Home คดีแพ่ง ฟ้องเพิกถอนการให้ ฐานเนรคุณด่าหรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หากไม่บรรยายคำด่าในฟ้องถือเป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่

ฟ้องเพิกถอนการให้ ฐานเนรคุณด่าหรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หากไม่บรรยายคำด่าในฟ้องถือเป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่

6934

ฟ้องเพิกถอนการให้ ฐานเนรคุณด่าหรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หากไม่บรรยายคำด่าในฟ้องถือเป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2562

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 211859 และให้จำเลยทั้งสามโอนที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม

จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสามรวม 15,000 บาท

โจทก์ฎีกา โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คดีนี้พยานโจทก์ปากนายณรงค์ อยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดเหตุด้วย แม้จะมีอาการเมาสุรา แต่ไม่ถึงขนาดขาดสติ ที่จะจดจำเรื่องราวที่จำเลยที่ 1 แสดงกิริยาและใช้วาจาหยาบคายกับโจทก์ไม่ได้ แม้ว่าถ้อยคำจะมีความขัดแย้งคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงขนาดขัดกับคำเบิกความของโจทก์ ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย โดยนายณรงค์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 เดินมายืนตรงหน้าโจทก์ แล้วใช้นิ้วชี้ข้างขวาชี้ไปที่หน้าผากโจทก์แล้วพูดว่า “มึงเอาน้ำไปใช้หมดแล้ว” แล้วหันหลังกลับ เมื่อไปถึงทางเข้าบ้านยังหันกลับมาใช้นิ้วชี้ไปที่พื้นดิน แล้วมองมาทางโจทก์พร้อมทั้งพูดว่า “มึงรู้มั้ยที่ใคร” และพยานโจทก์ปากนางปฏิมา ก็มิได้เบิกความขัดกับโจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพราะพยานยืนยันว่า ได้ยินเสียงคนทะเลาะกัน ส่วนจะพูดโต้เถียงกันอย่างไรพยานไม่ได้ยินในรายละเอียด คำเบิกความของโจทก์และพยานโจทก์จึงมีความสอดคล้องเชื่อมโยง และมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานจำเลยทั้งสาม ไม่มีข้อพิรุธ ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็รับว่ามีการโต้เถียงกันจริง แต่ที่จำเลยที่ 1 กล่าวว่า “มึงรู้ไหมว่า ที่นี่เป็นที่ดินของใคร” นั้นเป็นการกล่าวต่อนายณรงค์มิใช่กล่าวต่อโจทก์ อีกทั้งช่วงเกิดเหตุ โจทก์มาพักอาศัยอยู่กับนางสาวประภาพรรณ แล้ว ไม่ได้อยู่กับจำเลยที่ 1 คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่ว่าโจทก์นอนพักอยู่กับจำเลยที่ 2 ผู้เป็นหลานยาย จึงไม่เป็นความจริงนั้น เมื่อได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์อ้างเหตุเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณมา 2 เหตุ คือ จำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรงกับไม่ให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ซึ่งเป็นผู้สูงวัยและมีโรคประจำตัว ทั้งที่จำเลยที่ 1 มีเงินและทรัพย์สินพอที่จะให้ได้ ซึ่งกรณีจะเข้าเหตุจำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (2) หรือไม่นั้น โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งเป็นมารดาอย่างร้ายแรง โดยใช้นิ้วชี้ที่หน้าผากโจทก์พร้อมกล่าวว่า “มึงรู้ไหมว่าที่มึงอยู่ทุกวันนี้เป็นที่ของใคร” ซึ่งเป็นการกล่าวต่อหน้าธารกำนัล เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความอับอาย ความข้อนี้ โจทก์มีนายณรงค์ บุตรชายคนสุดท้องของโจทก์มาเบิกความว่าก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุดังกล่าวนี้ โจทก์ย้ายมาพักอยู่กับนางประภาพรรณ บุตรสาวอีกคนหนึ่งซึ่งมีบ้านใกล้กันแล้ว พยานได้ยินโจทก์บ่นว่าน้ำที่รองไว้ใช้ถูกจำเลยที่ 1 นำไปใช้หมด พยานจึงบอกโจทก์ว่าจะไปขนน้ำมาให้ใช้เอง ต่อมาน้ำที่พยานขนมาหายไป พยานจึงต่อว่าจำเลยที่ 1 ว่าไปเอาน้ำของโจทก์มาใช้ทำไม แล้วจำเลยที่ 1 ก็เดินมายืนตรงหน้าโจทก์ แล้วใช้นิ้วชี้ข้างขวาชี้ไปที่หน้าผากของโจทก์และพูดว่า “มึงเอาน้ำไปใช้หมดแล้ว” จากนั้นก็เดินหันหลังกลับ เมื่อถึงทางเข้าบ้านจำเลยที่ 1 ได้หันกลับมาใช้นิ้วชี้ไปที่พื้นดินแล้วมองมาทางโจทก์พร้อมพูดว่า “มึงรู้มั้ยที่ใคร” ซึ่งสถานที่เกิดเหตุ และพยานเคยได้ยินโจทก์บ่นให้ฟังว่า จำเลยที่ 1 ไม่ค่อยมาดูแลโจทก์ นอกจากนี้โจทก์นำนางปฏิมา เพื่อนบ้านมาเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุพยานเห็นจำเลยที่ 2 ยืนโต้เถียงกับโจทก์เกี่ยวกับเรื่องที่ดิน ซึ่งพยานก็ไม่ได้ยินรายละเอียด แต่ลักษณะของจำเลยที่ 2 ยืนชี้หน้าโจทก์ในทำนองว่า ทำอย่างนี้กับยุ้ย (ชื่อเล่นจำเลยที่ 2) ได้อย่างไร หลังจากนั้นพยานก็เข้าบ้านไม่เห็นเหตุการณ์อีก แต่พยานเคยเห็นจำเลยที่ 1 เอาน้ำในโอ่งของนางประภาพรรณไปใช้จนนางประภาพรรณต้องทำรั้วกั้นไม่ให้จำเลยที่ 1 มาเอาน้ำไปใช้ และเรื่องน้ำเป็นสาเหตุที่จำเลยที่ 1 กับนางประภาพรรณทะเลาะกัน โดยโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น เห็นว่า พยานปากนี้จึงไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ชี้หน้าผากโจทก์และพูดว่า “มึงรู้ไหมว่าที่มึงอยู่ทุกวันนี้เป็นที่ของใคร” พยานจึงมิใช่ประจักษ์พยานในส่วนนี้ คงมีตัวโจทก์และนายณรงค์ที่เบิกความเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ในชั้นตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสามโจทก์เบิกความว่า โจทก์ไม่เคยทะเลาะกับจำเลยที่ 1 และที่จำเลยที่ 1 พูดว่า “มึงรู้ไหมว่าที่ดินนี้เป็นของใคร” จำเลยที่ 1 พูดใส่หน้านายณรงค์ และขณะที่จำเลยที่ 1 ชี้หน้าโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ยืนห่างจากโจทก์ประมาณ 1 เมตร และนางประภาพรรณเป็นคนที่มาขอให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ส่วนนายณรงค์ตอบคำถามค้านว่า จำเลยที่ 1 เดินมาชี้เกือบติดหน้าผากของโจทก์ ขณะที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ไม่เคยกล่าวข้อความว่า “มึงรู้ไหมว่าที่นี้เป็นของใคร” ต่อโจทก์ แต่เคยกล่าวข้อความนี้ครั้งหนึ่งต่อนายณรงค์ เนื่องจากพยานมีสาเหตุทะเลาะวิวาทกับนายณรงค์ ขณะนั้นนายณรงค์มีอาการเมาสุรา และพกมีดดาบเข้ามาในที่ดินพิพาท และชวนทะเลาะกับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องการใช้น้ำของโจทก์ซึ่งขณะทะเลาะโจทก์ก็นั่งอยู่ที่ศาลาไม่ได้มายุ่งเกี่ยว ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์จากคำเบิกความพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามประกอบกันแล้ว เห็นได้ว่า สาเหตุที่มาของเรื่องการกล่าวข้อความนี้น่าจะเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กับนายณรงค์ทะเลาะกันในเรื่องที่นายณรงค์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 เอาน้ำที่นายณรงค์หามาให้โจทก์ไปใช้ โดยไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้เข้าไปร่วมโต้เถียงกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะไปพูดต่อว่าโจทก์เช่นนั้นทั้งโจทก์เองเบิกความรับว่า คำกล่าวที่ว่า “มึงรู้ไหมว่าที่ดินนี้เป็นของใคร” เป็นการพูดใส่หน้านายณรงค์ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงยังไม่มีน้ำหนักพอฟังว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้นิ้วชี้ไปที่หน้าผากโจทก์แล้วพูดว่า “มึงรู้ไหมว่าที่ดินนี้เป็นของใคร” อันจะเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (2) ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ยังมีระบุอีกว่า จำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคายอีกหลายครั้ง ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์ว่า “อีเหี้ย” และ “มึงเอาน้ำกูไปใช้กี่ครั้งแล้ว” จึงถือว่าเป็นถ้อยคำที่โจทก์ได้บรรยายในคำฟ้องแล้ว และถือว่าเป็นการบรรยายฟ้องครบถ้วนองค์ประกอบของกฎหมายแล้ว ส่วนรายละเอียดถ้อยคำหมิ่นประมาทเป็นเพียงพลความโจทก์สามารถนำสืบถึงและอธิบายเพิ่มเติมในชั้นพิจารณาได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบ นั้น ข้อนี้ เห็นว่า กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (2) เป็นการเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณด้วยการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรงนั้น มีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องระบุมาในคำฟ้องให้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับกล่าวถ้อยคำอย่างไร เมื่อใด กับใคร เพื่อเป็นข้อที่จะให้ศาลพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้หรือไม่ ลำพังแต่การบรรยายว่า จำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคายอีกหลายครั้ง โดยไม่มีรายละเอียดว่า ด่าว่าอย่างไร เหตุเกิดเมื่อใด ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ให้การต่อสู้ว่า ฟ้องในส่วนนี้เคลือบคลุม แม้โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์ว่า “อีเหี้ย” และกล่าวว่า “มึงเอาน้ำกูไปใช้กี่ครั้งแล้ว” แต่ตามคำเบิกความของโจทก์ก็ปรากฏว่า โจทก์จำวันเวลาเกิดเหตุไม่ได้ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่แจ้งชัดและไม่ใช่เรื่องที่โจทก์จะไปนำสืบในรายละเอียดได้ ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเคลือบคลุมและเมื่อฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ด่าว่า โจทก์ว่า “อีเหี้ย” คำนี้จึงไม่เป็นประเด็นพิพาทที่โจทก์จะนำสืบได้ จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามมิให้รับฟัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (1) และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็วินิจฉัยว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่รับวินิจฉัยให้นั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับคำฟ้องในส่วนที่ไม่สมบูรณ์ และทางนำสืบที่มิได้กล่าวมาในฟ้องเป็นการชอบแล้ว ฎีกาในส่วนนี้ของโจทก์เกี่ยวกับการเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรงฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการต่อมามีว่า โจทก์จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (3) ได้หรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์แล้ว ได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 ไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งที่จำเลยที่ 1 มีเงินและทรัพย์สินพอที่จะสามารถเลี้ยงดูโจทก์ได้ และโจทก์เป็นผู้สูงวัย มีโรคประจำตัวหลายโรค ได้แก่ โรคความดัน โรคหัวใจ ไขมันอุดตัน และโรคเครียด แต่จำเลยที่ 1 ไม่เคยดูแลเอาใจใส่ ทั้งไม่เคยพาโจทก์ไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ ไม่ยอมให้ใช้ห้องน้ำโดยปิดล็อคประตูห้องน้ำ ทำให้โจทก์ต้องออกมาปัสสาวะนอกบ้าน ไม่ให้ใช้ตู้เย็นโดยเอาสิ่งของของโจทก์ออกจากตู้เย็น นอกจากนี้จำเลยที่ 1 เคยให้เงินโจทก์ใช้เป็นรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท แต่ต่อมาไม่ให้อีก อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติตนไม่เหมาะสมในการเป็นบุตรที่ดีของมารดาเท่านั้น แต่หาได้ความครบตามเงื่อนไขแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (3) ที่ว่า จำเลยที่ 1 ได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้และจำเลยที่ 1 ยังจะสามารถให้ได้แต่อย่างใด ทั้งข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาก็ไม่ได้ความว่า โจทก์เคยขอและจำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้และจำเลยที่ 1 ยังสามารถจะให้ได้ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า กรณีไม่เข้าเหตุที่จะเรียกถอนคืนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (3) นั้น จึงชอบแล้ว ฎีกาในข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

สำหรับปัญหาในเรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลในการโอนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณได้ ที่ดินจึงยังเป็นของจำเลยที่ 1 อยู่ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิโอนให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนโดยอ้างเหตุฉ้อฉลได้ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) เป็นการเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณด้วยการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรงนั้น มีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องระบุมาในคำฟ้องให้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับกล่าวถ้อยคำอย่างไร เมื่อใด ต่อใคร เพื่อเป็นข้อที่จะให้ศาลพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้หรือไม่ ลำพังแต่การบรรยายว่าจำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคายอีกหลายครั้ง โดยไม่มีรายละเอียดว่า ด่าว่าอย่างไร เหตุเกิดเมื่อใด ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ให้การต่อสู้ว่า ฟ้องในส่วนนี้เคลือบคลุม แม้โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์ว่า “อีเหี้ย” และกล่าวว่า “มึงเอาน้ำกูไปใช้กี่ครั้งแล้ว” แต่ตามคำเบิกความของโจทก์ก็ปรากฏว่า โจทก์จำวันเวลาเกิดเหตุไม่ได้ ดังนี้ คำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่แจ้งชัด และไม่ใช่เรื่องที่โจทก์จะไปนำสืบในรายละเอียดได้ ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเคลือบคลุม และเมื่อฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ว่า “อีเหี้ย” คำนี้จึงไม่เป็นประเด็นพิพาทที่โจทก์จะนำสืบได้ จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามมิให้รับฟัง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1)

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา 

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments