้งหก ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย นางแพงมารดาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายซึ่งถูกทำร้ายถึงตาย นางแพงผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีส่วนอาญาและไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนางแพงผู้ร้องและยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในคดีส่วนอาญา ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และให้ยกฎีกาของโจทก์ร่วมในคดีส่วนอาญาที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 เสียด้วย ส่วนฎีกาของนางแพงมารดาของผู้ตายที่ว่า มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ที่จะช่วยผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายยื่นคำร้องเข้ามาในคดีอาญา การที่ผู้ตายถูกจำเลยทั้งหกร่วมกันทำร้ายจนถึงแก่ความตาย เป็นความเสียหายเพราะเหตุที่ผู้ตายได้รับอันตรายแก่ชีวิต อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งหกดังกล่าว ถือเป็นผู้เสียหายมีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้ แม้จะได้ความว่าผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยโดยสมัครใจวิวาททำร้ายกับฝ่ายจำเลย ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป นางแพงเป็นมารดาของผู้ตายและเป็นทายาทของผู้ตาย เมื่อผู้ตายถูกทำร้ายถึงตายต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายและต้องจัดงานศพจึงมีสิทธิเรียกค่าปลงศพและเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของนางแพงผู้ร้องและยกอุทธรณ์ของนางแพงในคดีส่วนแพ่ง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้น ปัญหาว่าจำเลยทั้งหกต้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางแพงผู้ร้องเพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยโดยสมัครใจวิวาททำร้ายกับจำเลยทั้งหก และเห็นว่าจำเลยทั้งหกมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าผู้ตาย เห็นควรกำหนดค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ให้แก่นางแพงผู้ร้องเป็นเงิน 1,300,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฎีกาของโจทก์ร่วมในคดีส่วนอาญา ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 1,300,000 บาท แก่นางแพงผู้ร้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันเกิดเหตุ (วันที่ 3 กรกฎาคม 2556) จนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
สรุป
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ที่จะช่วยผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายยื่นคำร้องเข้ามาในคดีอาญา การที่ผู้ตายถูกจำเลยทั้งหกร่วมกันทำร้ายจนถึงแก่ความตาย เป็นความเสียหายเพราะเหตุที่ผู้ตายได้รับอันตรายแก่ชีวิต อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งหกดังกล่าว พ. มารดาของผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้ แม้จะได้ความว่าผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยโดยสมัครใจวิวาททำร้ายกับฝ่ายจำเลย ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th